เอแบคโพลล์: ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะผู้แทนไทยกรณีปราสาทพระวิหาร

ข่าวผลสำรวจ Monday April 22, 2013 07:46 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะผู้แทนไทยกรณีปราสาทพระวิหาร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,165 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 97.0 รับรู้รับทราบข่าวกรณีปราสาทพระวิหาร

จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือร้อยละ 61.3 มีความเชื่อมั่นต่อคณะผู้แทนไทยต่อการแถลงการณ์กรณีปราสาทพระวิหารในครั้งนี้ ในขณะที่ร้อยละ 33.1 รู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 5.6 ระบุไม่เชื่อมั่น

ที่น่าสนใจคือเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายการทูตและฝ่ายการเมืองในกรณีปราสาทพระวิหารนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 65.6 ระบุมีความพึงพอใจในเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูต อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อฝ่ายการเมืองนั้นพบว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 42.6 มีความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมือง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงพบว่าตัวอย่างประชาชนที่ถูกศึกษาจำนวนมากหรือร้อยละ 80.0 รู้สึกผิดหวังมาก-มากที่สุด หากประเทศไทยจะต้องเสียพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชา ในขณะที่ ร้อยละ 13.4 ระบุปานกลาง และร้อยละ 6.6 ระบุรู้สึกผิดหวังน้อย-น้อยที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มตัวอย่างประมาณกึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.7 รู้สึกผิดหวังต่อฝ่ายการเมืองที่ยังคงมีการออกมาโจมตีกันไปมาให้ประชาชนเห็นตามหน้าสื่อต่างๆ โดยกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วทั้งประเทศแล้วก็ควรแสดงความเป็นผู้นำที่เสียสละ ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหา สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่าจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติมพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความกังวลต่อกรณีปราสาทพระวิหารเพราะไม่อยากเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้แก่กัมพูชาไปอีก ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบต่อจิตใจและศักดิ์ศรีของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลากือบทั้งชีวิตของพวกเขา รวมทั้งยังกังวลว่าหากการเจรจาและการตัดสินในครั้งนี้ไม่ยุติลงด้วยดีอาจเป็นเหตุก่อให้เกิดสงครามชายแดนระหว่างไทย—กัมพูชาหรือการสู้รบกันเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นก็จะไปตกอยู่กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่พักอาศัยอยู่บริเวณนั้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังระบุเพิ่มเติมอีกว่ารู้สึกประทับใจ ชื่นชม และขอปรบมือให้ต่อการทำหน้าที่ของคณะผู้แทนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างดี แต่ยังคงมีความรู้สึกผิดหวังต่อฝ่ายการเมืองที่ยังคงมีการออกมาโจมตีกันไปมาแทนที่จะหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าประชาชนโดยส่วนยังคงมีความหวังและมีความเชื่อมั่นต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายการเมืองว่า ในที่สุดแล้วนักการเมืองคงจะไม่นึกถึงแต่ประโยชน์ของพวกพ้องตนเองเท่านั้น แต่จะต้องนึกถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติเป็นหลัก และอยากเห็นการนำเสนอข่าวผลการดำเนินงานที่โปร่งใส ไม่แต่งเติมสีจากฝ่ายการเมือง เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่นับวันมีแต่จะสร้างความหดหู่ให้แก่ประชาชน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 44.4 เป็นชาย ร้อยละ 55.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 24.1 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.1 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 26.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 73.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นต่อคณะผู้แทนประเทศไทยในการแถลงการณ์ต่อศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร

(ตัวอย่างที่ติดตามข่าว)

ลำดับที่          ความเชื่อมั่นต่อคณะผู้แทนประเทศไทยในการแถลงการณ์ต่อศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร    ค่าร้อยละ
1          มีความเชื่อมั่น                                                                61.3
2          เฉยๆ                                                                      33.1
3          ไม่มีความเชื่อมั่น                                                               5.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 2    แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความพึงพอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตในกรณีปราสาทพระวิหาร

(ตัวอย่างที่ติดตามข่าว)

ลำดับที่          ความพึงพอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตในกรณีปราสาทพระวิหาร          ค่าร้อยละ
1          พึงพอใจ                                                                 65.6
2          เฉยๆ                                                                   29.8
3          ไม่พึงพอใจ                                                                4.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                100.0

ตารางที่ 3    แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองในกรณีปราสาทพระวิหาร  (ตัวอย่างที่ติดตามข่าว)
ลำดับที่          ความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองในกรณีปราสาทพระวิหาร          ค่าร้อยละ
1          พึงพอใจ                                                              42.6
2          เฉยๆ                                                                38.8
3          ไม่พึงพอใจ                                                            18.6
          รวมทั้งสิ้น                                                             100.0

ตารางที่ 4   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความผิดหวังหากประเทศไทยต้องเสียดินแดนบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร  (ตัวอย่างที่ติดตามข่าว)
ลำดับที่          ความผิดหวังหากประเทศไทยต้องเสียดินแดนบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร         ค่าร้อยละ
1          ผิดหวัง มาก-มากที่สุด                                                    80.0
2          ปานกลาง                                                             13.4
3          น้อย-น้อยที่สุด                                                           6.6
          รวมทั้งสิ้น                                                             100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกต่อการฝ่ายเมืองที่มีการโจมตีกันไปมากรณีปราสาทพระวิหาร (ตัวอย่างที่ติดตามข่าว)
ลำดับที่          ความรู้สึกต่อการฝ่ายเมืองที่มีการโจมตีกันไปมากรณีปราสาทพระวิหาร          ค่าร้อยละ
1          รู้สึกผิดหวัง                                                         49.7
2          ไม่รู้สึกผิดหวัง                                                       26.3
3          ไม่มีความเห็น                                                       24.0
          รวมทั้งสิ้น                                                          100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ