WTO เจรจาสำเร็จครั้งแรกในรอบ 12 ปี พร้อมมุ่งหน้าดันการค้าโลกโตขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 13, 2013 17:22 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

องค์การการค้าโลก(WTO) จัดให้มีการประชุมรัฐมนตรี (Ministerial Conference: MC) สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 (MC9) ระหว่างวันที่ 3-6ธันวาคม 2556 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงสุด และมีรัฐมนตรีการค้าทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมโดยครั้งนี้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมประชุมด้วย

นายนิวัฒน์ธำรงบุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากมีการประชุมและหารืออย่างเข้มข้นในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่9ระหว่างวันที่ 3-6 ธันวาคม 2556 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในที่สุดที่ประชุมสามารถสรุปผลการเจรจาได้เมื่อเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 2556 การสรุปผลลัพธ์การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในรอบ12 ปี นับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์การการค้าโลกความสำเร็จครั้งนี้ เป็นการเรียกความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีและองค์การการค้าโลกกลับมาโดยองค์การการค้าโลกจะยังคงบทบาทในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นก้าวสำคัญและสัญญาณอันดีในการเจรจารอบโดฮาให้ดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ ผลสรุปของการประชุมมี3 หัวข้อที่ผูกโยงกันใน Bali Package ได้แก่ ข้อตกลงด้านเกษตร ด้านอำนวยความสะดวกทางการค้า และด้านการพัฒนาโดยไทยจะได้รับประโยชน์จากประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation: TF) และเรื่องสินค้าเกษตร

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ข้อตกลงเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าจะเป็นความตกลงภายใต้WTOฉบับแรก หลังจากจบการเจรจารอบอุรุกวัยและจัดตั้ง WTO ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาความตกลงฉบับนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในประเทศสมาชิกในการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรลดมาตรการที่เป็น red tape ที่เป็นอุปสรรคในการออกของและการขนถ่ายสินค้าและสินค้าผ่านแดนอันเป็นการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ประกอบการ อีกทั้งเป็นการลดความล่าช้าในการผ่านด่านศุลกากรของประเทศสมาชิกและท้ายที่สุดความตกลงนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อตกลงด้านเกษตรที่ไทยจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ประเด็นข้อตกลงที่จะปรับปรุงวิธีการบริหารโควตาภาษีเพื่อแก้ปัญหาการบริหารโควตาที่บิดเบือนและไม่นำสินค้าเข้าจริงตามจำนวนโควตาที่กำหนดและประเด็นการอุดหนุนการส่งออก ซึ่งกำหนดเป็นแนวทางว่าสมาชิกจะต้องดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การยกเลิกการอุดหนุนส่งออกทุกรูปแบบต่อไปในอนาคตและจะรักษาระดับ Export subsidies ให้ต่ำกว่าระดับที่ผูกพันตามตามความตกลงเกษตรอย่างมีนัยสำคัญโดยประเด็นเกษตรทั้งสองประเด็นดังกล่าวจะมีผลเป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยอย่างมาก

ทั้งนี้ ข้อตกลงด้านเกษตรที่สมาชิกสามารถตกลงกันได้อีกเรื่องคือ มาตรการสต๊อกภาครัฐเพื่อความมั่นคงทางอาหารซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของกลุ่ม G-33 และมีการหารือระหว่างสมาชิก key player อย่างเข้มข้นเพื่อหาข้อสรุป ข้อบทในเรื่องนี้กำหนดให้มาตรการดังกล่าวของประเทศกำลังพัฒนาได้รับการยกเว้นไม่ถูกฟ้องในWTO จนกว่าจะมีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์เรื่องนี้ใน WTOอย่างถาวร ทั้งนี้ มาตรการที่ใช้จะต้องไม่บิดเบือนการค้าทั้งทางด้านการส่งออกและการนำเข้าหรือกระทบความมั่นคงทางอาหารของประเทศอื่น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ