ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในกรอบความร่วมมือเอเปค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 20, 2014 14:24 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความมั่นคงทางอาหารได้มีการกล่าวถึงอย่างจริงจัง ในที่ประชุมสหประชาชาติ (United Nations) ในปี 2543 (ค.ศ. 2000) และได้มีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Goal Developments –MGDs) ซึ่งรวมถึงการขจัดความยากจนและความหิวโหย นอกจากนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(Food and Agriculture Organization : FAO) ได้นิยามความหมายของ “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยครอบคลุมถึง การที่ประชาชนมีปริมาณอาหารเพื่อการบริโภคที่เพียงพอ มีความหลากหลายของประเภทอาหารที่ได้รับ อาหารมีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงคุณค่าทางโภชนาการและความสะอาดปลอดภัย และประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารอันเกิดจากระบบการกระจายอย่างทั่วถึงได้

ในปี 2553 (ค.ศ. 2010) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค1 หรือเอเปค ได้มีการประชุมรัฐมนตรีด้านความมั่นคงทางอาหารเป็นครั้งแรก และให้การรับรองปฏิญญานิอิกาตะว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารเอเปค (The Niigata Declaration on APEC Food Security) โดยแสดงเจตนารมณ์เกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเปคอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันของสมาชิก 2 ด้าน คือ (1) การพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน (Sustainable Development of the Agricultural Sector) (2) การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนการค้า และการตลาด (Facilitation of Investment, Trade and Markets) และต่อมาในปี 2554 (ค.ศ.2011)เอเปคเห็นชอบให้จัดตั้งหุ้นส่วนนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร Policy Partnership on Food Security (PPFS)เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของเอเปค และติดตามการดำเนินงานตามปฏิญญานิอิกาตะ และเปิดโอกาสให้ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อพัฒนานโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน โดยกำหนดให้มีการประชุมทุกปี

สำหรับปี 2557 (ค.ศ. 2014) PPFS มีเป้าหมายหลัก (Theme) คือ สร้างความเข้มแข็งทางด้านความร่วมมือทางความมั่นคงทางอาหาร “Strengthening Partnership for Food Security” โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาภาคอาหารให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างกำไร เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลภายในปี 2563 (2020) และล่าสุดได้มีการประชุม PPFS เมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 2557 ณ กรุงปักกิ่ง โดยที่ประชุมได้หารือและให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิต (2) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความร่วมมือในการจัดเก็บอาหารและการจัดการห่วงโซ่อาหาร (3) ความร่วมมือทางการค้าอาหารและการอำนวยความสะดวก (4) ความร่วมมือด้านการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ (5) มาตรฐานอาหาร และความปลอดภัย/คุณภาพอาหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Roadmap) แผนยุทธศาสตร์ (Business Plan) แผนปฏิบัติการ (Action Plan)เพื่อลดการสูญเสียอาหาร และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อส่งเสริมมาตรฐานและความปลอดภัยอาหาร

ทั้งนี้ ที่ประชุม PPFS ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในหลายหัวข้อ โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้

(1) การควบคุมปริมาณการลดความสูญเสียและอาหารเหลือทิ้ง (Food Loss and Waste) โดยสมาชิกทุกประเทศต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค ซึ่งเป็นประเด็นในการเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาความร่วมมืออื่นๆ อาทิ กระบวนการเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ การแปรรูปการขนส่ง การบริโภค และการบริหารจัดการหลังการบริโภค โดยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การสนับสนุนการลงทุนในด้านการจัดเก็บอาหาร รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคในการรับประทานอาหารอย่างประหยัดและพอเพียง ทั้งนี้ PPFS ได้หารือแนวทางและดำเนินโครงการให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สมาชิกสามารถมีส่วนร่วมและนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง อันจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารภายในภูมิภาคต่อไปในอนาคต

(2) ความร่วมมือด้านการลงทุนภาคการเกษตร การลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งสมาชิกต่างตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคในเรื่องการลงทุนภาคการเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Agricultural Investment - PRAI) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงนโยบายทางการค้าอาหารและสินค้าเกษตรทั้งภูมิภาค รวมถึงลดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า การสนับสนุนการประสานมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และให้มีการศึกษามาตรการกีดกันทางการค้า โดยเน้นย้ำว่า PPFS ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องการลดภาษีสินค้า และจะต้องไม่ดำเนินการใดๆ เกินกว่าขอบเขตที่กำหนดไว้ใน WTO นอกจากนี้ PPFS ได้หารืออย่างกว้างขวางในเรื่องการสนับสนุนการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในภูมิภาค เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งอาหารและสินค้าเกษตรให้มีความคล่องตัว และลดการสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประสานมาตรฐานอาหาร ความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร โดย PPFS มีแนวคิดว่า ปัจจุบันมาตรฐานอาหารต่างๆ ได้กลายเป็นอุปสรรคทางการค้า ซึ่งเกิดความเสียหายต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารภายในภูมิภาคและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอาหาร ดังนั้น การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารควรให้ความสำคัญกับการปรับประสานมาตรฐานของสมาชิก เพื่อขจัดปัญหาการขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากมาตรฐานที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

ประเด็นที่น่าจับตามอง

ประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหารในกรอบเอเปคที่ไทยน่าจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิ (Net Food Exporter) ได้แก่

  • ไทยส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร เช่น ข้าว น้ำตาล กุ้ง มันสำปะหลัง ผลไม้กระป๋อง และสินค้าประมงอื่นๆ เป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังกลุ่มประเทศเอเปค ในปี 2556 มีมูลค่ารวม 810,123 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.6 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย ไทยจึงมีศักยภาพที่จะเพิ่มบทบาทนำในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางอาหารให้เกิดในภูมิภาคเอเปค ซึ่งจะทำให้ไทยอยู่ในสถานะที่พร้อมสนับสนุนสินค้าอาหารและการเกษตรให้แก่ประเทศสมาชิกเอเปคอันจะเป็นโอกาสในการส่งเสริมการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทยอีกทางหนึ่ง
  • มาตรฐานการส่งออก สมาชิกเอเปคยอมรับข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่อนุญาตให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการบริโภคหรือเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่ติดมากับพืช สัตว์และผลิตภัณฑ์รวมทั้งสารเจือปนในอาหาร ตลอดจนสารพิษหรือจุลินทรีย์ที่เป็นพาหะของโรค และแม้ว่าการกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ การประสานมาตรฐานอาหาร ความปลอดภัยและคุณภาพอาหารของภูมิภาคเอเปคจึงมีส่วนช่วยพัฒนามาตรฐานอาหารและสินค้าเกษตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างกันมากที่สุด

การปรับประสานมาตรฐานระหว่างประเทศและการพัฒนามาตรฐานดังกล่าว จะเป็นประโยชน์แก่ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร เพราะจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากมาตรฐานที่แตกต่างของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ การที่ไทยต้องปรับมาตรฐานสินค้าที่ผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตกลงกันในเอเปคจะช่วยยกระดับการจัดทำมาตรฐานภายในประเทศ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาสินค้าให้ส่งออกได้ตามมาตรฐานสากล อันจะช่วยพัฒนาและยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าอาหารของไทยและในส่วนผู้บริโภคภายในประเทศเองก็จะมีโอกาสเข้าถึงการบริโภคสินค้าที่หลากหลาย และมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย

  • การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และการลงทุนภาคการเกษตร การจัดการความสูญเสียและอาหารเหลือทิ้งโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ การแปรรูป การขนส่ง การบริโภค และการบริหารจัดการหลังการบริโภค เป็นเรื่องที่จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของภาคเกษตรของไทย ซึ่งไทยอาจให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการจัดเก็บ ที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยลดการสูญเสียผลิตผลทางการเกษตรจากการจัดเก็บและช่วยคงคุณค่าอาหาร (Nutrient) อันจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และผู้บริโภคได้รับอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้นด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องการลงทุนในภาคเกษตรนั้น APEC ให้ความสำคัญต่อแนวคิดของ FAO ซึ่งกำลังจัดทำหลักการลงทุนภาคเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Agriculture Investment - RAI) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนต่างชาติคำนึงถึงผลกระทบจากการลงทุนในต่างประเทศ โดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกร และนักลงทุนในภาคการเกษตร ตลอดจนการพัฒนายกระดับภาคเอกชนของไทยในระยะยาว เพราะไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลกจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต องค์ความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดต่อภาคการเกษตรในอนาคต

ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งส่วนสินค้าเกษตร สำนักการค้าสินค้าจะทำการติดตามพัฒนาการที่สำคัญด้านความมั่นคงทางอาหารในกรอบเอเปค และสรุปความคืบหน้าเพื่อเผยแพร่ในโอกาสต่อไป

ส่วนสินค้าเกษตร สำนักการค้าสินค้า

กันยายน 2557

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ