กรุงเทพโพลล์: “ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”

ข่าวผลสำรวจ Wednesday March 25, 2015 08:58 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 58.5% สนับสนุนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่เสนอให้ยกเว้นภาษีบ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมของเกษตรกรตัวจริง และ 50.8% สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เชื่อกฎหมายภาษีที่ดินฯ ไม่ช่วยพัฒนาการเมืองท้องถิ่น และไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ ได้ดำเนินการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 65 คน เรื่อง “ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 13 – 20 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.5 เห็นด้วยกับกฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” โดยให้เหตุผลว่าเป็นเครื่องมือที่พอจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐในการใช้พัฒนาประเทศ พัฒนาท้องถิ่น ขณะที่ร้อยละ 20.0 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าควรเน้นเก็บภาษีเฉพาะกับผู้ที่มีที่ดินมาก มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีบ้านราคาแพงๆ รวมถึงเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดีจึงเป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย ส่วนผู้มีรายได้สูงย่อมไม่กระทบ

เมื่อถามว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่กำหนดให้ยกเว้นการเสียภาษีให้กับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เหมาะสมหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 เห็นว่า ไม่เหมาะสมโดยเห็นว่าควรยกเว้นในระดับที่สูงกว่านี้ที่ไม่เกิน 3.0 ล้านบาท ขณะที่ร้อยละ 33.8 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว สำหรับอัตราภาษีที่อยู่อาศัยที่เก็บ 0.1% ของราคาประเมินนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 55.4 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ขณะที่ร้อยละ 10.8 เห็นว่าไม่เหมาะสม และร้อยละ 17.0 เห็นว่าควรใช้อัตราก้าวหน้าในการจัดเก็บ

ด้านการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรม 0.05% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 41.5 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นอัตราที่สูงเกินไป อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนและค่อนข้างต่ำจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ลดลง สร้างต้นทุนและภาระให้กับเกษตรกร ดังนั้นจึงควรเว้นภาษีสำหรับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตร แต่ควรมีมาตรการกับนายทุนหรือผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง ขณะที่ร้อยละ 32.3 เห็นด้วย

สำหรับแนวคิดการนำรายได้ส่วนหนึ่งจาก “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” มาสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน พบว่าร้อยละ 50.8 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 33.8 ไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีความเห็นต่อ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ต่อประเด็นต่างๆ ดังนี้

ร้อยละ 56.9 เห็นว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ไม่ช่วยลดการซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร

ร้อยละ 46.2 เห็นว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บจากคนในท้องถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการใช้เงินงบประมาณ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น

ร้อยละ 32.3 เห็นว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่คนในท้องถิ่นจ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไม่มีส่วนทำให้การเมืองท้องถิ่นมีการพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม

ร้อยละ 50.8 เห็นว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ไม่ช่วยสร้างความเป็นธรรม หรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ร้อยละ 43.1 เห็นว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะช่วยให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ลดที่ดิน รกร้างว่างเปล่า ได้อย่างมีนัยสำคัญ

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
         นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด
คำชี้แจง

ข้อคำถามทั้งหมดเป็นแนวคิดที่ปรากฏเป็นข่าวซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนในภายหลัง ทั้งนี้ผลที่ได้จากการสำรวจคาดว่าจะเป็นประโยชน์ในการใช้ประกอบการออกกฎหมายของรัฐบาล

1. เห็นด้วยหรือไม่กับการออกกฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”
ร้อยละ 58.5 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า...

(1) เป็นเครื่องมือที่พอจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง

(2) ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐในการใช้พัฒนาประเทศ พัฒนาท้องถิ่น

(3) เพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มประโยชน์การใช้ที่ดิน

(4) ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี เพิ่มภาษีที่เก็บจากฐานทรัพย์สิน

ร้อยละ 20.0 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า...

(1) ควรเน้นเก็บภาษีเฉพาะกับผู้ที่มีที่ดินมาก มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีบ้านราคาแพงๆ

(2) เศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดีจึงเป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย ส่วนผู้มีรายได้สูงย่อมไม่กระทบ

(3) อื่นๆ คือ ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะบ้านใน กทม. / ควรใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้า / ควรคิดให้รอบคอบรอบด้าน

ร้อยละ 21.5 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

2. “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่กำหนดให้ยกเว้นการเสียภาษีให้กับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เหมาะสมหรือไม่
ร้อยละ 33.8 เห็นว่า เหมาะสมแล้ว
ร้อยละ 55.4 เห็นว่า ไม่เหมาะสม ในจำนวนนี้...

ร้อยละ 53.8 เห็นว่า ควรยกเว้นในระดับที่สูงกว่านี้ โดยยกเว้นให้กับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3.0 ล้านบาท

ร้อยละ 1.5 เห็นว่า ควรยกเว้นในระดับที่ต่ำกว่านี้ โดยยกเว้นให้กับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 1.0 ล้านบาท ร้อยละ 10.8 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

3. อัตราภาษีที่อยู่อาศัยที่เก็บ 0.1% ของราคาประเมิน (เก็บล้านละ 1,000 บาท) เป็นอัตราที่เหมาะสมหรือไม่

(หมายเหตุ : เก็บภาษีกับบ้านที่มีราคาเกินกว่า 1.5 ล้านบาทขึ้นไป โดยบ้านราคาประเมิน 1.5-3 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 50% เป็น ล้านละ 500 บาท) ร้อยละ 55.4 เห็นว่า เหมาะสมแล้วกับอัตราภาษีที่อยู่อาศัยที่เก็บ 0.1% ของราคาประเมิน ร้อยละ 10.8 เห็นว่า ไม่เหมาะสม ในจำนวนนี้... ร้อยละ 7.0 เห็นว่าควรเก็บที่อัตราที่ต่ำกว่า 0.1% ของราคาประเมิน ร้อยละ 3.8 เห็นว่าควรเก็บที่อัตราที่สูงกว่า 0.1% ของราคาประเมิน ร้อยละ 17.0 เห็นว่า ควรใช้อัตราก้าวหน้าในการจัดเก็บ ร้อยละ 3.0 เห็นว่า ไม่ควรเก็บเลยในกรณีที่อยู่อาศัย ร้อยละ 13.8 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

4. เห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรม 0.05% (ล้านละ 500 บาท) ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน
ร้อยละ 32.3 เห็นด้วย
ร้อยละ 41.5 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นอัตราที่สูงเกินไป อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนและค่อนข้างต่ำจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ลดลง สร้างต้นทุนและภาระ

ให้กับเกษตรกร ดังนั้นจึงควรเว้นภาษีสำหรับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตร แต่ควรมีมาตรการกับนายทุนหรือผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง ร้อยละ 6.2 เห็นว่าควร ควรให้มีการศึกษาถึงผลดีผลเสียให้รอบคอบและรอบด้านกว่านี้ อาทิ วิธีการประเมินราคา การแยกที่ดินเกษตรกรทำเองกับที่เช่า

เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินน้อยกับนายทุน รวมถึงแนวทางพัฒนาการเกษตรจากภาษีที่เก็บ ร้อยละ 20.0 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

5. เห็นด้วยหรือไม่กับการนำรายได้ส่วนหนึ่งจาก “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” มาสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน

ร้อยละ 50.8 เห็นด้วย

ร้อยละ 33.8 ไม่เห็นด้วย

ร้อยละ 15.4 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

6. “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้หรือไม่
                                                                                ใช่          ไม่ใช่          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

6.1  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะช่วยลดการซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไรได้ ใช่หรือไม่                27.7        56.9              15.4
6.2  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บจากคนในท้องถิ่น           35.4        46.2              18.4
เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น  จะช่วยให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง
การใช้เงินงบประมาณ  และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น ใช่หรือไม่
6.3  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่คนในท้องถิ่นจ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จะมีส่วนทำให้การเมือง        30.8        32.3              36.9
ท้องถิ่นมีการพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม ใช่หรือไม่
6.4  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะช่วยสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม              26.2        50.8              23.0
ได้อย่างมีนัยสำคัญ  ใช่หรือไม่
6.5  “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะช่วยให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ลดที่ดินรกร้างว่างเปล่า          43.1        33.8              23.1
ได้อย่างมีนัยสำคัญ ใช่หรือไม่

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

1) การเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

2) ระดับอัตราภาษีที่เหมาะสม

3) ประโยชน์ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 29 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย บริษัททิพยประกันชีวิต คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานชั้นนำภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล           :  13 – 20 มีนาคม 2558

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :  25  มีนาคม 2558

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

          หน่วยงานภาครัฐ                              36      55.4
          หน่วยงานภาคเอกชน                           20      30.8
          สถาบันการศึกษา                               9      13.8
          รวม                                       65       100
เพศ
          ชาย                                       41      63.1
          หญิง                                       24      36.9
          รวม                                       65       100
อายุ
          26 ปี – 35 ปี                               14      21.5
          36 ปี – 45 ปี                               29      44.7
          46 ปีขึ้นไป                                  22      33.8
          รวม                                       65       100
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                    3       4.6
          ปริญญาโท                                   45      69.2
          ปริญญาเอก                                  17      26.3
          รวม                                       65       100
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                     6       9.2
          6-10 ปี                                    16      24.6
          11-15 ปี                                   15      23.1
          16-20 ปี                                    9      13.8
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                             19      29.2
          รวม                                       65       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ