‘พาณิชย์’ จับมือสมาคมกาแฟไทยลงพื้นที่จังหวัดน่าน ยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างอัตลักษณ์ ใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายการส่งออกกาแฟไทยสู่ตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2019 13:55 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับสมาคมกาแฟไทย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร โรงคั่วและผู้ประกอบการร้านกาแฟในจังหวัดน่านและจัดสัมมนา เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2562 พบอุตสาหกรรมกาแฟไทยยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ตามแนวโน้มความต้องการบริโภคกาแฟโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ขอให้เกษตรกรเน้นคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน สร้างอัตลักษณ์เฉพาะ และใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เพิ่มส่วนแบ่งกาแฟไทยในตลาดโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับสมาคมกาแฟไทยลงพื้นที่พบปะเกษตรกร โรงคั่ว และผู้ประกอบการร้านกาแฟจังหวัดน่าน แนะช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ขยายการส่งออกกาแฟไทยและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งโอกาสในการนำเข้าวัตถุดิบที่หลากหลายเพื่อการต่อยอด โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2561 ที่ได้ดำเนินการต่อจาก จ.เชียงราย และ จ.ชุมพร ทั้งนี้ เนื่องจากกาแฟเป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่การผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการลงพื้นที่และจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงได้เชิญทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ ผู้ประกอบการร้านกาแฟ และผู้ส่งออก เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับอุตสาหกรรมกาแฟไทย

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่พบว่า เกษตรกร โรงคั่ว และผู้ประกอบการร้านกาแฟใน จ.น่าน มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งสมาคมกาแฟไทยมีโครงการส่งเสริมการพัฒนากาแฟที่มีคุณภาพในพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่การนำพันธุ์กาแฟมาให้เกษตรกรปลูก แนะนำวิธีการแต่งกิ่ง ปรับปรุงดิน ไปจนถึงวิธีการเก็บเกี่ยว แนะนำโรงคั่วที่รับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรถึงวิธีเก็บรักษา การตาก ไปจนถึงการคัดแยกเมล็ดกาแฟ ก่อนนำไปส่งต่อให้โรงงานแปรรูปนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟต่อไป ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพบว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเฉลี่ย 7 กิโลกรัมต่อต้น เป็น 14 กิโลกรัมต่อต้น คุณภาพดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรและโรงคั่วมีรายได้สูงขึ้น

ในส่วนของผู้ประกอบการร้านกาแฟย้ำว่า ต้องการกาแฟที่มีคุณภาพดี มีความสม่ำเสมอ และมาจากแหล่งเพาะปลูกที่หลากหลายในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างเรื่องราว และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า รวมทั้งยังมีโครงการที่จะส่งเสริมอัตลักษณ์กาแฟน่าน โดยการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และเชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตกาแฟทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีความเข้าใจตรงกัน ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน จะทำให้อุตสาหกรรมกาแฟไทยเติบโตและพัฒนาขึ้น

จากสถิติในปี 2561 ไทยผลิตเมล็ดกาแฟดิบได้ 23,000 ตัน แต่มีความต้องการใช้ถึง 95,000 ตัน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น กาแฟ 3 in 1 และกาแฟสำเร็จรูป ติดอันดับ 6 ของโลก โดยส่วนใหญ่ส่งไปประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สปป.ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย และส่วนใหญ่ไม่เก็บภาษีนำเข้ากาแฟและผลิตภัณฑ์จากไทย นอกจากนี้ เนื่องจากไทยยังมีการเก็บภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศอาเซียน ร้อยละ 5 และจากประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ ร้อยละ 30 ภายใต้โควต้า 5.25 ตันต่อปี และร้อยละ 90 หากนำเข้าเกินโควตา จึงทำให้การนำเข้ากาแฟจากประเทศนอกอาเซียนมีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการโรงคั่วจึงขาดเมล็ดกาแฟดิบที่หลากหลาย เพื่อนำมาผสมตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจำเป็นต้องร่วมกันพิจารณาหามาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์การค้าปัจจุบัน”นางอรมน กล่าวเสริม

นอกจากนี้ กรมฯ ยังร่วมกับสมาคมกาแฟไทย หอการค้าไทย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน จัดสัมมนาในวันที่ 25 มกราคม 2562 ที่โรงแรมน้ำทองน่าน จ.น่าน ในประเด็น “โอกาสของตลาดกาแฟไทยจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้กาแฟน่านสู่ตลาดต่างประเทศ”โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคั่ว ผู้ประกอบการร้านกาแฟ จากจังหวัดน่านและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วม กว่า 80 คน เพื่อย้ำความสำคัญของการผลิตกาแฟคุณภาพ เพิ่มโอกาสการขยายส่วนแบ่งกาแฟไทยสู่ตลาดโลกด้วยการค้าเสรี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

25 มกราคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ