เอกชน ยิ้ม! เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าและพิธีการทางศุลกากรใน RCEP ยืดหยุ่นและสะดวกกว่าเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2021 13:10 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ เผย เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าและพิธีการทางศุลกากรในความตกลง RCEP ยืดหยุ่นและสะดวกมากขึ้น เพิ่มทางเลือกในการใช้แหล่งวัตถุดิบ ย่นระยะเวลาดำเนินการทางศุลกากร สะกิดภาคเอกชนเร่งศึกษารายละเอียด เชื่อ! ได้ประโยชน์เต็มๆ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไทยร่วมกับ 14 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลงนามความตกลง RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) และอยู่ระหว่างเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบให้สัตยาบัน โดยความตกลง RCEP ถือเป็นเอฟทีเอระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และไทยส่งออกไปยังตลาด RCEP เกือบ 60% ของการส่งออกโดยรวมของไทย

นางอรมน กล่าวว่า ประโยชน์สำคัญของการเปิดตลาดสินค้าของความตกลง RCEP ที่เพิ่มเติมจากเอฟทีเอที่อาเซียนมีกับประเทศคู่ค้า 5 ประเทศ (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) คือ กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ความตกลง RCEP เปิดโอกาสให้สินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิก RCEP หรือที่เรียกว่าสินค้า ?Made in RCEP? ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสมาชิก RCEP ด้วยกัน ตัวอย่างสินค้าที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า อาทิ สินค้าอาหารสัตว์ สมาชิกสามารถผลิตอาหารสัตว์โดยใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนพิกัดศุลกากร ซึ่งเป็นการปรับปรุงเกณฑ์จากเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ที่กำหนดเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าจากการเพิ่มมูลค่าการผลิตสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว สินค้าอาหารปรุงแต่งเพื่อส่งออก เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถใช้วัตถุดิบเนื้อสัตว์และประมงจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก RCEP ได้ หากกระบวนการผลิตที่สำคัญเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นการปรับปรุงเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ในเอฟทีเอที่อาเซียนทำกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่กำหนดเงื่อนไขให้ต้องใช้วัตถุดิบในภาคีความตกลงเท่านั้น เป็นต้น

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ความตกลง RCEP ถือเป็นความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของอาเซียนที่มีการจัดทำกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในทุกรายการสินค้า (Product Specific Rules หรือ PSRs) แทนการใช้กฎทั่วไป (General Rules) ทำให้เป็นเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับแต่ละสินค้า โดยที่ผ่านมาไทยมีข้อจำกัดที่ทำให้ประสบปัญหาการใช้สิทธิ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการผลิตแต่ไม่มีแหล่งวัตถุดิบหลัก ซึ่งความตกลง RCEP ได้ปรับปรุงเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าให้สะท้อนกระบวนการผลิตสินค้าที่แท้จริง และยังให้ความยืดหยุ่นมากกว่าความตกลงเอฟทีเอที่ผ่านมาของอาเซียน ผู้ประกอบการไทยจึงมีทางเลือกเพิ่มขึ้นว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง RCEP หรือสิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอเดิม

นอกจากนั้น ความตกลง RCEP มีการปรับปรุงพิธีการศุลกากรให้มีความชัดเจน รวดเร็ว โปร่งใส มากขึ้น อาทิ การตรวจปล่อยสินค้าที่รวดเร็ว (สินค้าเร่งด่วนและสินค้าที่เน่าเสียง่าย ภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไป ภายใน 48 ชั่วโมง) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถยื่นเอกสารและข้อมูลการนำเข้าสินค้าก่อนที่สินค้ามาถึง (Pre-arrival)ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของประเทศสมาชิกได้ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ระบุรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ไว้ จึงถือว่า RCEP มีการยกระดับเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีศุลกากรแก่ผู้ประกอบการให้สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดในการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น? นางอรมน เสริม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

1 มกราคม 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ