ประชาชนชายแดนใต้ 90% ชี้รัฐไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา 59.2% เชื่อรัฐแก้ปัญหาไม่ถูกทาง 43.4% ย้ำการประกาศเคอร์ฟิวไม่ช่วยลดหรือแก้ปัญหาได้ และยิ่งไปกว่าประชาชน 79.8% ระบุใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับการแก้ปัญหาไฟใต้” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ผลสำรวจพบว่า
ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 55.4 เห็นว่ารัฐบาลไม่ค่อยจริงจังกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาร้อยละ 35.0 เห็นว่าไม่จริงจังเลย และมีเพียงร้อยละ 9.6 เท่านั้นที่เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหา เมื่อถามต่อว่าแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของภาครัฐเดินมาถูกทางหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.2 เชื่อว่าเดินมาไม่ถูกทาง มีเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้นที่เชื่อว่าเดินมาถูกทางแล้ว ขณะที่ประชาชนร้อยละ 34.7 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ประชาชนเชื่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ภาครัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากที่สุด คือ ความไม่จริงจัง จริงใจ และขาดการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนของภาครัฐ ในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ร้อยละ 22.8) รองลงมาคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น มีผลประโยชน์ของผู้ค้าหนีภาษี ความเห็นแก่เงินของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (ร้อยละ 17.4) และความไม่เข้าใจปัญหา รวมถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดของภาครัฐ (ร้อยละ 13.9)
ด้านความเห็นของประชาชนต่อวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่ภาครัฐควรนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้มากที่สุด คือ ควรปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและเด็ดขาดมากกว่านี้ (ร้อยละ 39.8) รองลงมาคือ ภาครัฐควรเข้าใจและเข้าถึงคนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ รวมถึงช่วยพัฒนาชุมชนทั้งการศึกษาและอาชีพ (ร้อยละ 24.6) และภาครัฐควรจริงจังกับการแก้ปัญหาให้มากกว่านี้และต้องทำอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 12.3)
สำหรับความเห็นของประชาชนต่อการประกาศเคอร์ฟิว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยลดหรือแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 43.4 เชื่อว่าไม่ได้ มีเพียงร้อยละ 16.7 ที่เชื่อว่าได้ ขณะที่ร้อยละ 39.9 ไม่แน่ใจ
ด้านความพอใจในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในทุกวันนี้พบว่า ประชาชนร้อยละ 50.8 บอกว่าไม่ค่อยพอใจ รองลงมาร้อยละ 29.5 บอกว่าพอใจ ขณะที่ร้อยละ 19.7 บอกว่าไม่พอใจเลย
เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ประชาชนร้อยละ 57.4 บอกว่ารู้สึกหวาดกลัวแต่เริ่มชินชาแล้ว รองลงมาร้อยละ 22.5 บอกว่ารู้สึกหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ร้อยละ 20.1 บอกว่าใช้ชีวิตตามปกติ
สุดท้ายเมื่อถามว่าปัจจุบันนี้เห็นสัญญาณความสงบที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้าบ้างหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 94.1 ระบุว่ายังคงมืดมน มีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้นที่เห็นว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง และเมื่อถามต่อด้วยคำถามเดิมว่าแล้วอีก 6 เดือนข้างหน้าสัญญาณความสงบจะเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 90.3 ระบุว่ายังคงมืดมนต่อไป มีเพียงร้อยละ 8.5 เท่านั้นเห็นว่าเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง
รายละเอียดดังต่อไปนี้
ช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ร้อยละ) ช่วง 6 เดือนข้างหน้า (ร้อยละ)
ยังคงมืดมน 94.1 90.3 เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง 4.7 8.5 มั่นใจว่าความสงบจะเกิดขึ้น 1.2 1.2รายละเอียดในการสำรวจ
1. เพื่อสะท้อนความรู้สึกของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้น
2. เพื่อสะท้อนความเห็นของประชาชนที่มีต่อแนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐในปัจจุบัน รวมถึงความเห็นที่มีต่อการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะช่วยลด/แก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
3. เพื่อต้องการทราบปัจจัยที่ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้ และวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องในความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
4. เพื่อเป็นข้อมูลให้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกสาขาอาชีพ ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มกลุ่ม (Cluster Sampling) โดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 จังหวัดประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา (เฉพาะพื้นที่เสี่ยงในบางอำเภอ) จากนั้นจึงทำการสุ่มเลือกอำเภอจำนวน 2 อำเภอในแต่ละจังหวัด และใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 427 คน เป็นชายร้อยละ 46.4 และหญิงร้อยละ 53.6
ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 5% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน โดยเป็นข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ (Open Form) จากนั้นคณะนักวิจัยได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 7 - 14 สิงหาคม 2555 วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 20 สิงหาคม 2555ข้อมูลประชากรศาสตร์
จำนวน ร้อยละ รวมทั้งหมด 427 100.0เพศ
ชาย 198 46.4 หญิง 229 53.6อายุ
18 - 25 ปี 85 19.8 26 - 35 ปี 117 27.4 36 - 45 ปี 102 23.8 46 ปีขึ้นไป 123 29.0การศึกษา
ต่ำกว่าปริญญาตรี 204 47.9 ปริญญาตรี 199 46.5 สูงกว่าปริญญาตรี 24 5.6อาชีพ
ข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ 140 32.9 พนักงาน / ลูกจ้าง บริษัทเอกชน 47 10.9 ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว 48 11.2 รับจ้างทั่วไป 57 13.4 เกษตรกร 69 16.2 นักศึกษา 39 9.2 พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ 12 2.7 อื่นๆ อาทิ อาชีพอิสระ ว่างงาน เป็นต้น 15 3.5--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--