ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.8 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ต่อการที่ ครม. อนุมัติโดยหลักการให้ บุคลากรทางแพทย์ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.3 ให้เหตุผลว่า เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรการแพทย์ ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.1 ระบุว่ารัฐบาลควรเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยช่วงปฏิบัติงานสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อเป็น ขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละตนเอง
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “กำลังใจ แด่...นักรบเสื้อกาวน์” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจาก ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวนทั้งสิ้น 1,060 คน พบว่า
ความเห็นต่อการที่ ครม. อนุมัติโดยหลักการให้ บุคลากรทางแพทย์ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญร้อยละ 75.8 ระบุว่าเห็นด้วย อย่างยิ่ง รองลงมาร้อยละ 21.8 ระบุว่าเห็นด้วย และร้อยละ 1.4 ระบุว่าไม่แน่ใจ มีเพียงร้อยละ 1.0 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้เมื่อถามว่าเหตุใดจึงเห็นด้วยที่ ครม. อนุมัติโดยหลักการให้ บุคลากรทางแพทย์ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 83.3 ให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรการแพทย์ รองลงมาร้อยละ 63.5 ให้เหตุผลว่าสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับบุคลากรการแพทย์ และร้อยละ 51.6 ให้เหตุผลว่าบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักควรได้รับสิ่งตอบแทน
สำหรับภายใต้สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.1 ระบุว่ารัฐบาลควรเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยช่วงปฏิบัติงานสถานการณ์การแพร่ ระบาด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละตนเอง รองลงมาร้อยละ 69.9 ระบุว่าควรปรับปรุงสวัสดิการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และร้อยละ 67.1 ระบุว่าควรปรับเพิ่มเงินเดือนหรือเงินค่าตอบแทนประจำจากฐานค่าจ้างเดิมทุกตำแหน่ง
โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้
รายละเอียดการสำรวจ
เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการปรับบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้าราชการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแด่ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 4 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ใช้การเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ผ่าน social media รูปแบบต่างๆ โดยเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถาม แบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนการประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 3 – 7 เมษายน 2563
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 8 เมษายน 2563
ที่มา: ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์