กรุงเทพโพลล์: “พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จำเป็นหรือไม่?”

ข่าวผลสำรวจ Thursday October 25, 2012 09:10 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 47.8% เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ. กู้เงินฯ แต่ 79.1% กังวลความไม่พร้อมของโครงการต่างๆ 68.6% กังวลปัญหาหนี้สาธารณะ แนะต้องดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใสไม่มีคอร์รัปชั่น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 67 คน เรื่อง “พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จำเป็นหรือไม่” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5—12 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 58.2 เห็นว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นมากที่จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาร้อยละ 35.8 เห็นว่าค่อนข้างมีความจำเป็น และมีเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเลย เมื่อถามต่อว่างบลงทุนที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบันมีเพียงพอกับความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ ร้อยละ 46.3 เห็นว่ามีไม่เพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 35.8 เห็นว่ามีเพียงพอแล้ว แต่เมื่อถามว่าโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมเพียงใดกับการขอใช้เงินที่ออกโดย พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 79.1 เห็นว่าโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการยังไม่มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่เห็นว่าโครงการต่างๆ มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่

สำหรับความรู้สึกกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ร้อยละ 68.6 บอกว่า “กังวลมากถึงมากที่สุด” รองลงมาร้อยละ 28.4 บอกว่า “กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด” และเมื่อทำการเปรียบเทียบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการโดยใช้เงินจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้กับความจำเป็นในการออก พ.ร.บ. เพื่อนำเงินกู้มาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 44.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าจึงไม่ควรออกกฏหมายฉบับนี้ ขณะที่ร้อยละ 41.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าจึงควรออกกฏหมายฉบับนี้

สุดท้ายเมื่อถามว่าโดยสรุปแล้วเห็นด้วยหรือไม่กับการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ร้อยละ 47.8 บอกว่า “เห็นด้วย” ขณะที่ร้อยละ 23.9 บอกว่า “ไม่เห็นด้วย” นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใส ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลงโทษผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงควรสร้างระบบกำกับการใช้เงินอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบได้

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การลงทุนระบบราง การขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ ด้านพลังงาน ด้านการสื่อสาร เป็นต้น
ร้อยละ  58.2          เห็นว่า มีความจำเป็นมาก
ร้อยละ  35.8          เห็นว่า ค่อนข้างมีความจำเป็น
ร้อยละ   6.0          เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเลย

2. งบลงทุนที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบันมีเพียงพอกับความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่
ร้อยละ  35.8          เห็นว่า มีเพียงพอแล้ว
ร้อยละ  46.3          เห็นว่า มีไม่เพียงพอ
ร้อยละ  17.9          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

3. โครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมเพียงใดกับการขอใช้เงินที่ออกโดย พ.ร.บ. ฉบับนี้
ร้อยละ  10.4          คิดว่ามีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่
ร้อยละ  79.1          คิดว่ายังไม่มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่
ร้อยละ  10.5          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

4. การออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำให้รู้สึกกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคตมากน้อยเพียงใด
ร้อยละ 68.6  บอกว่า “กังวลมากถึงมากที่สุด”

(แบ่งเป็น ร้อยละ 31.3 กังวลมากที่สุดและร้อยละ 37.3 กังวลมาก) ร้อยละ 28.4 บอกว่า “กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด”

(แบ่งเป็น ร้อยละ 26.9 กังวลน้อยและร้อยละ 1.5 กังวลน้อยที่สุด)

ร้อยละ   3.0          ไม่กังวลเลย

5. ระหว่างการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการโดยใช้เงินจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้กับความจำเป็นในการออก พ.ร.บ. เพื่อนำเงินกู้มาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน
          ร้อยละ  44.8          เห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าจึงไม่ควรออกกฏหมายฉบับนี้
          ร้อยละ  41.8          เห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับการกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าจึงควรออกกฏหมายฉบับนี้
          ร้อยละ  13.4          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

6.  โดยสรุปแล้วเห็นด้วยหรือไม่กับการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้
ร้อยละ  47.8          เห็นด้วย
ร้อยละ  23.9          ไม่เห็นด้วย
ร้อยละ  28.3          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

7.  ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้

อันดับ 1 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใสให้ความสำคัญกับการป้องกันและลงโทษผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงควรสร้างระบบกำกับการใช้เงินอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบได้

อันดับ 2 รัฐบาลควรมีการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการดำเนินโครงการต่างๆ มีการพิจารณาความคุ้มทุน มีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า นอกจากนี้ควรมีโครงการที่เน้นความเจริญไปสู่ภูมิภาคด้วย

อันดับ 3 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) หรืออาจอยู่ในรูปการออกกองทุนในตลาดทุน เพราะจะได้ช่วยลดภาระหนี้ของภาครัฐ ช่วยให้การดำเนินโครงการมีความโปร่งใสขึ้น รวมถึงช่วยให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพขึ้น

อันดับ 4 รัฐบาลควรมีการติดตามการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างใกล้ชิด มีหน่วยงานที่ดูแลความก้าวหน้าของโครงการที่เป็นอิสระจากโครงการทุกโครงการ รวมถึงมีการติดตามหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิดด้วย

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์บางท่านยืนยันว่ารัฐบาลไม่ควรออก พ.ร.บ. ฉบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องของประชาชนมากกว่า รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่จะคืนทุน

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
                  นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสะท้อนความเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโดยตรงไปยังสาธารณชนโดยผ่านช่องทางสื่อมวลชน

2. เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการและวางแผนงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 30 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บริษัท TRIS Rating สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

รวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  5 — 12 ตุลาคม 2555

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                :  25 ตุลาคม 2555

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

                                   จำนวน        ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
           หน่วยงานภาครัฐ              32          47.7
           หน่วยงานภาคเอกชน           18          26.9
           สถาบันการศึกษา              17          25.4
          รวม                        67         100.0

เพศ
            ชาย                      35          52.2
            หญิง                      32          47.8
          รวม                        67         100.0

อายุ
            26 ปี — 35 ปี              21          31.3
            36 ปี — 45 ปี              22          32.8
            46 ปีขึ้นไป                 24          35.9
          รวม                        67         100.0

การศึกษา
             ปริญญาตรี                  4           6.0
             ปริญญาโท                 43          64.1
             ปริญญาเอก                20          29.9
          รวม                        67         100.0

ประสบการณ์ทำงานรวม
              1-5  ปี                  8          11.9
              6-10 ปี                 16          23.9
              11-15 ปี                13          19.4
              16-20 ปี                 8          11.9
              ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป          22          32.9
          รวม                        67         100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ