ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจความเป็นอยู่ของตนเองในครึ่งปีแรกเฉลี่ย 3.07 คะแนน จากเต็ม 5 คะแนน
โดยร้อยละ 40.1 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเงินตอนนี้ มีรายได้แบบเดือนชนเดือนไม่พอเก็บออม
ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.6 หมดเงินไปกับค่าเดินทาง/ค่าน้ำมัน และร้อยละ 33.3 หมดเงินไปกับการเสี่ยงโชค/เล่นหวย/ซื้อลอตเตอรี่
ทั้งนี้ร้อยละ 49.6 วอนรัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง สินค้าราคาแพงเป็นอันดับแรกเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
ผลสำรวจเรื่อง ?ความเป็นอยู่ของคนไทยในครึ่งปีแรกของปี 66?
กรุงเทพโพลล์โดย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นของประชาชนเรื่อง ?ความเป็นอยู่ของคนไทยในครึ่งปีแรกของปี 66? โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,077 คน พบว่า
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจชีวิตความเป็นอยู่ในภาพรวมเฉลี่ย 3.07 คะแนนจากเต็ม 5 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านที่มีความพึงพอใจมากที่สุดคือ ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว เฉลี่ย 4.00 คะแนน ขณะที่ด้านที่มีความพึงพอใจน้อยที่สุดคือ ด้านค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เฉลี่ย 2.03 คะแนน
ส่วนสถานการณ์ทางการเงินในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 40.1 ระบุว่า มีรายได้แบบเดือนชนเดือน ไม่พอเก็บออม/ยังไม่ได้ออมเลย รองลงมาร้อยละ 26.1 ระบุว่า มีรายได้ไม่เพียงพอต้องหยิบยืม/เงินขาดมือ และร้อยละ 23.8 ระบุว่า มีรายได้เพียงพอ มีเงินออมลดลง/ไม่ได้ตามเป้า ที่เหลือร้อยละ 10.0 ระบุว่ามีรายได้เพียงพอ มีเงินออมตามเป้า
ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าหมดเงินไปกับเรื่องใดบ้างนอกจากค่าอาหารการกิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.6 ระบุว่า หมดเงินไปกับค่าเดินทาง/เติมน้ำมัน/เติมก๊าซ รองลงมาร้อยละ 33.3 ระบุว่า เสี่ยงโชค/เล่นหวย/ซื้อลอตเตอรี่ และร้อยละ 32.5 ระบุว่า ช้อปปิ้งออนไลน์/ซื้อของออนไลน์
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับแรกเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.6 ระบุว่า เรื่องค่าครองชีพสูง สินค้าราคาแพง รองลงมาร้อยละ 20.7 ระบุว่า เรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวของไทย และร้อยละ 11.1 ระบุว่า เรื่องควบคุมราคาน้ำมัน
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ความพึงพอใจต่อการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ สถานภาพทางการเงินการออม ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน และเรื่องที่อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ไขมากที่สุดอันดับแรก ทั้งนี้เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
ประชากรที่สนใจศึกษา
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)
การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 4 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
วิธีการรวบรวมข้อมูล
ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอนประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นจึงนำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 17- 21 กรกฎาคม 2566
วันที่เผยแพร่ผลการสำรวจ : 29 กรกฎาคม 2566
ที่มา: ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์