ดัชนีผลิตภาพแรงงานของไทย (Labour Productivity Index)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 14:03 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

อโนทัย พุทธารี

ปุณฑริก ศุภอมรกุล

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม

บทคัดย่อ

ผลิตภาพการผลิตเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจระยะยาว รวมถึงสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในแต่ละประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผลิตภาพการผลิตจะมีอิทธิพลต่อ อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ การอุปโภคบริโภค การลงทุน และการจ้างงาน ดังนั้นการที่จะพัฒนาศักยภาพการผลิต จำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพของปัจจัยในการผลิตเป็นกำลังสำคัญ ปัจจัยการผลิตที่เป็นตัวแปรสำคัญของผลิตภาพการผลิต คือ แรงงาน และ ทุน สำหรับการวัดผลิตภาพการผลิตที่เป็นที่นิยมที่สุดคือ ผลิตภาพการผลิตของปัจจัยแรงงาน

การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากผลิตภาพแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญที่สามารถแสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ โดยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานของไทยขยายตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและมีแนวโน้มลดลงโดยผลิตภาพแรงงานในภาคเกษตรแทบมิได้เพิ่มขึ้น รวมถึงภาคที่มิใช่ภาคเกษตรและภาคการผลิตก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ในขณะที่มีการจ้างงานกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายภาคธุรกิจ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่าผลิตภาพแรงงานของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้ออยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศในเอเซีย สืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้เพิ่มเติมการเผยแพร่ข้อมูลในระดับภาพรวมภาวะแรงงานของประเทศทั้งที่เป็นรายเดือนและรายไตรมาสขึ้นเพื่อให้ข้อมูลการสำรวจภาวะแรงงานถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากขึ้น มิใช่แต่เฉพาะเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายเท่านั้น ยังรวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยด้านแรงงานของประเทศอีกด้วย โดยจะเริ่มเผยแพร่ข้อมูลใหม่ในวันที่ 30 ธันวาคม 2010 เป็นต้นไป

ความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และวิวัฒนาการด้านอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน ได้ส่งผลให้ประเทศต่างๆ พยายามที่จะมุ่งแสวงหาปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพภายในประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยการเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้ประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมุ่งให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป ผลิตภาพการผลิต (Productivity) ไม่ได้เป็นเพียงแค่อัตราส่วนของปริมาณผลิตผลที่ได้ต่อปริมาณสิ่งที่ใส่เข้าไปในการดำเนินการผลิต (วัตถุดิบ แรงงาน เครื่องจักร เงินทุนเป็นต้น) หรือไม่ได้เป็นเพียงแค่ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตเพียงเท่านั้น แต่ผลิตภาพการผลิต ยังหมายรวมถึง ความสามารถ และความสนใจของแรงงาน (อุปสงค์ และ อุปทานของแรงงาน) เทคโนโลยี การจัดการ สังคมสิ่งแวดล้อม และ โครงสร้างพื้นฐานในการทำงาน ประกอบรวมกับปริมาณที่ใส่เข้าไปในการดำเนินการผลิต จะเห็นได้ว่าแรงงานถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิต การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความสามารถในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพที่ใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในทางสถิติสามารถวัดความสามารถของแรงงานได้ด้วยผลิตภาพแรงงาน

นอกจากนี้ ผลิตภาพแรงงานยังเป็นประโยชน์ต่อการประเมินผลกระทบของนโยบายในตลาดแรงงาน อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพแรงงานกับทรัพยากรมนุษย์ Human Capital เพื่อนำไปสู่การยกระดับการศึกษาและการพัฒนาทักษะด้านแรงงาน รวมทั้ง กลไกการกำหนดค่าตอบแทนจากแรงงานเทียบกับผลิตภาพแรงงานที่แท้จริง และยังนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานที่อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพ(*1)

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของข้อมูลแรงงานที่มีความจำเป็นต่อการติดตามภาวะเศรษฐกิจและประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมถึงสะท้อนแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่เกิดจากตลาดแรงงาน ธปท.จึงได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลด้านแรงงาน โดยได้รวบรวมข้อมูลจากผลการสำรวจภาวะแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และได้จัดทำข้อมูลผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) เพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลมีความครบถ้วน สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเตือนภัยจากตลาดแรงงาน รวมทั้งการวิเคราะห์ภาวะแรงงานและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(*1) Key Indicators of the Labour Market (KILM): 2001-2002, International Labour Organisation, Geneva, 2002, page 621.

1. การวัดผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity)

ผลิตภาพแรงงาน หมายถึง อัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ(*2) ซึ่งในทางทฤษฎีผลิตภาพแรงงานนั้นมีทั้งแบบผลิตภาพเฉลี่ยของแรงงาน (Average Labour Productivity) และผลิตภาพแรงงานหน่วยสุดท้าย (Marginal Labour Productivity)

โดยทั่วไป ผลิตภาพแรงงานจะหมายถึงผลิตภาพเฉลี่ยของแรงงานซึ่งในการคำนวณมี 2 แบบ คือ ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคน (Labour Productivity per Employed Person) และ ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงาน (Labour Productivity per Hour Worked)

อย่างไรก็ตาม การคำนวณผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนสามารถทำได้ง่ายกว่าเฉลี่ยต่อชั่วโมง แต่ก็มีหลาย ประเทศมีการคำนวณผลิตภาพแรงงานทั้ง 2 แบบ โดยจากการรวบรวมข้อมูลของ International Labour Organization (ILO)(*3) พบว่า มี 51 จาก 123 ประเทศที่สามารถจัดทำผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงาน อาทิ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เริ่มจัดทำผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2000 ครอบคลุมเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น (รูปที่ 1) ซึ่งในการเผยแพร่ได้จำแนกตาม ISIC 4 digits

(*2) Bureau of Labor Statistics (BLS), BLS Handbook of Methods: Chapter 11: Industry Productivity Measures, 13th December 2010.

(*3) International Labour Organization (ILO), Key Indicators of Labour Market (KILM) 2010.

สำหรับข้อมูลในระดับภาพรวมของประเทศนั้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มจัดทำดัชนีผลิตภาพแรงงานขึ้นทั้งแบบเฉลี่ยต่อคนและเฉลี่ยต่อชั่วโมง(รูปที่ 2 และ3) โดยใช้ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ราคาคงที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และข้อมูลผู้มีงานทำ จากการสำรวจภาวะการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของดัชนีทั้ง 2 แบบมีความสอดคล้องกันทั้งในรูปของระดับและอัตราการเปลี่ยนแปลง

ธปท. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วควรจัดทำเฉพาะผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคน โดยการเผยแพร่ข้อมูลจะมีความล่าช้าเพียง 1 ไตรมาส เช่นเดียวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ขณะที่ข้อมูลผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงจะต้องมีการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลดิบจาก สสช. ซึ่งธปท. อยู่ระหว่างการปรับปรุงการจัดทำข้อมูลผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงเพื่อให้สามารถเผยแพร่เป็นรายไตรมาสต่อไป ซึ่งรวมถึงข้อมูลต้นทุนแรงงานต่อ 1 หน่วยการผลิต (Unit Labour Cost: ULC) ด้วย

2. ผลิตภาพแรงงานของไทย

การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพแรงงานของไทยขยายตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและมีแนวโน้มลดลง สะท้อนว่าไทยมุ่งเน้นปัจจัยด้านเงินทุนและปริมาณแรงงานมากกว่าการพัฒนาคุณภาพแรงงานกล่าวคือ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของภาคการผลิตเป็นสำคัญ ส่วนผลิตภาพแรงงานในภาคเกษตรแทบมิได้เพิ่มขึ้น คือ อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เท่านั้น (ตารางที่ 1) นอกจากนี้ ภาคที่มิใช่ภาคเกษตรและภาคการผลิตมีผลิตภาพแรงงานลดลงขณะที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคก่อสร้าง การค้า อสังหาริมทรัพย์ การบริหารราชการแผ่นดิน และการบริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์

Table 1: Annual Average Growth of Labour Productivity, Employment, and GDP
      (%)                       Labour Productivity                           Employment   GDP

2002-5 2006 2007 2008 2009 2010 2002-10 2002-10 2002-10

3Q

Total                        3.5    1.9    4.8    0.4    -4.2    6.1     2.6       1.9      4.8
Agriculture                  1.6    0.4    2.2    1.8     1.6   -7.1     0.6       0.4      2.2
Non-Agriculture              3.0    2.8    5.1    0.6    -5.6    4.9     2.0       2.8      5.1
Manufacturing                4.9    1.1    6.5    7.0    -4.6   12.6     4.9       1.1      6.5
Construction                 0.0    4.7    3.4   -8.9    -2.9    4.4    -0.8       4.7      3.4
Wholesale & Retail Trade     1.0    3.3    3.0   -2.2    -5.2   -0.8    -0.2       3.3      3.0
Hotels and Restaurants       1.7    3.9    4.5   -0.1    -8.3    0.7     0.2       3.9      4.5
Real Estate                 -1.2    5.2    4.3    0.5    -0.5   -0.4    -0.8       5.2      4.3
Public Administration        0.0    4.4    2.8   -2.5    -3.6   -5.0    -1.3       4.4      2.8
Health & Social Work        -0.8    4.3    2.8   -7.6    -0.7    0.4    -1.4       4.3      2.8
Source: The National Statistics Office (NSO) and the Office of National Economic and Social Development Board (NESDB)
Note: Compiled by Bank of Thailand.

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะภาคการผลิตที่ผลิตภาพแรงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดโดยใช้ข้อมูลการสำรวจของ สศอ. พบว่า กลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก (สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เป็นกลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานช้ากว่ากลุ่มที่ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ (สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) (รูปที่ 4) ทั้งที่กลุ่มเพื่อการส่งออกเป็นหลักเป็นกลุ่มที่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงและมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าผลิตภาพแรงงานของกลุ่ม Hard Disk Drive (หมวดเครื่องจักรสำนักงาน) มิได้มีการพัฒนาเลยนับตั้งแต่ปี 2007 โดยผลิตภาพแรงงานลดลง 6.5 สะท้อนว่าการผลิตในหมวดดังกล่าวเป็นเพียงการผลิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งมิได้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพแรงงาน (ตารางที่ 2) นอกจากนี้ วิกฤตในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008-9 ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานลดลงในเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตภาพแรงงานลดลงถึงร้อยละ 27.3 ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานค่อนข้างสูงเป็นกลุ่มที่ผลิตภาพแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานของไทยอยู่ในระดับต่ำ คือ การขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน อาทิ การขาดความรู้ ในทางทฤษฎี ซึ่งเป็นผลจากการที่มีวุฒิการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการพัฒนาทักษะในด้านปฏิบัติต่อไป

Table 2: Average Growth of Labour Productivity
                                        (%) Weight        Labour Productivity

in 2000 2001-5 2006 2007 2008 2009 2010

11m

Total                                       100.0      6.5    3.3    1.0    1.9   -8.7    6.8
Export less than 30% of total production     42.8      7.4    0.8    0.4    3.3   -3.6   -0.1
Food products and beverages*                 10.6      6.5    7.6    5.4    6.5   -2.7  -13.0
Textiles**                                    4.9      5.9   -2.2   -2.8   -1.6   -3.2    8.8
Petroleum products                            4.3     11.1   -3.1   -1.0   15.2   -4.1   -2.9
Tobacco products                              4.1     12.2    1.4    0.5    4.1  -18.7   23.4
Export between 30% to 60 % of total          26.4      8.8    5.6   -1.4    2.5  -18.2   27.1
production
Motor vehicles, trailers and semi-trailers   13.9     11.8    5.3   -4.6    5.7  -27.3   45.3
Plastic products                              3.6      5.1   12.6   -6.0    2.4   -0.6   10.7
Raw sugar                                     2.2     24.3   13.0   38.9   -5.0    5.9    2.1
Export more than 60 % of total production    30.8      3.2    5.0    4.4   -1.1   -7.1   -0.4
Radio, television and communication           6.2      8.6    4.6    4.6  -12.0  -21.7  -13.2
equipment and apparatus
Office, accounting and computing              3.7     -0.5   16.9   -6.5    0.0    0.3   -0.3
machinery
Rubber products***                            3.2      3.3    0.0   -8.8   -6.5   -5.5    7.5
Garment                                       3.2      5.0    0.2    8.8   14.6   -4.3    6.5
Source: The Office of Industrial Economics (OIE).
Note: * exclude Manufacture of starches and starch products , Manufacture of sugar

หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบอยู่ในระดับปานกลางโดยในทศวรรษ 2000 อยู่ที่ 14,000 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งมีระดับต่ำกว่าประเทศในเอเซีย 4 ประเทศ ได้แก่ สิงค์โปร์ ไต้หวัน เกาหลี และมาเลเซีย แต่สูงกว่าเวียดนาม อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย (รูปที่ 5) ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ความรู้พื้นฐานของแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ (ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย) โดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตร ส่วนภาคอื่นๆ ที่มิใช่ภาคเกษตรและภาคการผลิตที่มีทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยีต่ำ และมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจีน เวียดนาม และอินเดีย (ตารางที่ 3) ซึ่ง หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในอีก 5 ปีผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของจีนจะอยู่ในระดับสูงกว่าไทย และจะสูงกว่าเป็น 2 เท่าภายในอีก 15 ปี (*4) ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงควรมีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพแรงงาน ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจว่าการพัฒนาศักยภาพแรงงานขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง มิใช่เพียงแค่การจัดการศึกษาเท่านั้น แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการของภาคการผลิตด้วย โดยที่ผ่านมาอัตราการศึกษาต่อในระดับสูงโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการผลิตมีความต้องการแรงงานในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในโรงงานและแรงงานผู้ที่ใช้ฝีมือ ส่งผลให้อัตราว่างงานของระดับอุดมศึกษาอยู่ในระดับสูง (รูปที่ 6)

(*4) คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

Table 3: Average Growth of Labour Productivity

(constant 1990 US$ at PPP)

1980s 1990s 2000s

Cambodia            1.4    1.9      4.6
Vietnam             2.9    5.1      4.8
India               3.0    3.8      4.6
China               4.8    5.6     10.3
Philippines        -1.5    0.4      2.6
Indonesia           0.7    2.9      4.3
Thailand            3.9    5.2      2.6
Malaysia            2.4    3.9      3.7
Korea               6.1    4.7      3.1
Taiwan              4.5    4.8      2.4
Singapore           3.9    3.2      2.2
Source: Key Indicators of Labour Market (KILM), International
Labour Organization (ILO)

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยส่งผลให้อัตราการเข้าสู่กำลังแรงงาน(*5) (Labour force participation rate) ของไทยลดต่ำลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 72.9 เทียบกับในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 81.5 โดยกลุ่มอายุที่เข้าสู่กำลังแรงงานลดลงมาก คือ ช่วงอายุ 15-24 ปี โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 48.4 เทียบกับในอดีตที่เคยสูงถึงร้อยละ 77.9 (ตารางที่ 4) ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพแรงงานเพื่อชดเชยการลดลงของสัดส่วนประชากรวัยแรงงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

Table 4: Labour Force Participation Rate (%)
Age Group 1980s 1990s 2000s 2009
15+          81.5   75.9    73.3   72.9
15-24        77.9   64.8    50.6   48.4
25-64        90.4   87.1    87.3   87.4
65+          28.2   29.4    30.1   30.5
Source: Key Indicators of Labour Market (KILM),
International Labour Organization 0 (ILO).

(*5) Labour force participation rate is a measure of the proportion of a country’s working age population that engages actively in the labour market, either by working or looking for work (ILO : Guide to Understanding Key Indicators of the Labour Market (KILM)).

3. การเผยแพร่ข้อมูลสถิติแรงงานของธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน หน่วยงานหลักที่ทำการเผยแพร่ข้อมูลสถิติแรงงาน ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน โดยข้อมูลหลักที่ทำการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. ได้แก่ ภาวะการทำงานของประชากรเท่านั้น แต่จากความสำคัญของข้อมูลแรงงานดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้ง ยังมีข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาวะแรงงาน (Labour Force Survey: LFS) อีกหลายส่วนที่ไม่ได้ทำการเผยแพร่เพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้งาน อาทิ ค่าตอบแทนในการทำงานของลูกจ้าง การว่างงานจำแนกตามระดับการศึกษา หรือข้อมูลผลิตภาพแรงงานที่ ธปท. จัดทำเพิ่มเติมธปท. จึงได้เพิ่มเติมการเผยแพร่ข้อมูลสถิติด้านแรงงานซึ่งการมีตารางมาตรฐานเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่มีความต้องการใช้งานอย่างแพร่หลายจะช่วยให้ข้อมูลการสำรวจภาวะแรงงานถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากขึ้น มิใช่แต่เฉพาะเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายเท่านั้น ยังรวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยด้านแรงงานของประเทศอีกด้วยโดยจะเริ่มเผยแพร่ข้อมูลใหม่ในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 8 ตารางดังนี้(*6)

1. ผู้มีงานทำ จำแนกตามสถานภาพทำงาน (EC_RL_010)

2. ผู้มีงานทำ จำแนกตามการศึกษา (EC_RL_011)

3. ผู้มีงานทำ จำแนกตามอาชีพ (EC_RL_012)

4. จำนวนผู้มีงานทำ จำแนกตามชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ (EC_RL_013)

5. ค่าจ้างแรงงงานเฉลี่ย จำแนกตามอุตสาหกรรม (EC_RL_014)

6. ผู้ว่างงาน จำแนกตามอุตสาหกรรมที่เคยทำ (EC_RL_015)

7. ผู้ว่างงาน จำแนกตามการศึกษา (EC_RL_016)

8. ดัชนีผลิตภาพแรงงาน (EC_EI_029)

สำหรับข้อมูลใน 7 ตารางแรกจะเผยแพร่ข้อมูลเป็นรายเดือนและสำหรับข้อมูลดัชนีผลิตภาพแรงงานเผยแพร่ เป็นรายไตรมาส นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานและมีความเป็นต่อการติดตามภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายมหภาค

(*6) ตารางที่ 1- 7 : http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/RealSector/Pages/Index.aspx

ตารางที่ 8: http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/EconomicIndices/Pages/StatRealsectorIndices.aspx

เอกสารอ้างอิง

Bureau of Labor Statistics Major Sector Productivity and Costs, Technical Information About the BLS Major Sector Productivity and Costs Measures: USA, 2008.

Matthew Barnes and Mark Williams, UK official productivity estimates: review of methodology: Office for National Statistics, 2004.

F. Bazzazan, Benchmarking of Sectoral Productivity Changes in Iran, June 2010.

Athena Belegri-Roboli, Panayotis Michealides & Maria Markaki, Input-Output Modelling of Labour Productivity and the Working time in Greece, National Technical University of Athens, 2007.

Theo S. Eicher & Thomas Strobel, Germany’s Continued Productivity Slump : An Industry Analysis, IFO Working Papers No.58, March 2008.

Ramon Gomez-Salvador and others, Labour Productivity Developments in the Euro Area, Occasional Paper series No.53, October 2006.

International Labour Office, Guide to Understanding Key Indicators of the Labour Market (KILM). Mustapha Kaci and Jean-Pierre Maynard, Canadian Quarterly Productivity Accounts Technical Notes, Micro- Economic Analysis Division : Canada

K. Nomura & E. Lau, Reading productivity and Economic Trends, APO Productivity Databook 2008, สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ การสัมมนาวิชาการประจำปี 2551, คุณภาพแรงงานไทย (An overview of Thailand’s Quality of Labor), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, พฤศจิกายน 2551

สิริพร ชิดสวน: สารนิพนธ์, ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลิตภาพแรงงานในประเทศไทย: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ตุลาคม 2552

ศุภเจตน์ จันทร์สาส์น, ผลิตภาพของปัจจัยการผลิตโดยรวมและผลิตภาพแรงงานของประเทศไทย : นัยต่อโอกาศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้ประชากรสูงวัย, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ