คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 83.1 ได้ไปตลาด ตลาดนัด มากที่สุดหลังมาตรการหยุดเชื้อเพื่อชาติได้รับการผ่อนปรน รองลงมาร้อยละ 44.8 ได้ไปห้างสรรพสินค้า ส่วนสถานที่ที่ไม่คิดว่าจะไปเพราะกังวลการติดเชื้อมากที่สุดคือ โรงภาพยนตร์ คิดเป็นร้อยละ 91.1 หากมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. 63 ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 51.8 อยากให้แจกเงินแบบให้เปล่า รองลงมาร้อยละ 24.1 อยากเอาใบเสร็จท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษี ประชาชนร้อยละ 46.6 อยากให้ การหยุดชดเชยแทนวันสงกรานต์ไปรวมกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่เลย
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คนไทยไปไหน...หลังผ่อนคลายมาตรการหยุดเชื้อเพื่อชาติ” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,204 คน พบว่า
สถานที่ที่ประชาชนได้ไปมากที่สุดภายหลังมาตรการหยุดเชื้อเพื่อชาติได้รับการผ่อนปรนคือ ตลาด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 83.1) รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 44.8) และร้านเสริมสวย ร้านตัดผม (ร้อยละ 40.1) ส่วนสถานที่ที่ประชาชนไม่คิดว่าจะไปเพราะกังวลการติดเชื้อมากที่สุดคือ โรงภาพยนตร์ (ร้อยละ 91.1) รองลงมาคือ การใช้สนามบินภายในประเทศ (ร้อยละ 83.8) และสถานบริการ สปา ร้านนวด (ร้อยละ 81.5)
เมื่อถามว่าอยากให้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. 63 เป็นอย่างไรพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.8 อยากให้แจก เงินแบบให้เปล่า รองลงมาร้อยละ 24.1 นำใบเสร็จค่าที่พัก ค่าอาหาร มาลดหย่อนภาษี และร้อยละ 21.2 ให้วอชเชอร์ส่วนลดที่พักร้านอาหาร
สุดท้ายเมื่อถามถึงความคาดหวังต่อการหยุดชดเชยแทนวันสงกรานต์พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.6 คาดหวังอยากให้ไปรวมกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่เลย รองลงมาร้อยละ 33.3 คาดหวังให้หยุด ในช่วงเดือนที่ไม่มีวันหยุดเลยเช่น เดือนกันยายน และร้อยละ 20.1 คาดหวังว่าจะหยุดยาวติดต่อกันไปเลย ในช่วงวันหยุดยาว ช่วงใดช่วงหนึ่ง
โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถามดังต่อไปนี้
วัตถุประสงค์การสำรวจ
1) เพื่อต้องการทราบถึงสถานที่ที่ได้ไปภายหลังมาตรการหยุดเชื้อเพื่อชาติ ได้รับการผ่อนปรน
2) เพื่อสะท้อนถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. 63 ที่อยากให้เป็น
3) เพื่อสะท้อนถึงความคาดหวังต่อการหยุดชดเชยแทนวันสงกรานต์
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อ คำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 8 - 10 มิถุนายน 2563
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 13 มิถุนายน 2563
ที่มา: ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์