เอยูโพล: ดัชนีความเครียดของคนไทย ไตรมาส 3 กรณีศึกษา: ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา

ข่าวผลสำรวจ Friday November 23, 2018 10:06 —เอแบคโพลล์

สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 3 กรณีศึกษา: ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,003 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่า

ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 58.61 เป็นหญิง และร้อยละ 41.39 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นเจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 7.39 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) ร้อยละ 12.13 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) ร้อยละ 21.27 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-35 ปี) ร้อยละ 30.05 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) และร้อยละ 29.16 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี) ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 56.86 สมรสแล้ว ร้อยละ 34.60 เป็นโสด ในขณะที่ร้อยละ 5.14 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.40 ไม่ระบุ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมา ชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.27 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 39.64 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 5.74 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี และ ร้อยละ 0.35 ไม่ระบุ ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 26.26 มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 38.09 มีรายได้ 10,001-20,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 21.12 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 13.48 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท และร้อยละ 1.05 ไม่ระบุรายได้ สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 18.42 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 16.43 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.33 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 13.58 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 10.33 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 9.14 ประกอบธุรกิจส่วนตัว และร้อยละ 15.77 ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อบ้านแม่บ้าน เกษตรกร เกษียณอายุ ว่างงาน พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น

คนไทยความเครียดลดลง ... แต่ส่วนใหญ่ยังเครียดเรื่องเศรษฐกิจเหมือนเดิม ...

ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ ในภาพรวมพบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ (ร้อยละ 67.45) รองลงมา คือ เรื่องครอบครัว (ร้อยละ 51.07) และเรื่องการงาน (ร้อยละ 44.64) เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับความเครียดของคนไทยในการสำรวจครั้งนี้ลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัยก็พบว่า คนไทยในช่วงวัยทำงานจนถึงวัยชรา (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ต่างก็มีความเครียด ในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน แม้ว่ารายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้จะเติบโตตามเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายในประเทศและรายได้ ครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว แต่ความเครียดของคนไทยส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ก็ยังมีสูงอยู่ จึงยังคงมีความขัดแย้งระหว่างรายงานภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ประกาศออก มาดีกับความเครียดของคนในสังคมที่กังวลต่อสภาพเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาสินค้า และบริการที่แพงขึ้น (ร้อยละ 57.70) ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (ร้อยละ 47.66) ปัญหาหนี้สินและรายรับไม่พอกับรายจ่าย (ร้อยละ 46.47) ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่จ รู้สึกเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เห็นว่า ความเครียดในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่เริ่มที่จะปรับตัวและ สามารถรับมือกับความเครียดในเรื่องนี้ได้ดีขึ้น

ความเครียดเรื่องปัญหาครอบครัวและหน้าที่การงานตามมาติดๆ ...

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินแล้ว รองลงมา คนไทยส่วนใหญ่ยังเครียดเรื่องในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว (ร้อยละ 37.44) ภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัว (ร้อยละ 28.80) และไม่มีเวลาให้ครอบครัว (ร้อยละ 27.31) เป็นต้น ส่วนความเครียดในเรื่องการงานที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น (ร้อยละ 39.42) สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ยังไม่เพียงพอ (ร้อยละ 35.49) และความ กังวลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ (ร้อยละ 26.47) เป็นต้น ส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียดโดยภาพรวมมากยิ่งขึ้น

ประหยัดและพอเพียง เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ...

จากผลการสำรวจพบว่า แนวทางแก้ปัญหาเพื่อลดความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจ/การเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งตนเอง โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (ร้อยละ 55.83) หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น (ร้อยละ 14.46) ปล่อยวางทำใจยอมรับความ เป็นจริงและมีสติ (ร้อยละ 9.74) เป็นต้น

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจจะเห็นว่า ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมืองและการแบ่งพรรคแบ่งพวก และปัญหาการจราจร เป็นต้น ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงของการที่พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มที่จะหาเสียงและ แสดงจุดยืนทางการเมือง รวมทั้งประกาศนโยบายที่จะใช้เป็นแนวทางในการทำงานของพรรค หากสามารถนำปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นแนวนโยบาย ของพรรค เพื่อช่วยให้คนไทยมีความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลง ไม่แน่ว่าจะได้รับความนิยมจากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้นก็เป็นได้

โปรดพิจารณารายละเอียดดังต่อไปนี้
ตารางที่ 1 ค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเครียดในแต่ละด้าน จำแนกตาม Generation
ลำดับที่   ความเครียด                                    Generation                           ภาพรวม
                                Gen Z       Gen M       Gen Y       Gen X       Gen B
  1     เศรษฐกิจ/การเงิน          58.11       67.08       73.47       71.59       61.30      67.45
  2     ครอบครัว                 52.03       55.97       55.87       51.50       44.86      51.07
  3     เพื่อน                    40.54       37.45       26.53       24.75       21.75      26.96
  4     ความรัก (แฟน/คนรัก)       36.49       40.33       37.32       25.58       20.55      29.21
  5     การงาน                      -       47.74       54.93       49.50       30.82      44.64
  6     สุขภาพ                   29.73       37.04       35.92       42.52       56.85      43.68
  7     การเรียน                 64.19        42.8       15.26           -           -      32.31
  8     การเมือง                 19.59       24.28       24.65       22.76       21.23      22.67
  9     สภาพแวดล้อม              41.22       49.79        50.7       43.52       40.07      44.63
  10    ตัวเอง                   37.84       34.16       28.64       23.09       19.86      25.76

ตารางที่ 2 ค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระดับความรู้สึกต่างๆ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่   ความรู้สึก                           ระดับความรู้สึก             รวมทั้งสิ้น

บ่อยๆ เป็นครั้งคราว ไม่รู้สึกเลย

  1    ไม่มีความสุขเลย              9.04        48.08       42.88     100.00
  2    รู้สึกเบื่อหน่าย               14.18        51.12       34.70     100.00
  3    ไม่อยากพบปะผู้คน             5.60        30.70       63.70     100.00
  4    รู้สึกหมดกำลังใจ              6.54        33.90       59.56     100.00
  5    รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า           3.15        21.36       75.49     100.00

เอยูโพลมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

โทร. 0-2723-2163-8

--เอยูโพล--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ