นโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จของรัฐบาลนายโจโก วิโดโด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 15, 2015 15:51 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในปี 2558 รัฐบาลอินโดนีเซียโดยนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดี ตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวร้อยละ 5.4-5.8 และตั้งเป้าหมายให้ประเทศอินโดนีเซียมีการผลิตสินค้าอาหารที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในระยะเวลา 3-4 ปี ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมการค้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ สนับสนุนให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สนับสนุนและอุดหนุนปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร สร้างระบบชลประทานเพื่อให้เพียงพอต่อการขยายพื้นที่การเกษตร อีกทั้งเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียใช้นโยบายการปรับลดตัวเลขค่าใช้จ่ายสำหรับการอุดหนุนราคาพลังงาน เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายตามที่วางแผนไว้ได้

นโยบายการปรับลดค่าใช้จ่ายสำหรับการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาลนายโจโก วิโดโด จะเริ่มจากอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแบบต่อหน่วย (fixed per-unit) รวมทั้งมีการปรับราคาน้ำมันทุกเดือนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารของรัฐบาลนายโจโก วิโดโด เนื่องจากประชาชนมองว่า นโยบายนี้จะมีผลทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น โดยประชาชนบางส่วนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานอีกครั้งก่อนที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มใช้นโยบายการปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง รัฐบาลวิเคราะห์ว่า เป็นการลดภาระต่อการใช้งบประมาณอุดหนุนราคาน้ำมันและไม่กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคมากนัก

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มใช้นโยบายนี้เป็นต้นมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนในทิศทางที่ลดลง แต่ราคาน้ำมันขายปลีกในอินโดนีเซียกลับยังคงอยู่ในระดับที่สูง จากรูปที่ 1 และ 2 จะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศอินโดนีเซียนับตั้งแต่นายโจโก วิโดโด เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2557 จนถึงเดือนสิงหาคม 2558 ยังคงอยู่ในระดับเดิม ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 แต่ยังคงมีทิศทางปรับตัวลดลง เหล่านี้ ล้วนทำให้ประชาชนอินโดนีเซียมองว่า รัฐบาลผลักภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนราคาพลังงานมาให้กับประชาชน โดยรัฐบาลของนายโจโก วิโดโด ไม่มีคำอธิบายแก่ประชาชนเรื่องการไม่ปรับลดราคาน้ำมันลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่กดดันราคาน้ำมันขายปลีกในอินโดนีเซีย นั่นคือ สภาวะค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น อาจจะทำให้รัฐบาลต้องพิจารณามากขึ้นในการปรับลดราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนที่จะให้งบประมาณส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงาน นำไปใช้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการบริการสาธารณะต่างๆ เช่น ด้านสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยมีโครงการบัตรเพื่อผู้ที่มีรายได้น้อย (Indonesia Smart Card และ Indonesia Heath Card) ซึ่งเป็นบัตรที่จะทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ รวมทั้ง โปรแกรมเรียนฟรี 12 ปีแก่เด็กนักเรียนที่ยากจน รวมถึงโอกาสเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแก่เด็กที่สอบผ่านแต่ไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายในการสร้างการจ้างงานและเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งหมดนี้ คือ ความตั้งใจของรัฐบาลในการลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้แก่ประชาชน และทำให้การกระจายรายได้ของประเทศดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพของประชาชนอินโดนีเซียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่นายโจโก วิโดโด เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 7.22 เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่หนึ่งและสองของปี 2558 ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.54 และ 7.02 ตามลำดับ ประกอบกับสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารในอินโดนีเซียปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากช่วงเทศกาลถือศีลอด (เทศกาลรอมฎอน) ที่ความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงมาก ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรของอินโดนีเซีย เช่น ข้าว ต่ำกว่าที่รัฐบาลประมาณการไว้ เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่ส่งให้เกิดสภาพอากาศแห้งแล้งในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรต่ำกว่าปกติ ประกอบกับมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศของอินโดนีเซีย ยิ่งตอกย้ำความรุนแรงของปัญหาค่าครองชีพของประชาชนอินโดนีเซียและสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของประเทศ นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ใช้จ่ายงบประมาณไปเพียงร้อยละ 11 ของงบประมาณทั้งหมดที่วางแผนไว้ เนื่องจากปัญหาความล่าช้าของระบบราชการทำให้หลายโครงการต้องเลื่อนการดำเนินการออกไป

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลของนายโจโก วิโดโดไม่สามารถดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายที่เป็นประชานิยมอย่างการผลิตสินค้าอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่ระบบและโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศยังไม่พร้อม รวมถึงผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทำให้เป้าหมายไม่สามารถบรรลุได้ตามที่วางแผนไว้ และส่งผลให้งบประมาณถูกนำไปใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ นั่นเอง

จากนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จและความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลลดลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ราคาสินค้ากลุ่มอาหารปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายโจโก วิโดโด ได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนตุลาคม 2557 โดยมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญ เช่น รัฐมนตรีที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ (Coordinating Minister of Economic Affairs) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า (Minister of Trade) และต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2558 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้ประกาศนโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบ ซึ่งรัฐบาลจะทบทวนกฎระเบียบจำนวน 89 ฉบับที่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการออกใบอนุญาตทางธุรกิจ โดยเน้นการกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เร่งรัดโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสม

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้อินโดนีเซียจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี แต่นโยบายและมาตรการต่างๆ ยังไม่ได้ถูกยกเลิก โดยเฉพาะมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งส่งผลให้ในช่วง 2-3 ปีหลัง มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าล่าสุด อินโดนีเซียมีแผนจะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นเพียงมาตรการรักษาระดับปริมาณข้าวสำรองของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลจะนำข้าวในโกดังออกแจกจ่ายให้ประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาผลผลิตข้าวตกต่ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้ง นโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นเดือนตุลาคม ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา ดังนั้น ประเทศไทยยังคงต้องติดตามนโยบายของอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์และตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศไทย

ที่มา : The Economist Intelligence Unit. "Economic growth remained weak in second quarter".

The Economist Intelligence Unit. "Old habits die hard".

The Economist Intelligence Unit. "President stays firm on infrastructure goals".

The Jakarta Post. "Economic deregulation package announced".

Today Online. "Jokowi's popularity slides after controversial policy moves".

Jakarta Globe. "Jokowi Launches Indonesia Health Card and Smart Card".

The Economic Times. "Rising food prices push Indonesia May inflation to 5 month high".

Indonesia Investments. "Indonesia's July Inflation Rises 0.93% on Higher Food & Transportation Prices".

Indonesia Investments. "Subsidized Fuel Prices Indonesia Raised due to Oil Price & Rupiah".

Oryza. "Indonesia May Face Shortage of Subsidized Rice Stocks by Year End".

Bank of Indonesia

Nasdaq: Crude Oil Brent price

Trading Economics

สำนักอาเซียน

ส่วนบริหารงานทวิภาคี

กันยายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ