พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 20 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข่าวทั่วไป Monday November 20, 2017 15:09 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 139/60

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศจะเย็นลง ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย.ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงได้อีก 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้ตั้งแต่จ.สุราษฎร์ธานีลงไปจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 20-26 พ.ย. บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร เกษตรกร ชาวเรือและชาวประมงควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. อากาศเย็น ในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 23-26 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้ผลผลิตเปียกชื้นเสียหายได้
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หากพบสัตว์ที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มและรีบรักษาเพื่อไม่ให้ เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ

ภาคตวันออกะเฉียงเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส และอากาศเย็น โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 23-26 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
  • ปลาในกระชัง สภาพอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้ปลากินอาหารได้น้อยเกษตรกรควรลดปริมาณอาหารลง เพราะอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย และควรลดจำนวนปลาในกระชังไม่ให้อยู่อย่างแออัดเกินไป เพราะจะทำให้เบียดเสียดกันจนเกิดเป็นแผล และติดเชื้อโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 23-26 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และใช้น้ำน้อย เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อยลงในช่วงฤดูหนาว
  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนตกในบางวัน เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในวันที่ 23-26 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงอุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร ในระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ไม้ผล สำหรับชาวสวนควรป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนเจาะลำต้นในทุเรียน หนอนชอนใบในมังคุด และหนอนชอนเปลือกลำต้น ในลองกอง เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะ ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. และช่วงวันที่ 23-26 พ.ย.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร ในระยะนี้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนัก บางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืช ตายได้
  • พืชสวน ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศ มีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา และโรคราสีชมพูในลองกอง เป็นต้น
  • ชาวเรือและชาวประมง ในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณ อ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2560

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ในช่วงวันที่ 1-19 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. โดยภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 50-600 มม. เว้นแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-600 มม. ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 10-150 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยภาคเหนือทางด้านตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางด้านตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่น

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-30) มม. เว้นแต่บริเวณภาคกลางมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-40 มม. สำหรับในภาคใต้มีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-100 มม. โดยภาคใต้ตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสมสูงสุด 70-100 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส และในช่วง 23-26 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลงได้อีก 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสมและดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงให้สมบูรณ์แข็งแรง ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นตลอดสัปดาห์และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำขังได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักชนิดต่างๆ

รายงานลักษณะอากาศในระยะ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2560 บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดสัปดาห์ โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ นอกจากนี้ลมตะวันออกพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 พ.ย. ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นส่วนมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีฝนส่วนมากในภาคกลางและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมอ่าวไทยและประเทศมาเลเซียในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ นอกจากนี้ในระยะปลายสัปดาห์พายุโซนร้อน "คีโรกี (KIROGI,1725) " บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้เคลื่อนตัวค่อนไปทางทิศตะวันตกแล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองโฮจิมินท์ ประเทศเวียดนามในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 16 พ.ย. มีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภู มีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 และ 19 พ.ย. มีฝนร้อยละ 40-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนัก บางแห่ง ภาคกลาง มีอากาศเย็นบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค โดยมีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 14, 17 และ 18 พ.ย. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยมีฝน น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 13 และ 19 มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 13 ,14และ 16 พ.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 13, 17 และ 18 พ.ย. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดพัทลุง สงขลา และนราธิวาส ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนักได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี กระบี่ และสตูล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ