กรุงเทพโพลล์: “ยาเสพติดกับการปลดล็อคใบกระท่อม ”ประชาชนกว่า 60 % เชื่อว่าการยกเลิกใบกระท่อมไม่สามารถลดคนเสพยาบ้าได้ แต่หากมีการยกเลิกจริง 49.2%เห็นว่าต้องควบคุมให้ปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น

ข่าวผลสำรวจ Wednesday September 11, 2013 08:54 —กรุงเทพโพลล์

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,171 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.5 คิดว่าใบกระท่อมเป็นยาเสพติด และมีเพียงร้อยละ 29.5 เท่านั้นที่ไม่คิดว่าเป็นยาเสพติด

สำหรับกรณีที่กระทรวงยุติธรรมจะแก้กฎหมายให้ยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดนั้น ประชาชนร้อยละ 46.3 เห็นด้วยหากนำมาใช้ในวงการแพทย์เท่านั้น รองลงมาร้อยละ 27.5 ไม่เห็นด้วยเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นยาเสพติด และร้อยละ 14.6 เห็นด้วยและยอมรับได้ในทุกกรณี ที่เหลือร้อยละ 11.6 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามว่าการยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดจะช่วยลดปริมาณคนเสพยาบ้าได้หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ระบุว่า “แก้ไม่ได้” มีเพียงร้อยละ 19.0 เท่านั้นที่ระบุว่า “แก้ได้” เช่นเดียวกับ

ร้อยละ 60.2 ที่ไม่เชื่อว่าการยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดจะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ มีเพียงร้อยละ 12.6 เท่านั้นที่ระบุว่า “แก้ได้” (การจับกุมคนเสพกระท่อม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นชนวนเหตุเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับมวลชนในพื้นที่)

อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจริง ประชาชนร้อยละ 49.2 เห็นว่าต้องควบคุมให้ปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น รองลงมาร้อยละ 38.7 เห็นว่าต้องควบคุมปริมาณและพื้นที่ปลูกให้ชัดเจนและมีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และมีเพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้น ที่เห็นว่าไม่ต้องควบคุม ให้ปลูกได้อย่างเสรี

ทั้งนี้หากมีการดำเนินตามแนวคิดดังกล่าวจริง ประชาชนร้อยละ 52.2 มีความห่วงและกังวล โดยเรื่องที่ห่วงและกังวลมากที่สุดคือ กลัวจะมีคนเสพใบกระท่อมมากขึ้นเพราะหาซื้อง่ายขึ้น (ร้อยละ 12.1) กลัวจะเอาไปใช้ในทางที่ผิดเอาไปดัดแปลง (ร้อยละ 9.2) และ กลัวลูกหลาน วัยรุ่น เยาวชน จะอยากรู้อยากลองมากขึ้น (ร้อยละ 8.7) ขณะที่ประชาชนร้อยละ 47.8 ไม่ห่วงและกังวลเลย โดยให้เหตุผลว่าเป็นพืชสมุนไพรใช้รักษาโรคได้ (ร้อยละ12.6) รองลงมาคือฤทธิ์ไม่รุนแรง กินแล้วสู้แดด มีกำลัง และรุนแรงน้อยกว่าบุหรี่ (ร้อยละ 12.0) และคิดว่าไม่ใช่ยาเสพติด (ร้อยละ 6.1)

สุดท้ายเมื่อถามว่าการกินหรือเสพ ใบกระท่อมอาจนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติดที่ร้ายแรงกว่าใช่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 45.6 ระบุว่า “ใช่” ขณะที่ร้อยละ32.5 ระบุว่า “ไม่ใช่” ที่เหลือร้อยละ 21.9 ไม่แน่ใจ

ดังรายละเอียดในต่อไปนี้

1. ความเห็นเกี่ยวกับใบกระท่อมว่าเป็นสารเสพติดหรือไม่
- คิดว่าเป็นสารเสพติด                                ร้อยละ 70.5
- ไม่คิดว่าเป็นสารเสพติด                              ร้อยละ 29.5

2. ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่กระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดจะแก้กฎหมายให้ยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชี    ยาเสพติด
- เห็นด้วยหากนำมาใช้เฉพาะในวงการแพทย์เท่านั้น           ร้อยละ 46.3
- ไม่เห็นด้วยเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นยาเสพติด              ร้อยละ 27.5
- เห็นด้วยและยอมรับได้ในทุกกรณี                        ร้อยละ 14.6
- ไม่แน่ใจ                                         ร้อยละ 11.6

3. ความเห็นเกี่ยวกับการยกเลิก / ถอดใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดว่าจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่
เรื่อง                                                  แก้ได้          แก้ไม่ได้      ไม่แน่ใจ
                                                     (ร้อยละ)        (ร้อยละ)     (ร้อยละ)
- สามารถช่วยลดปริมาณคนเสพยาบ้าได้                         19.0           61.1        19.9
- สามารถลดเงื่อนไขความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้         12.6           60.2        27.2
เพราะการจับกุมคนเสพกระท่อม เป็นชนวนเหตุใหญ่เรื่องหนึ่ง
อันนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับมวลชนในพื้นที่

4. ความเห็นต่อคำถามที่ว่า “หากมีการยกเลิกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจริง ท่านอยากให้ออกมาในรูปแบบใด”
- ควบคุมให้ปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น                             ร้อยละ 49.2
- ควบคุมปริมาณและพื้นที่ปลูกให้ชัดเจนและมีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง             ร้อยละ 38.7
- ไม่ต้องควบคุม ให้ปลูกได้อย่างเสรี                                    ร้อยละ  5.1
- ไม่แน่ใจ                                                       ร้อยละ  7.0

5. ความห่วง/กังวล หากมีการยกเลิกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจริง
- ห่วงและกังวล                                                             ร้อยละ 52.2
โดยเรื่องที่ห่วงและกังวล 5 อันดับแรก คือ... (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
          - กลัวจะมีคนเสพใบกระท่อมมากขึ้นเพราะหาซื้อง่ายขึ้น                       ร้อยละ 12.1
          - กลัวจะเอาไปใช้ในทางที่ผิด เอาไปดัดแปลง                             ร้อยละ  9.2
          - กลัวลูกหลาน วัยรุ่น เยาวชน จะอยากรู้อยากลองมากขึ้น                    ร้อยละ  8.7
  • กลัวจะนำไปสู่การลองเสพยาเสพติดตัวอื่นๆ ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดยาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.3
          - ยังไงก็เป็นยาเสพติดอยู่ดี                                           ร้อยละ  6.5

- ไม่ห่วงเลย                                                               ร้อยละ 47.8
โดยให้เหตุผล 5 อันดับแรก ว่า...(เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
          - เป็นพืชสมุนไพรใช้รักษาโรค                                         ร้อยละ 12.6
          - ฤทธิ์ไม่รุนแรง กินแล้วสู้แดด มีกำลัง และรุนแรงน้อยกว่าบุหรี่                 ร้อยละ 12.0
          - ไม่ใช่ยาเสพติด                                                  ร้อยละ  6.1
          - คิดว่าภาครัฐควบคุมได้                                             ร้อยละ  5.1
          - ขึ้นอยู่กับคนที่ใช้มากกว่า                                            ร้อยละ  2.8

6. ความเห็นเกี่ยวกับ การกินหรือเสพ ใบกระท่อมอาจนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติดที่ร้ายแรงกว่าใช่หรือไม่
- ใช่                    ร้อยละ  45.6
- ไม่ใช่                  ร้อยละ  32.5
- ไม่แน่ใจ                ร้อยละ  21.9

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวคิดของกระทรวงยุติธรรมที่จะมีการแก้กฎหมายโดยยกเลิกใบกระท่อมให้พ้นจากบัญชียาเสพติด รวมถึงทัศนคติที่ประชาชนมีต่อใบกระท่อม เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มจากเขตการปกครองทั้งเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่เขตคลองเตย ดินแดง ดุสิต ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ทุ่งครุ บางเขน บางคอแหลม บางซื่อ บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบฯ พญาไท พระนคร ภาษีเจริญ ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ สวนหลวง สะพานสูง สาทร และหนองแขม และปริมณฑลได้แก่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ จากนั้นจึงสุ่มถนน และประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น1,171 คน เป็นเพศชายร้อยละ 50.4 และเพศหญิงร้อยละ 49.6

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ (Open Form) จากนั้นจึงนำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  6 - 7 กันยายน 2556
          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                :  11 กันยายน 2556

ข้อมูลประชากรศาสตร์

จำนวน ร้อยละ เพศ

          ชาย                                            590      50.4
          หญิง                                            581      49.6
                    รวม                                1,171       100
อายุ
          18 ปี - 25 ปี                                    289      24.7
          26 ปี — 35 ปี                                    314      26.8
          36 ปี — 45 ปี                                    296      25.3
          46 ปีขึ้นไป                                       272      23.2
                    รวม                                1,171       100
การศึกษา
          ต่ำกว่าปริญญาตรี                                   697      59.5
          ปริญญาตรี                                        414      35.4
          สูงกว่าปริญญาตรี                                    60       5.1
                    รวม                                1,171       100
อาชีพ
          ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ                              104       8.9
          พนักงานบริษัทเอกชน                                336      28.7
          ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว                        361      30.8
          เจ้าของธุรกิจ                                      26       2.2
          รับจ้างทั่วไป                                      161      13.8
          พ่อบ้าน / แม่บ้าน / เกษียณอายุ                        46       3.9
          นักศึกษา                                         118      10.1
          อื่นๆ เช่น อาชีพอิสระ เกษตรกร ว่างงาน ฯลฯ             19       1.6
                    รวม                                1,171       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ