สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทย ไตรมาส 4/2562 กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,004 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา พบว่า
ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 58.68 เป็นหญิง และร้อยละ 41.32 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นช่วงอายุ พบว่า ร้อยละ 7.04 มีอายุ 15-18 ปี ร้อยละ 13.07 มีอายุ 19-24 ปี ร้อยละ 22.15 มีอายุ 25-35 ปี ร้อยละ 32.04 มีอายุ 36-50 ปี และร้อยละ 25.70 มีอายุ 51-69 ปี ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.71 สมรสแล้ว ร้อยละ 44.71 เป็นโสด ในขณะที่ร้อยละ 7.98 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 43.66 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 47.06 ระดับปริญญาตรี และร้อยละ 9.28 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 21.26 มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 36.33 มีรายได้ 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 24.70 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท และ ร้อยละ 17.71 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 28.69 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 23.85 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.42 เป็นนักเรียน-นักศึกษา ร้อยละ 15.86 ประกอบธุรกิจส่วนตัว/อาชีพค้าขาย ร้อยละ 6.79 อาชีพรับจ้างทั่วไป และร้อยละ 10.39 ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษตรกร เกษียณอายุ ว่างงาน เป็นต้น
ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ ในภาพรวมพบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้ง ที่ผ่านมา โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่อง เศรษฐกิจ/การเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ (ร้อยละ 85.53) รองลงมา คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 79.89) และเรื่องการงาน (ร้อยละ 66.45) ตามลำดับ แต่เป็นที่ น่าสังเกตว่า ระดับความเครียดของคนไทยในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน สิ่งแวดล้อม และการเมืองพุ่งสูงใน 2 ไตรมาสล่าสุดที่ทำการสำรวจ โดยความเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.54 จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สิน ซึ่งความเครียดในด้านต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึก ไม่มีความสุข (ร้อยละ 68.36) และเบื่อหน่าย (ร้อยละ 79.44) เป็นต้น เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัยก็พบว่า คนไทยในวัยทำงานต่างก็มีความเครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือเครียดเรื่องสภาพแวดล้อม ในปัจจุบัน ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15-18 ปี) เครียดเรื่องการเรียนเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 82.98) ควบคู่กับเครียดเรื่องสภาพแวดล้อมและปัญหาเศรษฐกิจ/การเงิน ในปัจจุบัน (ร้อยละ 77.30) ทั้งนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุจากที่เคยสำรวจมาพบว่า 2 อันดับแรกจะเครียดเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ/การเงินและปัญหาสุขภาพของตัวเอง แต่จากผลสำรวจ ล่าสุดกลับพบว่า ผู้สูงอายุเครียดเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ/การเงินและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ ในสัดส่วนที่สูงพอๆ กัน ส่วนเรื่องสุขภาพของตนเองเครียดเป็นอันดับที่ 3
ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สินค้าราคาแพง หนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และปัญหาเรื่องค่าตอบแทน ปริมาณงานที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งตนเอง ซึ่งเมื่อ ประชาชนเครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินจะแก้ปัญหาโดยการใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หาอาชีพเสริมและทำงานมากขึ้น วางแผนการใช้เงินอย่างมีวินัย สำหรับในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแก้ปัญหาโดยการหาวิธีป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงในปัจจุบัน เช่น การใช้ผ้าปิดจมูก ไม่ออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น และปล่อยวาง ยอมรับความจริงและมีสติในการใช้ชีวิต สำหรับปัญหาเรื่องานจะแก้ปัญหาด้วย การหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข หางานอดิเรก และตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ทั้งนี้ นอกจากประชาชนดูแลตัวเองแล้วรัฐบาลควรหามาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนเพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
เอยูโพลมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
โทร. 0-2723-2163-8
ที่มา: เอยูโพล