คนไทย 1 ใน 3 ได้เข้าร่วมลงทะเบียนมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ 64.5% ลงทะเบียนสำเร็จ ผู้ลงทะเบียนเลือกใช้เงินมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
โดยส่วนใหญ่ 52.2% เลือกเพราะเป็นจังหวัดที่ใกล้ที่อยู่อาศัย 71.4% จะนำเงินที่ได้ไป ซื้อของใช้ภายในบ้าน 65.6% ชี้มาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ช่วยให้ ใช้เงินได้คล่องตัวขึ้นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในการพาครอบครัวไปเที่ยวกิน ช้อป
ส่วนใหญ่ 55.7% รอการขยายเวลาและเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียน มาตรการ ชิม ช้อป ใช้
ส่วนใหญ่ 50.4% เห็นด้วยหากภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบนี้อีกในปีหน้า
หลังจากมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ มีผู้ลงทะเบียนครบจำนวนตามเป้าหมาย กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจ ความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อมาตรการ ชิม ช้อป ใช้” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,184 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.3 ไม่ได้เข้าร่วมลงทะเบียนมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ขณะที่ร้อยละ 34.7 ได้เข้าร่วมลงทะเบียน
ประชาชนที่เข้าร่วมลงทะเบียนมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 สามารถลงทะเบียนได้ ขณะที่ร้อยละ 35.5 ไม่สามารถลงทะเบียนได้ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 14.7 ให้เหตุผลว่าต้องรอคิว รองลงมาร้อยละ 13.0 ให้เหตุผลว่าครบ 1 ล้านคนต่อวันแล้ว และร้อยละ 9.5 ลงแล้วไม่ผ่านเกณฑ์
โดยผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้เลือกใช้เงินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 17.7 รองลงมาคือภาคกลางคิดเป็นร้อยละ 16.2 และ ภาคเหนือคิดเป็นร้อยละ 15.5 โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลที่เลือกจังหวัดไปใช้เงินมาตรการ ชิม ช้อป ใช้คือ เป็นจังหวัดที่ใกล้ที่อยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ 52.2 รองลงมาคือ เป็นจังหวัดที่อยากไปท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 22.6 และเป็นจังหวัดที่ทำงานอยู่คิดเป็นร้อยละ 18.5
ทั้งนี้เมื่อถามว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในเรื่องใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 จะนำไปซื้อของใช้ภายในบ้าน รองลงมาร้อยละ 50.8 จะนำไปซื้อของกิน ไปใช้ในร้านอาหาร และร้อยละ 10.3 จะนำไปใช้เป็นค่าโรงแรม ค่าที่พัก
เมื่อถามความเห็นต่อมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ทำให้ตัวท่านและครอบครัวสามารถไปเที่ยว ไปกิน ไปช้อป ใช้เงินได้คล่องตัวขึ้นมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.6 เห็นว่าช่วยให้ใช้เงินได้คล่องตัวขึ้นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 34.4 เห็นว่าค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
เมื่อถามว่า “อยากให้ภาครัฐมีการขยายเวลาและเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียน มาตรการ ชิม ช้อป ใช้ หรือไม่” ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.7 อยากให้เพิ่ม เพราะจะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ร้อยละ 44.3 ไม่อยากให้เพิ่มเพราะคิดว่าไม่ช่วยอะไรเปลืองภาษีประชาชน
ส่วนความเห็นต่อมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ช่วงปลายปีได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.1 เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 46.9 เห็นว่าจะช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
สุดท้ายเมื่อถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่หากภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบนี้อีกในปีหน้า” ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.4 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 40.2 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 9.4 ไม่แน่ใจ
โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้
รายละเอียดการสำรวจ
1) เพื่อสะท้อนการเข้าร่วมมาตรการชิม ช้อป ใช้ ของประชาชน
2) เพื่อต้องการทราบถึงการใช้จ่ายหลังการเข้าร่วมมาตรการ ชิม ช้อป ใช้
3) เพื่อสะท้อนถึงมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ช่วงปลายปีได้เพียงใด
4) เพื่อสะท้อนความเห็นต่อการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้อีกในปีหน้า
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วย ข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 5-7 ตุลาคม 2562
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 10 ตุลาคม 2562
--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--