สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 13:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2554

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และจากเดือนก่อนทั้งด้านอุปทานจากภาคอุตสาหกรรมขยายตัว และด้านอุปสงค์จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี การเบิกจ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัว และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

1. ด้านการผลิต

ผลผลิตภาคเกษตรกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน และจากเดือนก่อน โดยดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 โดยดัชนีราคาพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ตามราคายางพาราที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ดัชนีผลผลิตหดตัว ร้อยละ 0.8 ตามผลผลิตข้าวนาปี และมันสำปะหลัง เนื่องจากประสบกับภัยธรรมชาติ ข้าว ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 13,241 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.7 หดตัวตามการชะลอลงของความต้องการจากตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียว 10 % (เมล็ดยาว) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เกวียนละ 13,661 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.5 ขยายตัวจากเดือนก่อนตามการ เพิ่มขึ้นของส่งออก มันสำปะหลัง ราคายังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยราคาหัวมันสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.04 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 49.8 ส่วนราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.72 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 47.4 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการภายในประเทศและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง อ้อยโรงงาน ราคาเฉลี่ยตันละ 959.6 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.0 เนื่องจากคุณภาพความหวานของอ้อยลดลงบ้างจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.10 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.7 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้น ยางพารา ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 130.7 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 55.1 ขยายตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้ส่งออกเร่งซื้อเพื่อส่งมอบสินค้าตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและส่งออกไปประเทศจีนที่ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 จากการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีวัตถุดิบอ้อยเข้าสู่โรงงานมากขึ้นกว่าปกติ ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออกในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัว เนื่องจากยังคงมีสต็อกคงเหลือจากการผลิตในเดือนก่อน

ภาคการค้า ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 จากการเพิ่มขึ้นของการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ สำหรับการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างอยู่ในระดับสูงแม้ชะลอลงบ้าง จากเดือนก่อนที่เร่งตัวมากเนื่องจากมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากปัญหาอุทกภัย

2. ด้านอุปสงค์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และปริมาณการจดทะเบียนยานยนต์ที่ขยายตัวตามรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดี โดยเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ขยายตัวต่อเนื่องตามธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดอุดรธานี เงินทุนจดทะเบียนของโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่เพิ่มขึ้นมากตามเงินทุนของโรงงานผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในจังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันเงินลงทุนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และชีวภาพ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจพลังงาน

ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากรทั้งสิ้น 3,723.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของภาษีสรรพากรทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 39,183.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นสำคัญ

3. ภาคต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย-ลาว ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 48.2 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้า สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปลาว ได้แก่ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้า อุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง และผ้าผืน/อุปกรณ์ตัดเย็บ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากลาว ได้แก่ สินแร่ทองแดงเครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้าสำเร็จรูป การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 56.5 ตามการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงเป็นสำคัญ เนื่องจากกัมพูชาระงับการนำเข้าชั่วคราว เพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีภายในประเทศ

4. ภาวะการเงิน

เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 439.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.7 โดยเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากกระแสรายวันเพิ่มขึ้นตามเงินฝากส่วนราชการเป็นสำคัญ ขณะที่เงินฝากประจำเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแข่งขันนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับสินเชื่อ จำนวน 462.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.3 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้อยู่ที่ 105.2 ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 106.3

เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 249.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.1 ตามการขยายตัวของเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสินเป็นสำคัญ สำหรับสินเชื่อ จำนวน 560.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามสินเชื่อของธนาคารออมสิน

5. เสถียรภาพราคาและการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่ากับเดือนธันวาคม 2553 ในปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ร้อยละ 7.3 สูงขึ้นจากราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อน ตามการลดลงของหมวดเคหสถาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับลดค่าเอฟที สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงจากร้อยละ 2.0 ในเดือนก่อน

ภาวะการจ้างงาน ณ เดือน ธันวาคม 2553 อยู่ในระดับสูง โดยมีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 13.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 13.5 ล้านคน แบ่งเป็นทำงานในภาคเกษตรกรรม 8.8 ล้านคน และทำงานนอกภาคเกษตร 4.7 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคขนส่ง การขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้าง และมีผู้ว่างงาน 0.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.1

แรงงานไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 6,976 คน ลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลกาตาร์ และฮ่องกง สำหรับจังหวัดที่มีแรงงานไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดคือ อุดรธานี นครราชสีมา และขอนแก่น ตามลำดับ

ส่วนเศรษฐกิจภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ หัวหน้าเศรษฐกร E-mail: saovanec@bot.or.th

นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ