‘ภูมิธรรม’ ถก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ พร้อมสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลุยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า ส่งเสริมความเข้มแข็งห่วงโซ่อุปทาน และผลักดันการต่ออายุโครงการ GSP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 14, 2024 13:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?ภูมิธรรม? หารือนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พร้อมด้วยสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทางการค้า เน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ร่วมมือกันขับเคลื่อนการเจรจา IPEF และผลักดันการต่ออายุโครงการ GSP ตลอดจนการปลดไทยออกจากบัญชี WL ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พร้อมด้วยสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (The President's Export Council : PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือกโดยตรงจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการค้าและโอกาสทางธุรกิจกับประเทศในภูมิภาคต่างๆ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกัน โดยเน้นย้ำว่าไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาเป็นเวลานานกว่า 190 ปี และกระทรวงพาณิชย์ของไทยพร้อมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไทยแก่สหรัฐฯ อาทิ นโยบาย Soft Power การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การสร้างดุลยภาพของผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Digital Wallet การส่งเสริม MSMEs การผลักดันการส่งออก ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ของไทย รวมทั้งการมุ่งแก้ไขและปรับปรุงข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและโอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชน

นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การบิน ยาและเวชภัณฑ์ และสหรัฐฯ ก็พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนของสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ไทยได้แสดงความยินดีต่อการเจรจาความตกลง IPEF ซึ่งมีความก้าวหน้าที่ดีในปี 2566 ที่ผ่านมา และพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปความตกลง IPEF ร่วมกันในเสาที่ 1 เรื่องการค้า (Pillar 1 Trade) ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ IPEF ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับไทยและประเทศในภูมิภาคต่อไป นอกจากนี้ ไทยยังได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิ GSP ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ อีกทั้ง ไทยได้แสดงให้สหรัฐฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในด้านต่าง ๆ รวมถึงการตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้สามารถปรับสถานะของไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) และจากทุกบัญชีให้ได้ต่อไป

?ตนได้แนะนำหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยเป็นตัวกลางคุยกับสหรัฐฯ ในการดำเนินการต่างๆ หลังจากนี้เราจะลงในรายละเอียดต่อไป ซึ่งการหารือในวันนี้เป็นบวก สหรัฐฯเชื่อมั่นในรัฐบาลไทยและยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้คุยกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกันเป็นอย่างดีอยากสร้างความสัมพันธ์และยกระดับ ซึ่งท่านรัฐมนตรีจะมาผลักดันเองให้สิ่งที่คุยกันวันนี้เป็นจริง เป็นนิมิตหมายอันดีเรามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและรู้ใจกันการร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก? นายภูมิธรรมกล่าว

ในปี 2566 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 68,358.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ 48,864.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 3 ของไทย มีมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐฯ 19,493.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ

13 มีนาคม 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ