ผลสำรวจเผยนักศึกษาญี่ปุ่นมีทัศนคติและมุมมองเปลี่ยนไปหลังเกิดภัยพิบัติเมื่อเดือนมีนาคม

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 15, 2011 18:00 —Asianet Press Release

โตเกียว--15 ก.ย.--เกียวโด เจบีเอ็น — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์ การสำรวจซึ่งจัดทำโดยสมาชิกสมาคมโซคา งักไก (Soka Gakkai) ระดับนักศึกษาในภูมิภาคโทโฮคุทางภาคเหนือของญี่ปุ่น เผยให้เห็นว่าทัศนคติของคนหนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงไปมากนับตั้งแต่เกิด “สามภัยพิบัติ” อันได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ และอุบัติเหตุนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ในการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษากว่า 500 คนในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอาชีวศึกษา 47 แห่งในจังหวัดมิยากิ ฟูกุชิม่า และอิวาเตะ (สามจังหวัดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด) รวมถึงจังหวัดอาโอโมริ อาคิตะ และยามางาตะ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีมุมมองเปลี่ยนไปในเรื่องของจุดมุ่งหมายการทำงาน พลังงานนิวเคลียร์ และความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่น ในเรื่องจุดมุ่งหมายการทำงานนั้น เดิมทีนักศึกษาให้ความสำคัญกับรายได้ (23.2%) แต่ตอนนี้นักศึกษาให้ความสำคัญกับ “การช่วยเหลือผู้อื่น” (18.8%) และ “ความมั่นคงในชีวิต” (17.7%) ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนระบุว่าตอนนี้แรงจูงใจในการทำงานคือการทำงานเพื่อชุมชน (16.8%) เมื่อถูกถามว่ามีมุมมองเปลี่ยนไปในเรื่องใดบ้าง ผู้ตอบแบบสอบถาม 19.9% กล่าวว่ามีมุมมองเปลี่ยนไปในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ (ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 23% ในกลุ่มนักศึกษาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ) ขณะที่ 18.1% มีมุมมองเปลี่ยนไปเรื่องความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่น และ 17.7% มีมุมมองเปลี่ยนไปเรื่องการเห็นคุณค่าของปัจจัยพื้นฐานในชีวิตประจำวัน อย่างที่อยู่อาศัย อาหาร และเสื้อผ้า เป็นต้น เมื่อถูกถามว่าอะไรเป็นผลดีของการเกิดภัยพิบัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ผู้ตอบแบบสอบถาม 45% ระบุว่าผู้คนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น ส่วนบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 34.2% เห็นถึงความจำเป็นของการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ และ 21.1% เห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับคำถามที่ว่าสังคมในอุดมคติเป็นอย่างไรนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 38.2% ระบุว่าเป็นสังคมที่ทุกคนไว้เนื้อเชื่อใจกันและพึ่งพากันได้ ฮิโรโนบุ นากามูระ (Hironobu Nakamura) ผู้นำสมาคมโซคา งักไก ระดับนักศึกษาในภูมิภาคโทโฮคุ กล่าวว่า “สมาชิกของเราหลายคนมีส่วนช่วยในการบรรเทาทุกข์ พวกเขาใช้การสำรวจนี้รับฟังและเผยแพร่ความเห็นของเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ ก่อนเกิดภัยพิบัติหลายคนยังบ่นว่าสังคมญี่ปุ่นขาดการปฏิสัมพันธ์กัน แต่ผลสำรวจที่ออกมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าตอนนี้ทุกคนต่างเห็นคุณค่าของการมีปฏิสัมพันธ์กัน” เมื่อถูกถามว่ารัฐบาลตอบสนองความต้องการของประชาชนหลังเกิดภัยพิบัติได้หรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% ตอบว่าไม่ โดย 42% จากจำนวนดังกล่าวเห็นว่ารัฐบาลทำงานช้า ส่วนคำถามที่ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีส่วนร่วมอย่างไรบ้างหลังเกิดภัยพิบัติ 41.2% ตอบว่าได้ทำงานป็นอาสาสมัคร และ 27% กล่าวว่าได้บริจาคเงินและสิ่งของ ศาสตราจารย์โทชิอากิ มุราโมโตะ (Toshiaki Muramoto) จาก Tohoku University Graduate School of Information Sciences ซึ่งช่วยออกแบบและดูแลการสำรวจครั้งนี้ กล่าวว่า “การสำรวจครั้งนี้มีความสำคัญและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะเป็นการสำรวจที่นักศึกษาคิดขึ้นเอง ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการไว้เนื้อเชื่อใจและการพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับอนาคตของสังคมญี่ปุ่น” การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 21 สิงหาคม โดยมีการสอบถามความเห็นของนักศึกษา 700 คน และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 511 คน (คิดเป็น 73%) โซคา งักไก เป็นสมาคมพุทธศาสนาที่มีสมาชิกกว่า 8 ล้านครัวเรือนในประเทศญี่ปุ่น กลุ่มโซคา งักไก ระดับท้องถิ่นในภูมิภาคโทโฮคุ ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและสนับสนุนชุมชนอย่างครอบคลุม หลังเกิดภัยพิบัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมบรรเทาทุกข์ของสมาคมได้ที่ http://www.sgi.org/assets/pdf/Japan-Earthquake-Relief-Report.pdf ทั้งนี้ โซคา งักไก ซึ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงองค์กรเอสจีไอในเครือทั่วโลก เป็นกลุ่มหนึ่งที่ปฏิบัติตามหลักพุทธปรัชญามนุษยนิยมที่ดำรงอยู่มานาน แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล ติดต่อ : โจน แอนเดอร์สัน สำนักงานข้อมูลสาธารณะ โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล โทรศัพท์: +81-80-5957-4711 โทรสาร: +81-3-5360-9885 อีเมล: janderson[at]sgi.gr.jp AsiaNet 46335 -- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ