สจล. รุก พลิกโฉม ก้าวสู่ “โมเดิลเวิดล์” โชว์ 5 วิทยาลัยที่โลกยุคใหม่ต้องการในปี 60

ข่าวทั่วไป Wednesday March 29, 2017 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ · 'สุชัชวีร์' ปลื้ม สจล. ขยับแรงค์กิ้งติด TOP 200 ของเอเชีย พร้อมตั้งเป้าก้าวขึ้นสู่ เบอร์ 1มหาวิทยาลัยด้าน "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ในอาเซียน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยิ้มรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2017 โดย Times Higher Education (THE) หลัง สจล. ขยับอันดับติด Top 200 ของเอเชีย เร่งวางหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่อันดับ 1 สถาบันการศึกษาด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน พร้อมโชว์ 5 วิทยาลัยที่โลกยุคใหม่ต้องการ ได้แก่ 1. วิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering - SESE) 2. วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (International Academy of Aviation Industry - IAAI) 3. วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติ 4. สำนักวิศวกรรมสังคีต (Institute of Music Science and Engineering - IMSE) และ 5. โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (King Mongkut's International Demonstration School - KMIDS) ผนึกกำลังปั้นทักษะบัณฑิตไทยยุคใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ สอดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศชาติ โดยในส่วนของ สจล. นั้น ปัจจุบันแม้จะเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ และถือเป็นหนึ่งในผู้นำการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุด สจล. ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2017 โดยTimes Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จากประเทศอังกฤษ โดยติด Top 200 ในเอเชีย และอันดับ Top 5 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในการมุ่งสร้างทักษะใหม่ๆ แก่นักศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถสอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์การก้าวขึ้นสู่ผู้นำการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศอาเซียน สจล. ได้เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง โดยนำเอาจุดเด่นของสถาบันในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนวกเข้ากับความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสู่การเป็น "สหวิทยาการ" ให้มากที่สุด อันเป็นการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ข้ามสาขาหรือข้ามคณะ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ได้บัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในหลายมิติ เช่น การมุ่งเน้นให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทำงานร่วมกัน เพื่อนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ไม่เพียงเท่านั้นสถาบันยังได้จัดตั้งวิทยาลัยและหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อสร้างทักษะที่ต้องการในโลกยุคใหม่ ได้แก่ · วิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering - SESE) โครงการจัดตั้ง SESE เกิดขึ้นเพราะปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ และพลังงาน ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาข้างต้นในด้านต่างๆ รวมไปถึงสามารถพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่กับการนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลด้านภัยธรรมชาติและบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต สามารถทำงานได้ทั้งในบริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ โดยหลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรบัณฑิตศึกษาประกาศนียบัตร จะเริ่มเปิดสอนในปี 2561 ทั้งนี้ สจล. ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ อาทิ MIT, USA, National Space Science Center ประเทศจีน, กรมฝนหลวง เกี่ยวกับ "การเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ", สกว. ในการจัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรับรู้ระยะไกลและพยากรณ์อากาศและภูมิภาค" เป็นต้น · วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (International Academy of Aviation Industry - IAAI) การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการนักบินและบุคลากร ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรการบินสูงขึ้น การจัดตั้ง IAAI จึงเปิดสอนทั้งในหลักสูตรระยะสั้นไปจนถึงหลักสูตรบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการผลิตบุคลากร ด้านอุตสาหกรรมการบินของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติแล้ว ในขณะเดียวกันยังถือเป็นการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต การซ่อม และบำรุงอากาศยานในภูมิภาคด้วย โดยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมกัน "พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลอากาศยาน", สมาคมนักบินไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ "ในการพัฒนาศักยภาพนักบิน", กองทัพอากาศ ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น · วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติ (International Medical College, KMITL) การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทย การผลิตแพทย์ที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตนั้น นอกจากมีความรู้และเชี่ยวชาญในการรักษาโรคแล้ว ยังจำเป็นต้องมีทักษะด้านการวิจัยและความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี รวมไปถึงความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ที่ผ่านมา สจล. เป็นหนึ่งในมหาวิทยลัยที่มีความพร้อม ในการจัดการเรียนการสอนและวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีการสอนด้านวิศวกรรมชีวะการแพทย์มากว่า 30 ปี แต่ยังขาดสายวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือแพทย์ ดังนั้น การนำเอาจุดแข็งที่มีอยู่แล้วผสานกับการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติ เพื่อสร้าง "แพทย์นวัตกรรม" จึงถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการศึกษาไทย แพทย์ที่มีความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี จะไม่ใช่แค่วินิจฉัยโรคและรักษาคนไข้ได้เท่านั้น แต่สามารถพัฒนาและผลิตเครื่องมือในการรักษาได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคตจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท โดยในระยะแรกนักเรียนแพทย์ระดับชั้นคลินิกจะใช้โรงพยาบาลเครือข่ายในการเรียนและฝึกปฏิบัติ ส่วนในอนาคตจะมีการสร้างโรงพยาบาลของสถาบันเพื่อใช้เป็นที่จัดการเรียนการสอนและเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปด้วย · สำนักวิศวกรรมสังคีต (Institute of Music Science and Engineering - IMSE) ในปี 2557 สจล. เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ณ เวลานี้ โดยขณะที่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทย เติบโตและมีบทบาทสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ทำรายมากถึงปีละกว่า 35,000 ล้านบาท ด้วยความสามารถและศักยภาพของประเทศชาติ หากมีการพัฒนาอย่างตรงจุดซึ่งรวมไปถึงเรียนการสอน ที่พัฒนาความสามารถบุคลากรในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง จะสามารถรองรับการเติบโตของตลาดและผลักดันไทยให้ก้าวสู่การเป็น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมบันเทิงแห่งอาเซียน" ได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมดนตรีและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ในอนาคตอันใกล้ สจล. มีแผนจัดตั้ง IMSE ขึ้น เพื่อหนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย โดยเป็นศูนย์กลางในการนำเทคโนโลยีและความรู้ทางวิศวกรรมเข้ามาประยุกต์ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทั้งในด้านการผลิตผลงานเพลง จัดคอนเสิร์ต และงานมหกรรมต่างๆ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างที่ต้องนำความรู้ด้านเสียงเข้ามาร่วมออกแบบ เป็นต้น · โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (King Mongkut's International Demonstration School - KMIDS) การพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างทักษะแห่งโลกอนาคตจะได้ผลดีที่สุด คือการปลูกฝั่งแนวคิดและพฤติกรรมการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก การตั้ง KMIDS ขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดวิทยาลัยวิจัยนวัตกรรมการศึกษาของ สจล. โดยวางหลักสูตรเป็นโรงเรียนสาธิตนานาชาติแห่งแรกของไทยที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อมุ่งให้นักเรียนมีทักษะเป็นนักสร้างและพัฒนานวัตกรรม รวมไปถึงการเน้นให้มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ พร้อมบูรณาการวิชาภาษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เสริมด้วยศิลปะและกีฬา ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการเติบโตขึ้นสู่การเป็นนักศึกษาของ สจล. ที่มีความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และการแพทย์ ตามพื้นฐานความชื่นชอบของแต่ละคน ซึ่งตามแผนจะเปิดสอนเทอมแรกประมาณกลางเดือน ส.ค. ปีการศึกษา 2560 โดยเปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา Grade 7 (ม.1) และ Grade 10 (ม.4) จากนั้นจึงจะขยายเปิดรับระดับประถมศึกษาและปฐมวัยต่อไปในอนาคต "การเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเป็นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการผลักดัน สจล.ก้าวสู่การเป็นผู้นำสถาบันการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย และอันดับ 1 ของอาเซียนเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ และความสามารถของเด็กไทยให้ทัดเทียมนานาชาติด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศท่ามกลางความท้าทายในด้านต่างๆ คือความก้าวหน้าของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะต้องเผชิญกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี รวมไปสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาคอร์รัปชั่น แต่เกาหลีใต้ยังสามารถพัฒนาประเทศและก้าวขึ้นสู่ ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกอันดับ 6 ของโลก ขณะที่การจัดอันดับมหาวิทยาชั้นนำของเอเชียครั้งล่าสุด มหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ติดอันดับ 1 ใน 10 ถึง 3 แห่ง ขณะที่ญี่ปุ่นติดเพียง 1 แห่งเท่านั้น ดังนั้น แนวทางการพัฒนาประเทศและระบบการศึกษาไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมกันวางรูปแบบ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คนไทยสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่www.kmitl.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ