ธุรกิจบริการก่อสร้างในประเทศกัมพูชาและโอกาสของผู้ประกอบการไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 23, 2017 15:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ภาพรวมเศรษฐกิจของกัมพูชา

นโยบายการเร่งรัดพัฒนาประเทศของรัฐบาลกัมพูชาทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชาขยายตัวอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปีในช่วง 5 ปี (2555-2559) โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (Asia Development Bank : ADB) คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น (Gross Domestic Product : GDP) ของกัมพูชาจะขยายตัวในอัตรา 7% ในปี 2560 และ 7.2% ในปี 2561 ขณะที่จำนวนประชากรก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยข้อมูลจากกระทรวงแผนงานของกัมพูชา ระบุว่า ในปี 2558 กัมพูชามีจำนวนประชากรประมาณ 15.3 ล้านคนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ 1.4 ล้านคน เมืองเสียมเรียบ 1.3 ล้านคน กรุงสีหนุวิลล์ 1.1 ล้านคน เป็นต้น

นโยบายการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศของกัมพูชาทำให้มีการขยายตัวของการลงทุนในโครงการก่อสร้างและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานอย่างกว้างขวางทั้งโครงข่ายทางน้าทางบก และทางอากาศ ทำให้ความต้องการสินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง อาทิ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ สายไฟและสายเคเบิล เฟอร์นิเจอร์ สินค้า/ของตกแต่งบ้านและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งบริการที่เกี่ยวข้องกับบริการก่อสร้างขยายตัวเพิ่มชึ้น

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) มีมูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 (ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ 4.46 ล้านเหรียญสหรัฐ) นักลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชาได้แก่ จีน (ลงทุนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อสังหาริมทรัพย์) สิงคโปร์ (ลงทุนในภาคบริการเช่น ธนาคาร การประกันภัยและการให้บริการด้านคำปรึกษา) ขณะที่นักลงทุนชาวไทยเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมโรงสีข้าวเสื้อผ้า รองเท้า ซีเมนต์ น้ำดื่ม น้ำผลไม้ แปรรูปมันสำปะหลัง และแปรรูปยางพารา เป็นต้น การลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการย้ายและขยายฐานการผลิตจากไทย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อันมาจากปัจจัยด้านอัตราค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากรัฐบาลกัมพูชา

สถานการณ์ธุรกิจบริการก่อสร้างในกัมพูชา

มูลค่าการลงทุนในธุรกิจบริการก่อสร้างในกัมพูชาในช่วงปี 2543 - 2557 เฉลี่ยปีละ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่ามูลค่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวจะลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก (ช่วงปี 2552 - 2553) แต่ภาคการก่อสร้างได้มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วโดยช่วงปี 2554 - 2557 การลงทุนในธุรกิจบริการก่อสร้างมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลจากกระทรวงการจัดการที่ดิน ผังเมืองและการก่อสร้าง ระบุว่า ในปี 2557 การลงทุนในโครงการก่อสร้างมีมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (จำนวนทั้งสิ้น 1,906 โครงการ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (จำนวนทั้งสิ้น 2,125 โครงการ) ส่วนในปี 2558 กัมพูชาได้อนุมัติจำนวนโครงการก่อสร้างอาคารสูง 5-9 ชั้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ขณะที่อนุมัติจำนวนโครงการก่อสร้างอาคาร 20-29 ชั้น เพิ่มมากกว่า 6 เท่าตัว โดยมีจำนวนเงินลงทุนในไตรมาสแรก 8.08 ล้านเหรียญสหรัฐ

(ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2558 (ข้อมูลล่าสุด) การลงทุนในโครงการก่อสร้างมีมูลค่า 8.08 ล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 915 โครงการ) โดยเป็นโครงการขนาดใหญ่ 60 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6.68 ล้านเหรียญสหรัฐ และอยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการจำนวน 855 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการการลงทุนขนาดเล็กและขนาดกลาง

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 (ข้อมูลล่าสุด) มีบริษัทที่ยื่นขอจดทำเบียนต่อกระทรวงการจัดการที่ดินฯ เพื่อดำเนินธุรกิจก่อสร้าง รวม 1,581 บริษัท และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 กระทรวงการจัดการที่ดินฯ ได้มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้แก่ 124 บริษัทแล้ว (ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทท้องถิ่นจำนวน 86 บริษัท และบริษัทต่างชาติ จำนวน 37 บริษัท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 กระทรวงการจัดการที่ดินฯ ได้ออกใบอนุญาตให้แก่ 134 บริษัท แต่อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรกของปี 2558 (ข้อมูลล่าสุด) มีการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท จำนวนทั้งสิ้น 646 บริษัท (โดยเป็นบริษัทท้องถิ่น จำนวน 444 บริษัท และบริษัทต่างชาติ จำนวน 202 บริษัท)

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างมีการจ้างงานประมาณ 60,000 คน โดยราว 40,000 คน จะทำงานอยู่ใน กรุงพนมเปญ ส่วนอัตราค่าจ้างแต่ละตำแหน่งจะแตกต่างกันไป เช่น วิศวกร สถาปนิกและหัวหน้างานจะได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 15 - 20 เหรียญสหรัฐต่อวันขณะที่แรงงานมีฝีมือจะได้รับค่าจ้าง 8 - 9 เหรียญสหรัฐต่อวันและแรงงานไร้ฝีมือจะได้รับค่าจ้างประมาณ 5 - 7.5 เหรียญสหรัฐต่อวัน

โอกาสทางธุรกิจและช่องทางในการเข้าสู่ตลาดบริการก่อสร้างในกัมพูชา

กัมพูชาเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจในการเข้าไปให้บริการก่อสร้างจากปัจจัยทั้งในแง่ที่ไทยและกัมพูชามีชายแดนติดต่อกันกันต้นทุนด้านการขนส่งและค่าจ้างแรงานในกัมพูชาที่ถูกและมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับในประเทศไทยความพร้อมของบุคลากรให้การเข้าไปให้บริการด้านก่อสร้างรวมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ/อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น กล่าวคือ

1.สินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง : แม้กัมพูชานำเข้าวัสดุก่อสร้างจากจีนมากเป็นอันดับหนึ่งแต่สินค้าวัสดุก่อสร้างจากไทยก็ได้รับความไว้วางใจและมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นจากกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคุณภาพและมาตรฐานสินค้า โดยสินค้าที่เกี่ยวข้องกับก่อสร้างจากไทยยังเป็นทางเลือกในอันดับต้นๆ ในโครงการของนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหรัฐฯและสหภาพยุโรป เป็นต้น

2.สินค้าในกลุ่มเครื่องเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน : ชาวกัมพูชามีนิยมชื่นชอบ และเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทยและราคาที่เหมาะสมการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้างในกัมพูชาจึงเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างนอกเหนือจากวัสดุ/อุปกรณ์ก่อสร้า เช่น เฟอร์นิเจอร์ สินค้าของใช้/ของตกแต่งบ้านอาคาร และสำนักงานต่างๆ

3. การให้บริการด้านวิศวกรรม/สถาปัตยกรรม และการออกแบบ : ไทยมีศักยภาพในการเข้าไปให้บริการในกัมพูชาในการให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบอาคาร การวางแผน และการบริหารจัดการ การติดตั้งงานวิศวกรรมโยธา เป็นต้น นอกเหนือจากการที่ผู้ประกอบการไทยเข้าไปร่วมทุนกับกัมพูชาด้านบริการก่อสร้าง ปัจจุบัน กัมพูชาได้ผูกพันการเปิดตลาดบริการก่อสร้าง1ในกรอบข้อตกลงด้านการค้าบริการของอาเซียน กล่าวคือ กัมพูชาอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% และนักลงทุนชาวต่างชาติต้องให้การอบรมพนักงานกัมพูชาอย่างสม่ำเสมอและสนับสนุนให้พนักงานกัมพูชาได้รับตำแหน่งอาวุโสในบริษัทที่ถือหุ้นส่วนการให้บริการโดยบุคคลธรรมดากัมพูชามีข้อกำหนดให้นักลงทุนชาวต่างชาติจำเป็นต้องมีสถานประกอบการในกัมพูชาก่อนจึงจะสามารถให้บริการข้ามพรมแดน (Mode 1 : Cross Boarder Supply) ได้และผู้ที่จะเข้ามาให้บริการธุรกิจก่อสร้างดังกล่าวในกัมพูชาจะต้องเป็นผู้โอนย้ายระหว่างบริษัทในเครือ (Intra-Corporate-Transferee : ICT) ระดับบริหารจัดการและผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

4. บริการบริหารจัดการอาคารและสถานที่ บุคลากรในกัมพูชายังคงขาดความรู้ความสามารถและทักษะในการบริหารจัดการอาคาร จึงจำเป็นต้องจ้างผู้จัดการหรือผู้บริหารจากต่างชาติ เข้ามาช่วยดูแลกิจการ โดยผู้บริหารจากประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้บริการดังกล่าว

ช่องทางสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการก่อสร้างในกัมพูชา

1.ผู้ผลิตสินค้า (เช่น วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์) มีรูปแบบในการทำธุรกิจ คือ

1.1 ขายสินค้าผ่านตัวแทนในประเทศ : เหมาะสำหรับผู้ผลิตขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่มีบุคลากรจำกัดหรือมีสินค้ายังไม่หลากลายการเปิดตลาดต่างประเทศอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ

1.2 ขายสินค้าผ่านตัวแทนในต่างประเทศ : เหมาะสำหรับผู้ผลิตขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ซึ่งมีงบประมาณ บุคลากร และมีศักยภาพในการทำการค้าระหว่างประเทศ แต่อาจยังไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตลาดภายในกัมพูชา ทั้งนี้ การขายสินค้าผ่านตัวแทนในต่างประเทศจึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจในกัมพูชาแต่มีข้อระวังในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายและสิทธิในการจำหน่ายสินค้าให้ชัดเจนรวมถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศกัมพูชาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง

1.3 การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในกัมพูชากับบริษัทท้องถิ่น : เหมาะสำหรับสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ โดยอาจจะเริ่มจากขั้นตอนการขายสินค้าผ่านตัวแทนในประเทศเพื่อศึกษาคู่ค้าให้แน่ใจก่อนที่จะลงทุนร่วมกัน

1.4 การจัดตั้งบริษัทในกัมพูชา : เหมาะสำหรับสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ และผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาลงทุนในกัมพูชาด้วยตนเอง

2. ผู้ประกอบการที่ให้บริการ ทางวิศวกรรม การออกแบบ หรือการบริหารจัดการอาคารและสถานที่ มีรูปแบบในการทำธุรกิจดังนี้

2.1 การให้บริการโดยไม่ต้องจัดตั้งบริษัทในกัมพูชา : สำหรับบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมบริการด้านการออกแบบ หรือบริการที่เกี่ยวเนื่องที่มีชื่อเสียง บางรายอาจเดินทางเข้ามาในกัมพูชาเพื่อแนะนำและเสนอผลงานรวมทั้งสร้างโอกาสในการได้รับงานต่างๆ เอง

2.2 การจัดตั้งบริษัทเพื่อให้บริการในประเทศ : เหมาะสำหรับบริการ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง หรือการบริหารจัดการอาคารและสถานที่ กฎหมายมีข้อกำหนดให้ต้องจัดตั้งบริษัทในกัมพูชา และขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สามารถจัดตั้งได้ทั้งรูปแบบบริษัทร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น หรือบริษัทต่างชาติ นอกจากนี้ การให้บริการคำปรึกษาทางวิศวกรรมบริการด้านการออกแบบ หรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาจจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทในกัมพูชาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและสร้างความเชื่อมมั่นว่าบริษัทมีตัวตนอยู่จริง

ปัจจัยที่ต้องพึงระวังและพิจารณา

1. แรงงาน กัมพูชามีจำนวนแรงงานที่มากพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น และค่าจ้างรายวันขั้นต่ำกว่าไทย 3 เท่าตัวแต่แรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่มีปัญหาด้านผลิตภาพแรงงานที่ต่ำกว่าไทย 3 เท่าเช่นกันกัมพูชายังคงขาดแคลนแรงงานช่างเฉพาะด้าน อาทิ ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า และช่างประปา ที่มีความจำเป็นต่อการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ปัญหาด้านผลิตภาพแรงงานยังส่งผลต่อต้นทุนด้านอื่น นอกเหนือจากต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเวลาส่งมอบงานที่ล่าช้าลง หากผู้รับเหมาไทยมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ จะทำให้มีต้นทุนดอกเบี้ยที่เกิดจากระยะเวลาการกู้ยืมที่ยาวนานขึ้น

2. ต้นทุนแฝงจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นต้นทุนที่เกิดจากความไม่พร้อมของสาธารณูปโภค และระบบขนส่งของกัมพูชาส่งผลให้ราคาชายวัสดุก่อสร้างซึ่งโดยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศรวมทั้งไทยมีราคาที่สูงนอกจากนี้ ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มขาเข้าก็จะต้องคิดภาษีร้อยละ 10 สำหรับสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคลในกัมพูชา

1. สถานประกอบการและตัวแทน : กฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลทุกประเภท ต้องมีสำนักงานที่ได้รับการรับรองตั้งอยู่ในกัมพูชาพร้อมตัวแทนของบริษัทในการดำเนินการต่างๆ นอกจากนี้ สำนักงานตัวแทนไม่สามารถซื้อขายสินค้าและบริการแก่ลูกค้าได้โดยจะทำหน้าที่เป็นเพียงศูนย์ข้อมูล ข่าวสาร และประชาสัมพันธ์

2. จำนวนผู้ถือหุ้น : สำหรับการจัดตั้งบริษัทจำกัด กฎหมายของกัมพูชากำหนดให้มีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 คนในกรณีที่มีผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวจะเรียกว่า Single Member Private Limited Company

3. จำนวนหุ้นและทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ : กฎหมายกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำไว้เท่ากับ 4 ล้านเรียลกัมพูชา (KHR) หรือประมาณ 1 พันเหรียญสหรัฐ และกำหนดให้ต้องแบ่งหุ้นเป็น 1 พันหุ้น มูลค่าขั้นต่ำสุดหุ้นละ 1 เหรียญสหรัฐ

4 ค่าดำเนินการในการจดทะเบียน : การจดทะเบียนสำหรับการจัดตั้งนิติบุคคลในกัมพูชา จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1 พันเหรียญสหรัฐ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนด้านภาษี 635 เหรียญสหรัฐ และค่าธรรมเนียมตรวจสอบการจ้างงาน 250 เหรียญสหรัฐ

5. การถือหุ้นในบริษัท : กฎหมายกัมพูชาอนุญาตให้ผู้ปะกอบการต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้ 100% โดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น และมีสิทธิ์เท่าเทียมกับบริษัทท้องถิ่น ยกเว้นในเรื่องสิทธิการซื้อและถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเช่าที่ดินเป็นระยะเวลาได้ถึง 50 ปี

6. การจ้างงาน : บริษัททั่วไปสามารถจ้างจำนวนชาวต่างชาติได้ 10% ของจำนวนการจ้างงานทั้งหมดของบริษัทโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงแรงงานกัมพูชานอกจากนี้ พนักงานชาวต่างชาติทุกคน จะต้องมีวีซ่าประเภทธุรกิจ โดยมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมปีละ 300 เหรียญสหรัฐ และใบประกอบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมปีละ 200 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ กฎหมายกัมพูชาได้กำหนดให้การประกอบธุรกิจบางประเภทต้องขออนุญาตจากกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ ประกอบด้วย

กิจการที่จะต้องการขอรับส่งเสริมการลงทุน โดยจะต้องขอใบอนุญาตหรือเอกสารรับรองจากสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งกัมพูชา

บริษัทหรือบุคคลที่ต้องการดำเนินกิจการก่อสร้าง วิศวกรรมโยธาโดยจะต้องขอใบอนุญาตหรือเอกสารประกอบการทำงานจากกระทรวงการจัดการที่ดิน ผังเมืองและการก่อสร้างแห่งกัมพูชา

สำนักการค้าบริการและการลงทุน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มีนาคม 2560

เอกสารอ้างอิง

1. สถิติข้อมูล GDP จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ปี 2558

2. สถิติข้อมูลการอนุมัติการก่อสร้างอาคารสูง ปี 2558 และสถิติข้อมูลจำนวนบริษัทและตลาดแรงงาน ปี 2558 จากกระทรวงการจัดการที่ดิน ผังเมืองและการก่อสร้าง กัมพูชา

3. สถิติข้อมูลจำนวนประชากรประจำปี 2558 จากกระทรวงแรงงาน กัมพูชา

4. สถิติข้อมูลมูลค่าการลงทุนด้านการก่อสร้าง ปี 2558 จากกระทรวงการจัดการที่ดิน ผังเมืองและการก่อสร้าง กัมพูชา

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ