‘อาเซียน’ จับมือ จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เดินหน้าอัพเกรด FTA ต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 17, 2022 13:30 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?อาเซียน? หารือ จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เดินหน้ายกระดับความตกลง ACFTA และ AKFTA และเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เผยการหารือกับจีน มุ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ส่งเสริม MSMEs เศรษฐกิจดิจิทัล-เศรษฐกิจสีเขียว ด้านเกาหลีใต้ เตรียมลงนาม MoU จัดตั้งศูนย์ AKIIC ส่วนญี่ปุ่น เตรียมรับรองการปรับโอนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ มี.ค. ปีหน้า พร้อมผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น อย่างเป็นรูปธรรม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนกับจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 9 -10 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อหารือการยกระดับความตกลงการค้าเสรี การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการค้าดิจิทัล การทบทวนแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ และในอนาคต พร้อมทั้งเตรียมการประเด็นที่จะเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับอาเซียนกับจีนอยู่ระหว่างหารือเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรี (ACFTA) โดยมีประเด็นที่ต้องดำเนินการ คือ การเจรจาเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมและการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน และการหารือความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การส่งเสริม MSMEs เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะต้องร่วมกันจัดทำการศึกษาก่อนที่จะเริ่มการเจรจา โดยไทยในฐานะผู้ประสานงานของความตกลง ACFTA ได้กล่าวย้ำว่า ต้องเร่งดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จก่อนเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ให้ความเห็นชอบในเดือน ก.ย. นี้ เพื่อให้สามารถประกาศเริ่มการเจรจาต่อไป นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางความร่วมมือเพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการดำเนินการในขั้นต่อไปของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในส่วนของการหารือกับเกาหลีใต้ ได้เร่งให้ทีมวิจัยเสนอผลการศึกษาร่วมเพื่อยกระดับความตกลง AKFTA ภายในเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อให้ความเห็นเบื้องต้นก่อนที่จะนำเสนอผลการศึกษาร่วมฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ สำหรับเกาหลีใต้อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยด้านการค้าดิจิทัล และศึกษาความเป็นไปได้ในการเจรจาข้อบทด้านการค้าดิจิทัลกับอาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เร่งรัดคณะทำงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ AKFTA ดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของตารางลดภาษีและตารางกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 ซึ่งเป็นไปตามการปรับโอนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ทุกๆ 5 ปี ขององค์การศุลกากรโลก รวมทั้งการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับเกาหลีใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ (ศูนย์ AKIIC) ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ หรือการประชุมผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ ในเดือน พ.ย. นี้ สำหรับเกาหลีใต้ยังแสดงความพร้อมที่จะต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนผ่านกลไกต่างๆ อาทิ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม การจัดทำแผนงานนโยบายสตาร์ทอัพ และโครงการ TASK ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญของเกาหลีใต้ ให้แก่ผู้ประกอบการอาเซียนในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมและสตาร์ทอัพต่อไป

นางอรมน เสริมว่า สำหรับการประชุมกับญี่ปุ่น ได้เตรียมรับรองการปรับโอนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์เป็นฉบับปี 2017 ของกฎถิ่นกำเนิดรายสินค้าเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลง AJCEP ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลง AJCEP (AJCEP ? JC) ครั้งที่ 20 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ? 24 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้การปรับโอนพิกัดศุลกากรดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ อินโดนีเซียได้ให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP แล้ว ทำให้พิธีสารฯ มีผลใช้บังคับกับทุกประเทศ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้ผลักดันข้อเสนอเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน ? ญี่ปุ่น อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี อาเซียน ? ญี่ปุ่น ในปี 2566 อาทิ แนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอาเซียน ? ญี่ปุ่น และวิสัยทัศน์การสร้างความร่วมมือทางธุรกิจอาเซียน ? ญี่ปุ่น อย่างสร้างสรรค์ (ASEAN ? Japan Business Co - Creation Vision 2023) และยังได้เสนอเอกสารการทบทวนแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน ? ญี่ปุ่นให้ทันสมัยเพื่อให้อาเซียนพิจารณาให้ความเห็นต่อไปอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 34,574.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.9 ส่วนการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 5,645 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 2,173 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 3,472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 20,086.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 8,394.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 11,692.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

16 มิถุนายน 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ