‘นภินทร’ ถกเกาหลีใต้ ประกาศเปิดเจรจา FTA ต้นปีหน้า หนุนผู้ประกอบการไทยลงทุนในเปรู ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2023 13:54 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?นภินทร? หารือเกาหลีใต้ จับมือประกาศเริ่มเจรจา FTA ต้นปีหน้า ผลักดันให้ปรับภาษีนำเข้าน้ำมะพร้าวแท้ 100% ของไทยเหลือ 0% ชวนลงทุนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีเขียวใน EEC ผนึกกำลังเปรู สานต่อเจรจา FTA เปิดตลาดการค้าสินค้าส่วนที่เหลือ ดันผู้ประกอบการไทยลงทุนด้านการแปรรูปอาหารในเปรู หารือจีนฮ่องกง เล็งขยายการค้าการลงทุนสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ช่วยกระจายสินค้าไทยไปตลาดจีน

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้พบหารือกับนายอัน ด๊อก-กึน (Mr. Ahn Deuk-Geun) รัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ นายฮวน คาร์ลอส แมทธิว ซาลาซาร์ (Mr. Juan Carlos Mathews Salazar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู และนายแอลเจอร์นอน เยา (Mr. Algernon Yau) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 34 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

นายนภินทร กล่าวว่า การหารือกับเกาหลีใต้ ทั้งสองฝ่ายเห็นถึงประโยชน์ของการจัดทำ FTA ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการเปิดเสรีเพิ่มเติมจาก FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ที่มีอยู่แล้ว และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเฉพาะการเปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่ได้ลดเลิกภาษีศุลกากร ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยเพิ่มขึ้น โดยเกาหลีใต้มองว่าไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าสำคัญ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายอื่นๆ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพช่วงต้นปี 2567

นอกจากนี้ ได้ชวนเกาหลีใต้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ (soft power) ให้แก่ไทย เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นแบบอย่างของการดำเนินนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีเขียว ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ และจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ไทยยังได้ผลักดันให้ศุลกากรของเกาหลีใต้ เร่งออกประกาศเพื่อปรับภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าน้ำมะพร้าวแท้ 100% ในอัตรา 0% ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งจากเดิมที่ปรับขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้า อยู่ที่ 40% มาตั้งแต่ปี 2562 เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลก ซึ่งคาดว่าศุลกากรของเกาหลีใต้จะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567

ส่วนการหารือกับเปรู ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะสานต่อการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-เปรู (Thailand-Peru Closer Economic Partnership : TPCEP) ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้าส่วนที่เหลืออยู่ 30% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด และการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทยที่ต้องการผลักดันและขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก FTA ในกรอบต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับภาคเอกชนไทยในการเข้าสู่ตลาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ สองฝ่ายจะกำหนดเป้าหมายให้มีการบรรลุผลเจรจาภายในปีหน้า ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์การเจรจาที่เป็นรูปธรรม และสร้างแต้มต่อให้กับเอกชนของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน โดยเปรูเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสชาติและคุณสมบัติที่โดดเด่น อาทิ องุ่นสด อะโวคาโด และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ซึ่งสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในด้านการแปรรูปอาหาร เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าในเปรู ซึ่งหากการเดินหน้าสานต่อการเจรจา TPCEP เป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการหารือกับฮ่องกง ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพของฮ่องกงในฐานะประตูสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Greater Bay Area ซึ่งจะช่วยกระจายสินค้าศักยภาพของไทยไปตลาดจีน โดยผู้บริโภคในฮ่องกงนิยมสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ข้าว (ข้าวหอมมะลิ) และผลไม้ไทย (ทุเรียน ลำไย มังคุด) รวมทั้งเนื้อสุกร ซึ่งครองตลาดเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกไปฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ เน้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งไทยมีความโดดเด่นด้านอนิเมชั่นและบริการในส่วนของขั้นตอนภายหลังการถ่ายทำ (Post Production) จึงขอให้จีนฮ่องกงสนับสนุนผู้ประกอบไทยที่เข้าร่วมงาน Hong Kong International Film and TV Market (FILMART) ซึ่งไทยจะได้จัดตั้ง Thailand Pavilion ภายในงาน เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างและต่อยอดศักยภาพของไทยในจีนฮ่องกง และตลาดโลก

ทั้งนี้ ไทยได้ขอบคุณจีนฮ่องกงที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของไทย เข้าร่วมโครงการ ?Idea Landing Program? เพื่อบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยเป็นประเทศแรก ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสตาร์ทอัพและสร้างเครือข่ายเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจระหว่างไทยและจีนฮ่องกง ขณะเดียวกันไทยพร้อมจะเป็นเป้าหมายให้สตาร์ทอัพของจีนฮ่องกงเข้ามาลงทุน และเป็นประตูเชื่อมต่อสู่อาเซียน นอกจากนี้ จีนฮ่องกงขอให้ไทยสนับสนุนการเข้าร่วมความตกลง RCEP ซึ่งไทยยินดีสนับสนุน โดยคาดว่ากระบวนการเจรจาเพื่อเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวของจีนฮ่องกง จะราบรื่นและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค

17 พฤศจิกายน 2566

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ