TFA : ลู่ทางและโอกาสการพัฒนาศักยภาพการค้าไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2015 16:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

แม้ว่าประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จะมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการลดอุปสรรคทางการค้าในรูปแบบของภาษี แต่ต้นทุนในการค้าระหว่างประเทศและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานของโลก ยังคงมีอยู่ในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะความล่าช้าและความไม่แน่นอนในการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน การผ่านพิธีการศุลกากร และการปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎระเบียบปฏิบัติอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งในท้ายที่สุดผู้บริโภคตกเป็นผู้รับภาระ เนื่องจากต้นทุนดังกล่าวถูกถ่ายโอนไปบวกรวมในราคาของสินค้า ภาคส่วนต่างๆจึงเห็นพ้องกันว่าการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างศักยภาพและความรวดเร็วของกระบวนการศุลกากรปรับปรุงการเก็บภาษีที่ชายแดน และดึงดูดการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยรับมติของที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 9 (MC9) ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จัดทำความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement : TFA) ซึ่ง WTO กำหนดให้ประเทศสมาชิกแสดงการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (Protocol of Amendments) เพื่อให้ผนวก TFA เป็นอีกความตกลงหนึ่งภายใต้ WTO และดำเนินการแจ้งรายการกลุ่มบทบัญญัติ ซึ่งไทยพร้อมปฏิบัติได้ทันทีต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 แล้ว

“ระหว่างนี้กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมการให้สัตยาบัน เพื่อแสดงการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว เพื่อให้ไทยสามารถใช้ความตกลงดังกล่าวได้ทันที เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ภายใต้องค์การการค้าโลก” นางสาวสุนันทา กล่าว

นางสาวสุนันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เล็งเห็นประโยชน์ของความตกลงดังกล่าวจึงได้จัดสัมมนา เรื่อง“ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation : TFA) ลู่ทางและโอกาสการพัฒนาศักยภาพการค้าไทย” ในวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2558 ณ ห้องนภาลัยบอลรูมโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) ภายใต้องค์การการค้าโลก เช่น ความเป็นมาของการจัดทำความตกลง รายละเอียดของความตกลง ข้อบทสำคัญที่จะทำให้กลไกการนำเข้า-ส่งออก มีความสะดวกมากขึ้น ตลอดจนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความตกลงดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวและเตรียมพร้อมใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ภายใต้ WTO

ทั้งนี้ ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า มีสาระสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ระบุข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติให้เกิดความอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เช่น การเผยแพร่กฎระเบียบทั้งมวลที่จำเป็นในการนำเข้า-ส่งออก และผ่านแดน การจัดทำคำวินิจฉัยล่วงหน้าสำหรับการจำแนกพิกัดศุลกากรและการประเมินราคาศุลกากร การให้ทบทวนหรืออุทธรณ์ความเห็นของศุลกากร การกำหนดให้เก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากร ไม่เกินกว่าต้นทุนในการให้บริการ และให้มีระบบการควบคุมความเสี่ยงเพื่อเน้นการตรวจที่เข้มงวดในส่วนที่มีความเสี่ยงสูง และให้ความสะดวกในส่วนที่ความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น และส่วนที่ 2 ระบุรายละเอียดเรื่องข้อกำหนดการให้ความยืดหยุ่นที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด

สำหรับความตกลง TFA ดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนการเงิน ต้นทุนระยะเวลา ภาระปัญหา และความไม่แน่นอน ในการค้าสินค้าระหว่างประเทศ เช่น จะมีการส่งเสริมเสรีภาพในการผ่านแดนของสินค้า (freedom of transit)มากขึ้น เนื่องจากภายใต้ความตกลง TFA กำหนดให้รัฐสมาชิกปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศต่างๆด้วยมาตรฐานเดียวกันลดภาระด้านกาขนส่งสินค้าโดยการดำเนินการล่าช้าเกินควร หรือเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่สมเหตุสมผล สามารถควบคุมต้นทุนและความยุ่งยากจากกระบวนการนำเข้า-ส่งออก ให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น ด้วยการใช้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว และลดความยุ่งยากในการส่งออก เนื่องจากไม่ต้องใช้ระบบการตรวจสินค้าก่อนส่ง เร่งรัดการปล่อยของและพิธีการศุลกากรให้เร็วขึ้น ด้วยการบริหารจัดการที่รวดเร็วและโปร่งใส เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ