กรุงเทพโพลล์: “ความเห็นต่อมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท.”

ข่าวผลสำรวจ Tuesday November 16, 2010 09:03 —กรุงเทพโพลล์

ผลโพลล์สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์

เรื่อง “ความเห็นต่อมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท.”

นักเศรษฐศาสตร์ 40 ใน 50 คน หนุนมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท. ชี้ กันไว้ดีกว่าแก้

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 22 แห่ง เรื่อง “ความเห็นต่อมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท.” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์จำนวน 30 ใน 50 คน ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าสัญญาณดังกล่าวจะยังไม่เด่นชัดนักเมื่อเทียบกับปัญหาฟองสบู่ในช่วงวิกฤติปี 40 เมื่อสอบถามถึงโอกาส ที่จะเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า (พ.ศ. 2554) หาก ธปท. ไม่ออกมาตรการควบคุมใดๆ นักเศรษฐศาสตร์จำนวน 28 คนยังคงเชื่อว่าโอกาสการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่จำนวน 17 คนมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดฟองสบู่ (และในจำนวนนี้ 10 คนมองว่ามาตรการของ ธปท. ที่ออกมายังมีความเข้มข้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาฟองสบู่)

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามความเห็นที่มีต่อ มาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท. นักเศรษฐศาสตร์มากถึง 40 ใน 50 คน สนับสนุนการดำเนินมาตรการดังกล่าวของ ธปท. โดยมองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ออกมาป้องกันซึ่งดีกว่ามาแก้ในภายหลัง เพราะอาจจะไม่ทันการณ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการและผู้ซื้อ ซึ่งจะส่งผลในแง่จิตวิทยา และเป็นการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวอีกด้วย

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้กล่าวชื่นชมการดำเนินมาตรการของ ธปท. ในครั้งนี้ว่าเป็นมาตรการที่ดี ไม่เข้มงวดจนเกินไป แต่สามารถส่งผลกระทบในแง่จิตวิทยาต่อตลาดได้ อีกทั้งยังมีการขอความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อันช่วยให้ตลาดมีการซึมซับข่าวในระดับหนึ่งก่อนการประกาศมาตรการออกมา

สำหรับในปีหน้า (พ.ศ. 2554) นักเศรษฐศาสตร์ยังคงเป็นห่วงการเกิดฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดทองคำ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึง ธุรกิจอสังหาฯ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. ความเห็นเกี่ยวกับ สัญญาณของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

มีสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์       จำนวน  30          (หรือร้อยละ  60.0)
ไม่มีสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์     จำนวน  17          (หรือร้อยละ  34.0)
ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ                จำนวน  3           (หรือร้อยละ  6.0)
รวม                               จำนวน  50          (หรือร้อยละ  100.0)

2.   ความเห็นเกี่ยวกับ  โอกาสในการเกิดปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า (พ.ศ. 2554) หาก ธปท. ไม่ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อภาคอสังหาฯ

มีโอกาสสูงต่อการเกิดฟองสบู่  และ
มาตรการมีความเข้มข้นเพียงพอที่จะแก้ปัญหาฟองสบู่      จำนวน   5
มาตรการมีความเข้มข้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาฟองสบู่    จำนวน  10

      ไม่แสดงความเห็น                                                              จำนวน  2                        จำนวน  17            (หรือร้อยละ  34.0)
มีโอกาสน้อยต่อการเกิดฟองสบู่          จำนวน  28            (หรือร้อยละ  56.0)
ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ              จำนวน  5            (หรือร้อยละ  10.0)
รวม                             จำนวน  50          (หรือร้อยละ  100.00)

3.  ความเห็นเกี่ยวกับ  มาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท.

เห็นด้วย            จำนวน  40          (หรือร้อยละ  80.0)
เนื่องจาก  1. เป็นมาตรการที่ออกมาป้องกันที่ดีกว่ามาแก้ภายหลัง  เพราะอาจจะไม่ทันการณ์

2. เป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการและผู้ซื้อ ซึ่งจะส่งผลในแง่จิตวิทยา

3. เป็นการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว ช่วยกลั่นกรองคุณภาพการก่อหนี้

ไม่เห็นด้วย                     จำนวน  5          (หรือร้อยละ  10.0)
เนื่องจาก  ยังไม่ถึงเวลา และภาคอสังหาฯ ยังไม่ได้มีภาวะฟองสบู่  อีกทั้งจะกระทบกับผู้บริโภคได้
ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ          จำนวน  5          (หรือร้อยละ  10.0)
รวม                         จำนวน  50          (หรือร้อยละ  100.0)

4. ความเห็นเกี่ยวกับ  ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟองสบู่ในปีหน้า (พ.ศ. 2554)

นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ข้อสังเกตุว่าการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐว่าจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอนและจะก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดทองคำ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึง ธุรกิจอสังหาฯ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการท่องเที่ยว

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) โทร. 02-350-3500 ต่อ 1776

E-mail: bangkokpoll@bu.ac.th Website: http://research.bu.ac.th

Twitter : http://twitter.com/bangkok_poll

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสะท้อนความเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโดยตรงไปยังสาธารณชนโดยผ่านช่องทางสื่อมวลชน

2. เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการและวางแผนงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปี) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 22 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาสงขลานครินทร์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

รวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  12-15  พฤศจิกายน  2553
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :  16  พฤศจิกายน 2553

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

          จำนวน                              ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
           หน่วยงานภาครัฐ          22          44.0
           หน่วยงานภาคเอกชน       21          42.0
           สถาบันการศึกษา           7          14.0
รวม                              50         100.0
เพศ
            ชาย                 26           52.0
            หญิง                  24          48.0
รวม                             50          100.0
อายุ
            18 ปี — 25 ปี            1          2.0
            26 ปี — 35 ปี          24          48.0
            36 ปี — 45 ปี          13          26.0
            46 ปีขึ้นไป             12          24.0
รวม                             50          100.0
การศึกษา
             ปริญญาตรี               2          4.0
             ปริญญาโท             38          76.0
             ปริญญาเอก            10          20.0
รวม                             50          100.0
ประสบการณ์ทำงานรวม
              1-5  ปี             13          26.0
              6-10 ปี             16          32.0
              11-15 ปี              4          8.0
              16-20 ปี             6          12.0
              ตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป      11          22.0
รวม                             50          100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ