‘กรมเจรจาฯ’ ชี้ ความต้องการสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปเพิ่มช่วงโควิด แนะใช้ FTA ดันส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 7, 2021 13:11 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ ผลพวงจากโควิด-19 ทำความต้องการสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ไทยส่งออกเพิ่ม 6% ส่วนมากเป็นตลาดที่ไทยมี FTA อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แนะใช้ FTA เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปมากขึ้น โดยสินค้าดาวรุ่ง คือ สินค้าผักกระป๋องและแปรรูป ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 6 ของโลกรองจากสหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และตุรกี รวมทั้งมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 ไทยส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปสู่ตลาดโลก มูลค่า 455 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยตลาดส่งออกสำคัญมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น มูลค่า 91.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2%) อาเซียน มูลค่า 65 ล้านเหรียญ-สหรัฐ (+18%) (ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (+27%) มาเลเซีย (+16%) และสิงคโปร์ (+58%)) สหรัฐอเมริกา มูลค่า 62.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (+17%) และเกาหลีใต้ มูลค่า 32.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (+27%)

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ ข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป มีสัดส่วน 44% ของการส่งออกทั้งหมด โดยไทยส่งออกมูลค่า 201.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (+12%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปอื่นๆ มีการขยายตัวเช่นเดียวกัน อาทิ หน่อไม้ฝรั่งกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 15.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (+30%)ผักดองด้วยน้ำส้มสายชู มูลค่า 12.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4%) เห็ดแปรรูป มูลค่า 11.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+8%) และผักกระป๋องและผักแปรรูปอื่นๆ มูลค่า 194.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2%)

นางอรมน กล่าวว่า ผู้ประกอบการสามารถขยายการส่งออกและสร้างแต้มต่อในการเข้าสู่ตลาดของประเทศคู่ค้าโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีอยู่ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยอาเซียน 9 ประเทศจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผักกระป๋องและผักแปรรูปจากไทยแล้ว สำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปบางส่วน นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีสินค้าบางรายการ เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าสินค้ามะเขือเทศแปรรูป 1-16% มันฝรั่งแปรรูป 1.1% และผักผสมแปรรูป 17% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป มันฝรั่งแปรรูป 5% และกิมจิ 16% อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปกลุ่มข้าวโพดหวาน ถั่ว มันฝรั่ง และมะเขือเทศ 30% และเปรู เก็บภาษีนำเข้าสินค้ามันฝรั่งแปรรูปและมะเขือเทศกระป๋องและแปรรูป 6%

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกผักกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 469.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+10%) โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ มูลค่า 286.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (+14%) คิดเป็นสัดส่วน 61% ของการส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในปี 2562 กับปีก่อนที่เอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้พบว่า การส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปของไทยไปตลาดคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น 38% อาเซียน 1,757% จีน 13,525% เกาหลีใต้ 410% ออสเตรเลีย 256% และฮ่องกง 63% เป็นต้น

?จากการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการสินค้าผักกระป๋องและแปรรูปในตลาดโลก คาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงและเติบโตได้ดีในระยะยาว เพราะตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน และนิยมดูแลสุขภาพจึงบริโภคผักมากขึ้น โดยไทยมีข้อได้เปรียบด้านการเพาะปลูกพืชผักนานาชนิด และมีจุดแข็งด้านการผลิตที่มีมาตรฐานอาหารปลอดภัยตามหลักสากล จึงมีโอกาสขยายการส่งออกผักกระป๋องและแปรรูปได้เพิ่มขึ้น? นางอรมน เสริม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

5 มกราคม 2564

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ