'พาณิชย์’ หารือกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับเปิดเสรีบริการในอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 1, 2011 14:09 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดประชุม Roundtable กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการเปิดเสรีบริการในอาเซียน แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประชาชนในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดประชุมหารือ Roundtable กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาแนวทางรองรับการเปิดเสรีบริการภายใต้เวทีเจรจาต่างๆ โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยจะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดเดียว มีฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ในหลายเวที เช่น ไทย-เปรู ไทย-ชิลี อาเซียน-อินเดีย และไทย-อินเดีย โดยมีหน่วยงานสำคัญด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศูนย์ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศูนย์นาโนเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (SIPA) รวมถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมส่งเสริมการส่งออก เข้าร่วมประชุมด้วย

นางศรีรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประชาชนในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยเฉพาะในส่วนของภาคบริการ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันธุรกิจบริการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมาก มีธุรกิจบริการใหม่ๆ ซึ่งอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่มาตรฐานและคุณภาพ ดังนั้นการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการงานพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน การตรวจสอบ และออกใบรับรองสินค้าอาหารจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น บริการบรรจุภัณฑ์อาหารด้วยฟิล์มถนอมและยืดอายุอาหารสด ทำให้สามารถส่งออก ผัก ผลไม้ และอาหารได้มากขึ้น บริการตรวจสอบสาร/สิ่งปนเปื้อนในอาหารและสินค้าเกษตร เช่น ข้าว บริการ Traceability เพื่อตรวจสอบการปนของพันธุ์ข้าว กรณีที่มีการนำเข้าข้าวข้ามพรมแดน เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่โลกต้องเผชิญภัยต่างๆ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และพายุถล่ม และที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น จลาจล และลอบวางระเบิด บริการระบบจัดเก็บข้อมูล (data backup site) เพื่อให้ธุรกิจสามารถคงอยู่ต่อไปได้ ก็มีแนวโน้มที่ดีและขยายตัวได้เช่นเดียวกับ ธุรกิจบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญเมื่อโลกกำลังเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศหรือ Climate Change เช่น การบริการรับรองระบบและติดฉลากเขียว

“ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาการบริการที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญเช่น โทรคมนาคม การขนส่งและ โลจิสติกส์ ในปี 2558 เมื่ออาเซียนกลายเป็น AEC ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ได้ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และนักธุรกิจระหว่างกันอย่างกว้างขวาง ระบบการอำนวยความสะดวกในการข้ามพรมแดนของทั้งคน สินค้า และบริการ จึงควรได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดเวลาและต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันก็จะต้องสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่” นางศรีรัตน์ กล่าว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ