กรุงเทพโพลล์: ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ต.ค. 53

ข่าวผลสำรวจ Tuesday October 19, 2010 08:36 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 54.1% เสนอ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ห่วงส่งออกสินค้ามีปัญหาทำเศรษฐกิจ 3 เดือนข้างหน้าสดใสน้อยลง

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25 แห่ง เรื่อง “ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ต.ค. 53” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า

          ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มกราคม 54) อยู่ที่ 56.64  ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน (ตุลาคม 53)  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมา พบว่าค่าดัชนีปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก  และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ  แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้นไม่เหมือนกับในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา  โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าที่ดัชนีคาดการณ์ฯ อยู่ในระดับต่ำเท่ากับ  28.38    ส่วนดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน(ตุลาคม 53) ยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งเห็นได้จากค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 53.50  ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50  แต่เมื่อพิจารณาสถานะใน    แต่ละปัจจัยพบว่า  ปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ คือ มีค่าดัชนีฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 50  (ตารางในข้อ 1)

สำหรับการประเมินสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบที่สำคัญคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท(ร้อยละ 89.2) รองลงมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม (ร้อยละ 59.5) ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลด้านบวกที่สำคัญคือความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ร้อยละ 50.0) รองลงมาเป็นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ร้อยละ 45.9) (ตารางในข้อ 2)

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของ ธปท. ในวันที่ 20 ต.ค. 53 นั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 54.1 เสนอ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนอันจะช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป รวมถึงให้เวลาภาคเอกชนได้ปรับตัว โดยเฉพาะ SME รองลงมาร้อยละ 17.6 เสนอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ตารางในข้อ 3)

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้) 1 ปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า

     ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ                          สถานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน                   ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจ

ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

                                 ค่าดัชนีก.ค.   ค่าดัชนีต.ค.   อ่อนแอ(%)   ปกติ(%)    แข็งแกร่ง(%)    ก.ค.     ต.ค.
 1)  การบริโภคภาคเอกชน             39.13       50.00       14.9      70.2        14.9       79.29    64.19
 2)  การลงทุนภาคเอกชน              24.26       45.21       21.9      65.8        12.3       71.01    67.81
 3)  การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ      58.09       56.16       12.3      63.0        24.7       65.22    55.48
 4)  การส่งออกสินค้า                 76.09       69.59       14.9      31.1        54.0       63.57    28.38
 5)  การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ       13.24       46.53       22.2      62.5        15.3       81.88    67.36
          ดัชนีรวม                  42.16       53.50                                        72.19    56.64

หมายเหตุ: ค่าดัชนีจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดย

ค่าดัชนีเท่ากับ 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะปกติ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ เดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)

ค่าดัชนีสูงกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะแข็งแกร่ง (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ ดีขึ้น (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)

ค่าดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะอ่อนแอ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ แย่ลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)

2. สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในแต่ละส่วนต่อไปนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า
   สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ                     คาดการณ์ผลกระทบต่อ
                                         เศรษฐกิจไทยในอีก  3 เดือนข้างหน้า           ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
                                 ส่งผลด้านลบ         ไม่ส่งผล        ส่งผลด้านบวก
  -  อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท              89              11               0                0
  -  เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม             60              18              19                4
  -  ปัจจัยด้านการเมือง                  47              31              11               11
  -  วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป            47              43              4.1              5.4
  -  อัตราเงินเฟ้อทั่วไป                  26              68              5.4              1.3
  -  อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์           24              55              14               6.8
  -  ราคาน้ำมันโดยภาพรวม               42              46              8.1              4.1
  -  ค่าเงินหยวนของจีน                  32              45              8.1              15
  -  ความเชื่อมั่นผู้บริโภค                 15              32              50               2.7
  -  ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ                23              28              46               2.7

3.  การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของ ธปท.ในวันที่ 20 ต.ค. นี้  ท่านคิดว่า กนง.ควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไร
ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย                              ร้อยละ  16.2

เพราะ 1 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะปีหน้า

2 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย                              ร้อยละ  17.6

เพราะ 1 ชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ อันจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท

2 เป็นมาตรการเดียวที่ กนง. มีเหลืออยู่เพื่อรั้งค่าเงินบาท

ควรคงที่(ชะลอ)การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย                  ร้อยละ  54.1

เพราะ 1 ชะลอการไหลเข้าของเงินทุนอันจะช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป รวมถึงให้เวลาภาคเอกชนได้ปรับตัว โดยเฉพาะ SME

2 เงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และการแข็งค่าของเงินบาทช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง

3 ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความผันผวน ควรรอดูผลกระทบของค่าเงิน เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง

ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ                                          ร้อยละ  12.1
หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
                   นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด
          ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)   โทร. 02-350-3500 ต่อ 1776
          E-mail: bangkokpoll@bu.ac.th      Website: http://research.bu.ac.th
          Twitter :  http://twitter.com/bangkok_poll

                                         รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์
          1.  เพื่อสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันและทิศทางในอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า
          2.  เพื่อทราบสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจว่าจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า
          3.  เพื่อสะท้อนข้อเสนอแนะประเด็นเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มตัวอย่าง
          เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก  อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปี) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์  วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25  แห่ง  ได้แก่  ธนาคารแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  ธนาคารไทยพาณิชย์  ธนาคารนครหลวงไทย  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  ธนาคารกรุงไทย  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย  บริษัทหลักทรัพย์ภัทร  บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส  บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ  บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์ไอร่า  บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส  คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ   คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล
          รวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  11-15  ตุลาคม  2553

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                :   19  ตุลาคม 2553

                                           ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

                                        จำนวน        ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
           หน่วยงานภาครัฐ                   40          54.1
           หน่วยงานภาคเอกชน                25          33.8
           สถาบันการศึกษา                    9          12.1
          รวม                             74         100.0

เพศ
            ชาย                           41          55.4
            หญิง                           33          44.6
          รวม                             74         100.0

อายุ
            18 ปี — 25 ปี                    1           1.3
            26 ปี — 35 ปี                   33          44.6
            36 ปี — 45 ปี                   21          28.4
            46 ปีขึ้นไป                      19          25.7
          รวม                             74         100.0

การศึกษา
             ปริญญาตรี                       4           5.4
             ปริญญาโท                      55          74.3
             ปริญญาเอก                     15          20.3
          รวม                             74         100.0

ประสบการณ์ทำงานรวม
              1-5  ปี                      16          21.6
              6-10 ปี                      24          32.4
              11-15 ปี                      7           9.5
              16-20 ปี                     10          13.5
              ตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป               17          23.0
          รวม                             74         100.0

          --ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ