‘พาณิชย์’ เร่งสรุปแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 27, 2024 14:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?พาณิชย์? เผย ผลการจัดทำแผนงาน/กิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) คืบหน้าอย่างมาก เดินหน้าขับเคลื่อน 8 สาขาเศรษฐกิจ ทั้งเกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา การค้าดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลงทุนและพลังงาน มุ่งส่งเสริม SMEs ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับภาคธุรกิจ เน้น Soft Power ด้านภาพยนตร์ Digital content คาดเซก้าจะช่วยการค้าสองฝ่ายขยายตัวและเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดทำแผนงาน/กิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) หรือ เซก้า ระหว่างไทยและออสเตรเลีย คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายได้ขับเคลื่อนความแน่นแฟ้นทางเศรษฐกิจใน 8 สาขา ได้แก่ (1) เกษตร ระบบอาหารที่ยั่งยืน และเทคโนโลยี (2) การท?องเที่ยว (3) บริการสุขภาพ (4) การศึกษา (5) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (7) การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน และ (8) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียวและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจระหว่างกัน และการยกระดับขีดความสามารถของไทย รวมถึงส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาข้างต้น เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นางสาวโชติมา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและมีกิจกรรมที่ครอบคลุมการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) การส่งเสริมภาคเกษตรโคนม การท่องเที่ยวและกีฬาทั้งในด้านการท่องเที่ยวชุมชน ผจญภัย และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ การสนับสนุนการศึกษาด้านหลักสูตรและบุคลากรทางการศึกษา การให้ความสำคัญกับ SMEs การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีมาตรฐาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับภาคธุรกิจ มุ่งเน้น Soft Power ของไทยด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ ภาพยนตร์ Digital content เกมส์ และมรดกทางวัฒนธรรมระหว่างกัน

เซก้า เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยและออสเตรเลียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับการขยายตัวทางการค้า และเติมเต็มที่ทั้งสองฝ่ายได้เป็นภาคีความตกลงการค้าเสรี 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) (2) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และ (3) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายสรุปผลเซก้าได้ทัน ก็จะสามารถประกาศความสำเร็จได้ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นระหว่างไทยและออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของไทย ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 18,979.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.62 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 12,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 6,873.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

27 กุมภาพันธ์ 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ