สิงคโปร์กับฮ่องกง: ประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 7, 2014 15:28 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สิงคโปร์และฮ่องกงถือเป็นประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจระหว่างกันมายาวนานและมีความเข้มข้น เมื่อเปรียบเทียบด้านโครงสร้างของเศรษฐกิจ พบว่า ทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกันที่เห็นได้ชัด คือ การเป็นเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ทั้งยังเป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเสือเศรษฐกิจกลุ่มแรกของเอเชียในช่วงทศวรรษที่ 1960-1990 จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นจนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีความร่ำรวยมากเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียและโลก

หากเปรียบเทียบขนาดของเศรษฐกิจ ปัจจุบันสิงคโปร์สามารถเอาชนะฮ่องกงได้อย่างน่าประหลาด เนื่องจากในปี 2543 สิงคโปร์ยังเป็นรองฮ่องกงอยู่มาก คือ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียง 94 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีขนาดไม่ถึงครึ่งหนึ่งของฮ่องกง ซึ่งในปีเดียวกันนั้นมี GDP มูลค่า 172 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 2556 สถานะดังกล่าวก็กลับกัน โดยสิงคโปร์ได้แซงหน้าฮ่องกง คือ มี GDP มูลค่า 296 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ GDP ของฮ่องกง มีมูลค่า 274 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดส่งออกหลักที่สิงคโปร์ต้องพึ่งพาในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศแถบตะวันนตก มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับฮ่องกง

นักวิเคราะห์หลายแห่งเห็นว่า การที่สิงคโปร์สามารถเอาชนะฮ่องกงได้ เนื่องมาจากการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุล รวมถึงการแสวงหาสาขาการเจริญเติบโตใหม่ๆ เพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ฮ่องกงยังคงพึ่งพาด้านบริการเป็นหลัก โดยเฉพาะบริการทางการค้าและโลจิสติกส์ การค้าปลีก การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และบริการวิชาชีพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บริการทางการค้าและโลจิสติกส์ของฮ่องกงต้องประสบกับการแข่งขันจากท่าเรือของประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าด้วยกันเอง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต้นทุนดำเนินการที่ต่ำกว่า ท่าเรือฮ่องกงจึงถูกลดบทบาทการเป็นโกดังเก็บสินค้าให้กับจีน สำหรับการท่องเที่ยว แม้ว่าเป็นสาขาที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถือเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อยกว่าบริการสาขาอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ การศึกษาหลายแห่งยังพบว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในสาขาบริการทำได้ยากกว่าในภาคการผลิต

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจสิงคโปร์ คือ การที่รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันที่จะรักษาความสำคัญของภาคการผลิต แม้ว่าในปัจจุบัน สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงถึงร้อยละ 360 ของ GDP (ปี 2556) โดยรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกี่ยวกับวิศวกรรม และยา นอกจากนี้ ขณะที่ฮ่องกงพึ่งพาการขนส่งสินค้าให้กับประเทศจีน สิงคโปร์กลับให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลักก่อน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สองประเทศแข่งขันกัน คือ การเป็นศูนย์กลางบริการการเงินในเอเชีย อย่างไรก็ดี การแข่งขันดังกล่าวอาจไม่รุนแรงดังที่ประเมินไว้ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพในตลาดเฉพาะของตน โดยฮ่องกงเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาตลาดทุน จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ทำให้มีมูลค่าของตลาด (market capitalization) เมื่อสิ้นปี 2556 สูงถึง 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สิงคโปร์มีมูลค่าเพียง 744 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีจุดเด่นในการเป็นตลาดระดมทุนสำหรับธุรกิจเกิดใหม่ เช่น ธุรกิจบริการการเงินจากประเทศจีนที่ใช้เงินสกุลหยวนเป็นหลัก (renminbi-dominated) แม้ว่าจะเป็นแหล่งที่มาของความผันผวนทางเศรษฐกิจ

ส่วนสิงคโปร์มีความสามารถการแข่งขันในสาขาการบริหารจัดการสินทรัพย์ โดยมีลูกค้าจากทั่วโลก ขณะที่ฮ่องกงมีลูกค้าหลักเป็นคนสัญชาติจีน ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ยังเพิ่มบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโดยการสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้กำกับดูแลตลาดการเงินในสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ทั้งยังมีความเข้มแข็งมากกว่าฮ่องกงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากปัจจัยส่วนหนึ่ง คือ การไม่อิง (not pegged) กับเงินสกุลเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกับเงินหยวนฮ่องกง

การเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน (performance) ของสองประเทศข้างต้น ทำให้เห็นว่าประเทศใดมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน แต่การพิจารณาเพียงตัวเลข GDP อาจทำให้การวิเคราะห์คลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์มีขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าฮ่องกง คือ การขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543-2556) โดยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับฮ่องกงที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.9 ทำให้เมื่อเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัว ทั้งสองประเทศจึงอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ การขยายตัวของประชากรในสิงคโปร์ยังนำมาซึ่งปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสังคม เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ความแออัดของการขนส่ง และความยากของประชาชนในการมีบ้านเป็นของตนเอง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์ต้องประสบเหตุการณ์การประท้วงอย่างรุนแรงหลายครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบถึงเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล จนต้องเร่งพิจารณาเพิ่มงบประมาณเพื่อยกระดับสวัสดิการทางสังคม ส่วนฮ่องกงเองก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการไหลเข้าของคนจากประเทศจีน และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนสวัสดิการสังคม รวมถึงความแออัดและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

บทวิเคราะห์

ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และฮ่องกงในปัจจุบัน ทำให้ทั้งสองประเทศถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับต้นๆ ในโลก โดยไม่ว่าประเทศใดจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน แต่ทั้งสองประเทศก็ต้องเผชิญความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่เพียงประเด็นด้านเศรษฐกิจที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ แต่ครอบคลุมถึงแรงกดดันทางการเมืองในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพื่อให้สามารถจัดหาสวัสดิการทางสังคมได้อย่างเหมาะสมและทั่วถึงในระยะยาว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ