WTO เดินหน้าผลักดัน Bali Package

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 27, 2014 16:04 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

หลังการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกครั้งที่ 9 หรือที่เรียกว่า MC9 เมื่อเดือนธันวาคม 2556 ณเมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่สามารถสรุปผลการเจรจาลงได้โดยผลลัพธ์ของการเจรจาถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญและครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์การการค้าโลกนั้นและเป็นการส่งสัญญาณอันดีในการเจรจารอบโดฮาให้ดำเนินต่อไป

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (นายโรแบร์โตอาเซวาโด) ได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จของการเจรจาที่บาหลี (Bali Package) ทั้งในที่ประชุม The Partnership Summit 2014 ของ Confederationof Indian Industry (CII) ณ เมืองบังกาลอร์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม2557 และที่ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiations Committee:TNC) ในการประชุมของเอกอัครราชทูตประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2557 ภายหลังจากการประชุม MC9 ว่าการสรุปผลการเจรจาที่บาหลียังไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่ถือเป็นโอกาสในการขยายขอบเขตการทำงานให้เพิ่มขึ้นอีกรวมถึงการเจรจารอบโดฮาให้ดำเนินต่อไป ซึ่ง Bali Package ไม่เพียงแต่เป็นการบรรลุผลของการเจรจาแต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least-developedcountries: LDCs) ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลกนับล้านซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้พยากรณ์ว่าจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกถึง 1ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี และก่อให้เกิดการสร้างงานถึง 21ล้านอัตราทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาและในภาคการนำเข้าและส่งออกจะเกิดการขยายตัวถึงร้อยละ 10 - 15

นายอาเซวาโด ย้ำอีกว่างานสำคัญที่รออยู่ คือการปฏิบัติตาม BaliPackage ซึ่งมี 3 หัวข้อสำคัญที่ผูกโยงกัน คือ ข้อตกลงด้านเกษตรข้อตกลงด้านอำนวยความสะดวกทางการค้า และข้อตกลงด้านการพัฒนาโดยเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) เป็นผลลัพธ์สำคัญที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากที่สุดโดยในระหว่างนี้จะมีคณะกรรมการเตรียมการ (Preparatory Committee) รับผิดชอบการทบทวนข้อกฎหมายและการดำเนินการเพื่อให้เป็นความตกลงอีกฉบับภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTOAgreement)

สำหรับข้อตกลงด้านเกษตรจะมีคณะกรรมการว่าด้วยเกษตรดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และทบทวนในทั้ง 3 เรื่องเรื่องแรกเกี่ยวกับ การแข่งขันการส่งออก (Export Competition)ที่จะต้องมีการหารือเกี่ยวกับการแจ้งการปฏิบัติตามพันธกรณี (Notifications) และการตอบแบบสอบถาม (Questionnaires) โดยคณะกรรมการฯจะจัดการประชุมครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปีนี้ เรื่องที่สอง คือ การบริหารจัดการโควตาภาษี (TRQ Administration) ซึ่งคณะกรรมการฯจะต้องดำเนินการทบทวนและติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงฯ อย่างใกล้ชิด เรื่องสุดท้ายคณะกรรมการฯ จะต้องหารือเพื่อจัดทำมาตรการในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ในเรื่องการคงคลังสินค้าของรัฐบาลเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Public Stockholding for Food Security purposes)อย่างถาวรต่อไป

สำหรับผลสำเร็จเรื่องการพัฒนารวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับ LDCs ถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมให้ LDCs เข้ามามีส่วนร่วมในการค้าพหุภาคีมากขึ้นโดยประเทศ LDCs จะได้รับสิทธิพิเศษที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในด้านสินค้า ประเทศสมาชิกจะยกเลิกภาษีและโควต้าจากสินค้าที่นำเข้าจาก LDCsอีกทั้ง ยังมีแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ในการกำหนดกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้าใจง่ายโปร่งใส และยืดหยุ่นสำหรับการเปิดตลาดให้แก่ประเทศ LDCs อีกด้วยนอกจากนี้ LDCs จะต้องรีบจัดทำข้อเรียกร้องด้านบริการที่ต้องการจะได้รับสิทธิพิเศษซึ่งจะเป็นกระบวนการเริ่มต้นให้ประเทศสมาชิกอื่นที่ประสงค์จะให้สิทธิพิเศษด้านบริการได้พิจารณาในขณะเดียวกันก็จะมีการประชุมคณะมนตรีด้านการค้าบริการเพื่อหารือในรายละเอียดอีกด้วยทั้งนี้ นายอาเซวาโด หวังว่าสมาชิกทุกประเทศจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วยเพื่อให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ