กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันหรือไม่?

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 15, 2010 13:20 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายเมธี สุภาพงษ์

ผู้อำนวยการอาวุโส

ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ

ช่วงนี้ที่มี “ผู้รู้” และนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นกันมากว่า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบัน และถ้ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากๆ ก็ให้แบงค์ชาติพิมพ์เงินบาทออกมาซื้อเงินตราต่างประเทศเหล่านี้ไว้ และหากกลัวเงินบาทออกมาเยอะจนเกิดเงินเฟ้อ แบงค์ชาติก็ขายพันธบัตรเพื่อดูดเงินบาทออกจากระบบไป

ความจริงแนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ทราบกันดี และประเทศไทยเคยใช้มาก่อนในอดีต แต่การจะนำมาใช้ในขณะนี้ จำเป็นต้องมองให้รอบด้าน และมองให้ไกลในหลายประเด็น ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว

ขณะนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยและสภาพแวดล้อมของโลกแตกต่างกับในอดีตในหลายเรื่อง โดยส่วนที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ ความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่มีความแตกต่างของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (G3) ทำให้การไหลเข้าไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศมีขนาดใหญ่และผันผวนมากขึ้น เพื่อแสวงหาประเทศที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ดังนั้น ภายใต้ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและความผันผวนที่สูง การทำนโยบายให้ค่าเงินไม่เคลื่อนไหวไปตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำได้ยากขึ้นและไม่ควรทำเนื่องจาก

ประเด็นแรก เป็นการยากที่จะรู้ว่าค่าเงินบาทที่ “เหมาะสม” ควรจะอยู่ที่เท่าไร โอกาสที่จะเลือกผิดจึงเป็นไปได้มาก โดยถ้าไปกำหนดไว้ที่อ่อนเกินไป หรือตีค่าเงินบาทถูกเกินไป นั่นก็หมายถึงสินค้าและสินทรัพย์ของไทยก็จะถูกลงในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ทำให้จะต้องพิมพ์เงินบาทออกมาจำนวนมาก เพื่อซื้อเงินจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน เพื่อรักษาค่าเงินให้คงที่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ แต่ถ้าขายพันธบัตรเพื่อดูดเงินบาทออกจากระบบก็จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็เข้ามาซื้อพันธบัตรที่แบงค์ชาติออกนั่นเอง และอีกส่วนหนึ่งก็จะเข้ามาทำให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น และนำไปสู่การเกิดฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์และการโจมตีค่าเงินไม่ต่างจากวิกฤตที่เกิดในปี 2540

นอกจากนี้ การขายพันธบัตรเพื่อดูดเงินบาทเป็นจำนวนมหาศาล อาจบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศว่าในอนาคตจะมีความสามารถใช้คืนดอกเบี้ยและเงินต้นจากการออกพันธบัตรเหล่านั้นได้หรือไม่ ซึ่งถ้าความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง ที่สุดแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมของประเทศไม่ว่าจะเป็นส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของประเทศ

ประเด็นที่สองคือ ประเทศไทยค้าขายอยู่กับหลายประเทศ การไปผูกค่าเงินไว้กับสหรัฐฯ หมายความว่า เราไปผูกเศรษฐกิจไทยให้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว ในปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงต้องอ่อนและอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จึงต้องต่ำมาก เศรษฐกิจไทยที่กำลังขยายตัวได้ดี ถ้ามีค่าเงินอ่อนและอัตราดอกเบี้ยต่ำเหมือนสหรัฐฯ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็จะทำให้เกิดปัญหากับคนที่ฝากเงินอยู่ โดยเฉพาะคนที่เกษียณอายุที่อยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียว และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นในอนาคต ซึ่งหมายถึงค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยของไทยก็ต้องสูงขึ้น และอาจไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นก็ได้

ดังนั้น แนวคิดที่เสนอให้กลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ก็เป็นสิ่งที่คิดฝันกันได้ แต่ในฐานะของธนาคารกลาง ในการตัดสินใจเลือกนโยบายใดก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึงผลที่จะได้รับทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบคอบ ที่สำคัญคือจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก

          บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
          เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ