‘กรมเจรจา’ เผย FTA ดันส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไทยโตกระฉูด หวังผลักดันการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียนให้สำเร็จ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 8, 2019 14:42 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปลื้มผลของเอฟทีเอทำส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยพุ่ง ในตลาดออสเตรเลียและอาเซียน หวังใช้โอกาสการเป็นประธานอาเซียน ผลักดันการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียนให้สำเร็จ หลังใช้เวลาเจรจายาวนานถึง 13 ปี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลสินค้าส่งออกของไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า (อาเซียน จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง) พบว่ายานยนต์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าสำคัญของไทยที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากเอฟทีเอ โดยส่งผลให้ออสเตรเลีย เป็นตลาดส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของไทย รวมทั้งอาเซียนและนิวซีแลนด์ตามลำดับ

ในปี 2561 การส่งออกรถยนต์ของไทยไปออสเตรเลีย มีมูลค่าสูงถึง 5,845.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 55 ของการส่งออกไทยไปออสเตรเลีย) เพิ่มขึ้นจากปี 2548 (เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียมีผลใช้บังคับ) ถึงร้อยละ 399 และส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 5,392 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2536 (เอฟทีเอระหว่างอาเซียนมีผลใช้บังคับ) ถึงร้อยละ 35,142 ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย และเอฟทีเอระหว่างอาเซียน พบว่ารถยนต์เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิเป็นอันดับต้น ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์อันดับหนึ่งของไทย มูลค่า 6,018 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยสหรัฐฯ (มูลค่า 3,835.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,977.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) และจีน (มูลค่า1,683 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ

นางอรมน เสริมว่า ปัจจุบัน จีนและอินเดียยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทย โดยจีนกำหนดให้รถยนต์นั่งและรถบรรทุกส่วนใหญ่อยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูงที่ยังเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 25 ขณะที่อินเดียไม่ผูกพันการลดภาษีนำเข้า ไทยจึงต้องเสียภาษีตามอัตรา MFN ที่ร้อยละ 10-100 สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญของไทย เช่น ยางล้อรถยนต์ อินเดียยังเก็บอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 5 เครื่องยนต์ อินเดียและจีนยังเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 5 และกระปุกเกียร์ จีนเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 5 เป็นต้น ซึ่งไทยจะต้องผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติมเพื่อหาตลาดใหม่ให้กับยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยต่อไป

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไทยใช้โอกาสในการเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ร่วมกับสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ผลักดันให้การจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียนเป็นผลสำเร็จ หลังจากใช้เวลาในการเจรจายาวนานถึง 13 ปี (ตั้งแต่ปี 2548) ซึ่งหลังจากนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อร่วมลงนามเอกสารความตกลงฯ ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ความตกลงฯ จะส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นผู้นำเข้า ต้องยอมรับผลการตรวจสอบรับรองยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศอาเซียนที่เป็นผู้ส่งออกโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดระยะเวลา ขั้นตอนการส่งออก-นำเข้า และตรวจปล่อยสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนระหว่างอาเซียนได้มากขึ้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการสร้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเมียนมา ในปี 2561 รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ไทยส่งออกรถยนต์ไปตลาดโลก มูลค่า 19,409.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปตลาดโลก) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 4.7 โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย อาเซียน และนิวซีแลนด์ (ร้อยละ 62.4 ของการส่งออกรถยนต์ไทยไปตลาดโลก) สำหรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์สู่ตลาดโลก มีมูลค่า 24,586.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 9.4 ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน (ร้อยละ 24.5 ของการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยไปตลาดโลก) สหรัฐฯ (ร้อยละ 15.6) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 12.1) และจีน (ร้อยละ 6.8) ตามลำดับ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

3 พฤษภาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ