กรุงเทพโพลล์: “อารมณ์ ความรู้สึก ของคนกรุงฯ ต่อสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน”

ข่าวผลสำรวจ Thursday October 3, 2013 08:38 —กรุงเทพโพลล์

คนกรุงเทพฯ 48.7% เริ่มวิตกวลบ้างแล้วว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯอีก ในปีนี้

และกว่า 50 % ห่วงเรื่องความไม่สามัคคีกันของภาครัฐและกรุงเทพมหานคร หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีก

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,190 คน พบว่า

จากข่าวน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ขณะนี้ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 48.7 เริ่มรู้สึกวิตกกังวลบ้างแล้ว ว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้นอีกในกรุงเทพฯ มีเพียงร้อยละ 9.9 ที่รู้สึกวิตกกังวลมาก ขณะที่ ร้อยละ 41.4 ไม่รู้สึกวิตกกังวลเลย โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 54.0 คิดว่าน้ำน่าจะท่วมอีกในปีนี้แต่คงไม่มากและไม่นานเท่าปี 54 ขณะที่ ร้อยละ 35.0 คิดว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน

ส่วนความพร้อมของรัฐบาลในการรับมือกับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 54 นั้น คนกรุงเทพร้อยละ 50.2 เห็นว่ารัฐบาลเตรียมพร้อมได้ดีกว่าปี 54 ร้อยละ 36.0 เห็นว่ารัฐบาลเตรียมพร้อมได้เหมือนๆกับปี 54 และมีเพียง ร้อยละ 13.8 ที่เห็นว่า รัฐบาลเตรียมพร้อมได้แย่กว่าปี 54

สำหรับเรื่องที่กังวลมากที่สุด หากต้องรับมือกับปัญหาน้ำท่วมจริงในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ ความไม่สามัคคีกันในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐและกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 50.3) รองลงมาคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น จากงบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วม (ร้อยละ 39.2) และความพร้อมในการรับมือเช่นการขุดลอกคูคลอง ประตูระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำ (ร้อยละ 38.1)

ทั้งนี้คนกรุงเทพฯ ยังได้ทำการประเมินเปรียบเทียบความเชื่อมั่นที่มีต่อ รัฐบาลและกทม. ว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯได้ พบว่าคนกรุงเทพฯ ให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อ กทม. 5.96 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) ซึ่งมากกว่าคะแนนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล 0.27 คะแนน โดยให้คะแนนรัฐบาลเท่ากับ 5.69 คะแนน

สุดท้ายเมื่อถามว่าบทเรียนที่คนส่วนใหญ่ได้รับจากน้ำท่วมเมื่อปี 54 และจะนำมาปรับใช้ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ อีกในปีนี้ อันดับแรกคือ ยกของขึ้นชั้น 2 หรือขึ้นที่สูงให้หมด (ร้อยละ 20.0) รองลงมาคือ เตรียมอาหารแห้ง น้ำดื่ม เรือ และกระสอบทรายกั้นน้ำ (ร้อยละ 19.8) และติดตามข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมด้วยตนเองตลอดเวลา เพื่อความไม่ประมาท โดยไม่หวังพึ่งรัฐเพียงอย่างเดียว (ร้อยละ 14.5)

รายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ความวิตกกังวลว่ากรุงเทพฯ จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นอีก หลังจากดูข่าวน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ
          - รู้สึกวิตกกังวลมาก                                         ร้อยละ  9.9
          - เริ่มรู้สึกวิตกกังวลบ้างแล้ว                                   ร้อยละ 48.7
          - ไม่รู้สึกวิตกกังวลเลย                                       ร้อยละ 41.4

2. เมื่อถามว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เหมือนเมื่อปี 54 หรือไม่ พบว่า
          - คิดว่าน่าจะท่วมและคงจะหนักกว่าปี 54                          ร้อยละ  3.0
          - คิดว่าน่าจะท่วมเหมือนกับปี 54                                ร้อยละ  8.0
          - คิดว่าน่าจะท่วมอีกแต่คงไม่มากและนานเหมือนปี 54                 ร้อยละ 54.0
          - คิดว่าน้ำจะไม่ท่วมพื้นที่กรุงเทพ ฯ แน่นอน                        ร้อยละ 35.0

3. ความพร้อมของรัฐบาลในการรับมือกับน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 54
          - เตรียมพร้อมได้ดีกว่าปี 54                                   ร้อยละ 50.2
          - เตรียมพร้อมได้เหมือนๆกับปี 54                               ร้อยละ 36.0
          - เตรียมพร้อมได้แย่กว่าปี 54                                  ร้อยละ 13.8

4. เรื่องที่กังวลมากที่สุด หากต้องรับมือกับปัญหาน้ำท่วมจริงในพื้นที่ กทม.
          - ความไม่สามัคคีกันในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐและ กทม.         ร้อยละ 50.3
          - การทุจริตคอร์รัปชั่น จากงบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วม            ร้อยละ 39.2
  • ความพร้อมในการรับมือ เช่น การขุดลอกคูคลอง
            การแก้ปัญหาประตูระบายน้ำ ความพร้อมของเครื่องสูบน้ำ             ร้อยละ 38.1
          - การเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย           ร้อยละ 35.4
  • การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและถูกวิธี
            รวมถึงการบูรณาการทุกภาคส่วน                               ร้อยละ 33.7
          - การสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน                          ร้อยละ 22.6
          - ความพร้อมของประชาชนหากเกิดน้ำท่วมจริง                      ร้อยละ 21.5

5.  ความเชื่อมั่นที่มีต่อ รัฐบาลและกทม. ว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯได้

ระดับความเชื่อมั่น

(เต็ม 10 คะแนน)

          - รัฐบาล                        5.69  คะแนน
          - กรุงเทพมหานคร                 5.96  คะแนน

6. บทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่จะนำมาใช้ หากมีเหตุการณ์น้ำท่วมจริง ใน กทม. 5 อันดับแรก (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุงเอง)
          - เตรียมขนของขึ้นชั้นบน หรือ ขึ้นที่สูงให้หมด                              ร้อยละ 20.0
          - เตรียมอาหารแห้ง น้ำดื่ม เรือ และกระสอบทรายกั้นน้ำ                     ร้อยละ 19.8
  • ติดตามข้อมูลข่าวสาร น้ำท่วมด้วยตนเองตลอดเวลา
            เพื่อความไม่ประมาท โดยไม่หวังพึ่งรัฐเพียงอย่างเดียว                     ร้อยละ 14.5
  • เตรียมอพยพหนีน้ำไปอยู่ที่อื่นเช่นบ้านเพื่อน บ้านญาติ ก่อนน้ำจะมา
            หรือไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราว                                        ร้อยละ 11.7
  • ให้หน่วยงานภาครัฐเร่งระบายน้ำไปยังคูคลองต่างๆ อย่างเป็นระบบ
            ขุดลอกคูคลอง และตรวจดูเครื่องสูบน้ำให้ใช้การได้อยู่เสมอ                  ร้อยละ  7.1

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถึงทัศนคติที่มีต่อการรับทราบข่าวน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ความกังวลในด้านต่างๆ ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการนำบทเรียนที่ได้จากน้ำท่วมครั้งที่แล้วมาใช้ หากเกิดน้ำท่วมจริงใน กทม. ปีนี้ ทั้งนี้เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกสาขาอาชีพ ในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่ เขตคลองเตย คลองสามวา ดินแดง ดุสิต ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ทุ่งครุ บางเขน บางคอแหลม บางแค บางซื่อ บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ พญาไท พระนคร ภาษีเจริญ มีนบุรี ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ สวนหลวง สะพานสูง สาทร หนองแขม และหนองจอก ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) จากนั้นใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,190 คน เป็นชายร้อยละ 49.7 และหญิง ร้อยละ 50.3

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน โดยเป็นข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ (Open Form) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 30 กันยายน — 2 ตุลาคม 2556

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 3 ตุลาคม 2556

ข้อมูลประชากรศาสตร์

จำนวน ร้อยละ เพศ

          ชาย                                     592       49.7
          หญิง                                     598       50.3
                    รวม                      1,190.00        100
อายุ
          18 — 25 ปี                               311       26.1
          26 — 35 ปี                               302       25.4
          36 — 45 ปี                               277       23.3
          46 ปีขึ้นไป                                300       25.2
                    รวม                      1,190.00        100
การศึกษา
          ต่ำกว่าปริญญาตรี                            762       64.1
          ปริญญาตรี                                 373       31.4
          สูงกว่าปริญญาตรี                             55        4.5
                     รวม                     1,190.00        100
อาชีพ
          ข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ               105        8.8
          พนักงาน / ลูกจ้าง บริษัทเอกชน                360       30.3
          ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว                 262         22
          เจ้าของกิจการ                              50        4.2
          รับจ้างทั่วไป                               182       15.3
          พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ                     82        6.9
          นักศึกษา                                  117        9.8
          อื่นๆ อาทิ อาชีพอิสระ ว่างงาน เป็นต้น            32        2.7
                     รวม                     1,190.00        100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ