ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 29, 2014 14:32 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด ทำให้มีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงเป็นอันดับต้นๆ ในโลก (ร้อยละ 274.7 ในช่วงปี 2552-25561) ขณะเดียวกันยังมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เช่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2542-2552) ซึ่งแม้ว่าได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศแถบตะวันตกและสหรัฐฯ และมีผลกระทบต่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แต่สิงคโปร์ยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งยังมีรายได้จริงของครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 20 ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางด้านบริการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะศูนย์กลางด้านการเงินและบริการธุรกิจชั้นนำของโลก ส่วนภาคอุตสาหกรรม สิงคโปร์ได้ก้าวขึ้นไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย คือ ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการบริหารจัดการด้านการเงินและการตลาด ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับสินค้า โดยมีความเข้มแข็งในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ชีวภาพและวิศวกรรมอากาศยาน ทั้งยังมีการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีธุรกิจขนาดกลางและเล็กเกิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และพร้อมที่จะพัฒนาขึ้นเป็นผู้ประกอบการระดับโลก ส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่เป็นแหล่งรวมของคนที่มีความรู้ความสามารถและทักษะสูง ทั้งคนที่เป็นชาวสิงคโปร์และต่างชาติ

อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมตลาดโลกกำลังเปลี่ยนไป และถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อภาคธุรกิจสิงคโปร์ เมื่อขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนมายังเอเชียพร้อมกับการขยายตัวของเมืองใหญ่ และการเพิ่มขึ้นของความต้องการด้านบริการในจีน อินเดีย และประเทศอาเซียน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคกำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศตน แต่สิงคโปร์กลับมีข้อจำกัดด้านจำนวนแรงงาน ซึ่งต้องพึ่งพาการขยายตัวของแรงงานต่างชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนทำให้รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มมีความกังวลถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากเกินไป นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านพื้นที่และทรัพยากรพลังงานยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า และกระจายแหล่งที่มาของพลังงาน รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ด้วยสาเหตุและปัจจัยดังกล่าว รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศสำหรับในช่วงทศวรรษหน้า (ปี 2553-2563) โดยมีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก ผ่านการระดมข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพ องค์กรด้านแรงงาน และสภาธุรกิจ โดยได้ข้อสรุปเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ การเป็นศูนย์กลางของผู้มีความสามารถด้านทักษะสูง การเป็นสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเป็นเมืองโดดเด่นระดับโลก โดยมีความท้าทายหลัก คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความเชี่ยวชาญด้านทักษะ และการพัฒนานวัตกรรม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญลำดับแรกต่อการเพิ่มความมีประสิทธิภาพ (productivity) เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบความมีประสิทธิภาพของภาคการผลิตและบริการของสิงคโปร์ในปัจจุบันกับของประเทศที่มีศักยภาพสูงอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น พบว่า ความมีประสิทธิภาพของสิงคโปร์มีอัตราอยู่ในช่วงร้อยละ 55 -65 ของทั้งสองประเทศ และหากพิจารณาเป็นรายสาขา เช่น ค้าปลีก เมื่อเปรียบเทียบกับฮ่องกงและสหรัฐฯ พบว่า ความมีประสิทธิภาพของสิงคโปร์มีอัตราร้อยละ 75 ของฮ่องกง และร้อยละ 33 ของสหรัฐฯ จึงยังมีพื้นที่อีกมากสำหรับการพัฒนาความมีประสิทธิภาพของสิงคโปร์ในทุกสาขา

คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ จึงได้เสนอแนะให้ตั้งเป้าการขยายตัวของความมีประสิทธิภาพในทุกสาขาในอัตราร้อยละ 2-3 ต่อปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้า สูงกว่าการขยายตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งจะทำให้ความมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ใน 3 ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งยังควรเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงทศวรรษหน้าทดแทนการขยายตัวของจำนวนแรงงาน กล่าวคือ สัดส่วน 2 ใน 3 ของอัตราการขยายตัวของ GDP ควรมาจากการขยายตัวของความมีเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงทศวรรษก่อนซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ขณะเดียวกัน แรงงานที่มีอยู่ควรได้รับการเพิ่มพูนทักษะและความเชี่ยวชาญในทุกสาขา ผ่านการยกระดับการศึกษาและฝึกอบรม และการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อที่จะสามารถทำงานที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจ จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจที่มีศักยภาพ และลดจำนวนธุรกิจที่อ่อนแอลง หรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยสร้างและรักษากิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงไว้ในสิงคโปร์

ทั้งนี้ คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ได้เสนอแนะงานที่มีความสำคัญ 3 ลำดับแรก สำหรับในช่วงทศวรรษหน้าประการแรก คือ การเพิ่มพูนทักษะในงานทุกสาขา โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนการเพิ่มความมีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนการศึกษาและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจพัฒนานวัตกรรมอย่างแพร่หลาย เพื่อสร้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้นให้แก่แรงงาน อันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการที่ดีขึ้น สำหรับแรงงานทั้งที่เป็นคนชาติสิงคโปร์และต่างชาติ แม้ว่าในระยะยาว จำเป็นต้องดูแลไม่ให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากเกินไป โดยภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ

งานสำคัญอันดับที่สอง คือ การเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจให้มีความพร้อมที่จะไขว่คว้าโอกาสในเอเชียเพื่อให้ธุรกิจในประเทศขยายตัวและพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำในเอเชีย และส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นฐานการลงทุนของธุรกิจข้ามชาติ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก โดยการให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ (1) การสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจจากการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยใช้ประโยชน์มากขึ้น จากความได้เปรียบของประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในการพัฒนาสินค้าและกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าเพิ่มค่าใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้มีสัดส่วนร้อยละ 3.5 ของ GDP2 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 3 ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนด้าน R&D ด้วยเช่นกัน (2) การเพิ่มความสามารถของภาครัฐในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจในประเทศให้เติบโตในตลาดต่างประเทศ ผ่านสถาบันและเครื่องมือการเงินรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ภาคเอกชนสิงคโปร์มีศักยภาพ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมือง การบริหารจัดการของเสียและน้ำ รวมถึงการทำการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างบทบาทของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในเอเชีย และ (3)การสนับสนุนการสร้างพันธมิตรระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในการทำธุรกิจ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์

งานสำคัญอันดับที่สาม คือ การทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองโดดเด่นระดับโลกและเป็นบ้านที่น่าอยู่ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของผู้ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะสูง รวมถึงแหล่งรวมด้านวัฒนธรรม การทำธุรกิจ และความคิดสร้างสรรใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มาของความสามารถแข่งขันและการเจริญเติบโตของประเทศต่อไปในอนาคต แม้ว่าสิงคโปร์จะต้องลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ แต่จะยังคงต้องทำให้เป็นเมืองที่น่าดึงดูดของคนต่างชาติจากทั้งในเอเชียและทั่วโลก เพื่อให้เข้ามาทำงานร่วมกับคนสิงคโปร์และเพิ่มพูนศักยภาพซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันกับการเป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับคนชาติสิงคโปร์ที่มีความสามารถและได้ออกไปทำงานในต่างประเทศจากการมีทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการ ทั้งนี้ การทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองสำคัญระดับโลก ควรให้ความสำคัญใน 2 เรื่อง ประการแรก คือ การพัฒนาความเป็นแหล่งรวมด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญระดับโลกเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาของเมือง และควรดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างโอกาสในการเติบโตและพัฒนาให้แก่คนที่มีศักยภาพในหลากหลายสาขา ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาที่ดีมากขึ้น โดยภายในปี 2563 ได้ตั้งเป้าให้แรงงานในประเทศในสัดส่วน ร้อยละ 50 มีการศึกษาอย่างต่ำในระดับอนุปริญญา และร้อยละ 35 ในระดับปริญญา3 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เทียบเท่ากับเมืองสำคัญระดับโลกอื่นๆ ในปัจจุบันประการที่สอง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นเมืองที่ให้คุณภาพชีวิตดีที่สุดในเอเชีย โดยการวางแผนการใช้ที่ดินให้คุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงการสร้างชุมชนย่อยที่มีคุณลักษณะเฉพาะในพื้นที่ต่างๆ และการเป็นเมืองที่มีพื้นที่ว่างเพียงพอให้แก่คนที่อยู่อาศัยเพื่อให้มีความน่าอยู่มากที่สุด

การบรรลุเป้าหมายตามเรื่องสำคัญลำดับแรกข้างต้น จะสำเร็จไม่ได้หากขาดความมุ่งมั่นและความคิดริเริ่มที่จะดำเนินการตามที่คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ได้เสนอแนะไว้ ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเพื่อวางรากฐานสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษาที่มีคุณภาพ การพัฒนาทักษะขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา และการสร้างความเชื่อมโยงของประเทศเพื่อให้สิงคโปร์เป็นเมืองสำคัญระดับโลก อีกทั้งยังต้องกระตุ้นให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับความมีประสิทธิภาพ และปรับย้ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพต่ำไปยังภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งแรงงาน ที่ดิน และพลังงาน ขณะเดียวกัน ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างทั่วถึง กล่าวคือ ทุกภาคส่วนควรได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดี กลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็นประชาชนและภาคธุรกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะคนช่วงวัยทำงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ รวมถึงธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรในการพัฒนาสินค้าและหาตลาดใหม่เฉพาะของตน โดยมีอาเซียนเป็นตลาดเพื่อนบ้านสำคัญ ที่จะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้ใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายยุทธศาสตร์นี้สะท้อนให้เห็นอนาคตของสิงคโปร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะแตกต่างจากภาพในปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านประชากร ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญอันดับแรกของประเทศ โดยได้ตั้งเป้าให้ประชาชนในประเทศ ทั้งคนชาติสิงคโปร์และต่างชาติ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและทักษะสูงขึ้น มีงานดีขึ้นทำ และได้รับค่าผลตอบแทนจากการทำงานที่สูงขึ้น โดยทุกสาขาวิชาชีพมีโอกาสในการเติบโตและประสบความสำเร็จ ทั้งยังได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคธุรกิจ สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะขยายฐานการทำธุรกิจที่มีความสามารถแข่งขันระดับโลกและเป็นผู้นำในเอเชีย โดยมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ยังจะเป็นประเทศที่มีบรรยากาศส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา สำหรับทั้งธุรกิจเกิดใหม่และธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ และนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึงนอกจากนี้ เรื่องสำคัญถัดมา คือ การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นเมืองชั้นนำระดับโลกที่น่าอยู่ และมีลักษณะเฉพาะของตน ในฐานะเมืองเปิดที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และเป็นแหล่งรวมของศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความน่าดึงดูด ไม่เพียงของประเทศสิงคโปร์ แต่รวมถึงของภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ