นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุการเพิ่มใช้จ่ายภาครัฐและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยประคองเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง โดยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชนเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมากในสภาวะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากผลกระทบของสงครามทางการค้า อย่างไรก็ตามเพื่อให้ประสิทธิผลของมาตรการคลังการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี
การระดมทุนของภาครัฐเพื่อนำมาใช้จ่ายลงทุนจะได้ไม่ไปเบียดหรือลดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding Out Effect) ไม่ทำให้ต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับตัวสูงขึ้นจากการแย่งเม็ดเงินกันในระบบระหว่างรัฐบาลและเอกชน การออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังขายให้นักลงทุนและประชาชนอาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการและการใช้จ่ายผ่านการกู้ยืมของภาคเอกชนลดลงได้ ผลกระทบของ Crowding Out Effect มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุปทานและอุปสงค์ของเงินในระบบ และภาวะเศรษฐกิจภาวะการลงทุนโดยรวม การเพิ่มปริมาณเงินให้เหมาะสมและเพียงพอจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเบียดเบียนหรือลดการลงทุนภาคเอกชนและไม่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป เร็วเกินไป
การเพิ่มปริมาณเงินในระบบและการลดดอกเบี้ยไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการก่อหนี้เกินตัว ขณะที่ส่งผลบวกต่อการลดภาระต้นทุนทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาต่อเนื่องจะทำให้ลดเงินผ่อนชำระสินเชื่อบ้านและรถยนต์รายเดือนลง โดยเฉพาะจะส่งผลบวกต่อผู้กู้เงินอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากที่สุด ส่งผลดีต่อผู้กู้เงินสินเชื่อส่วนบุคคล ภาระทางการเงินที่ลดลงทำให้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่อาจเผชิญภาวะรายได้ลดลง ถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือถูกเปลี่ยนสภาพการจ้างหรือถูกปลดออกจากงาน ส่วนภาคธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงมากที่สุดในกรณีเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว การผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมพร้อมกับการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐจะลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่อาจเจอภาวะเงินฝืดอ่อน ๆ ได้ในช่วงปลายปีนี้
เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าศักยภาพมากจากสงครามการค้า การลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะเป็นฐานในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ คือ คำตอบสำหรับการทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ การลงทุนโดยภาครัฐเหล่านี้จะเกิด Crowding In Effect เสริมให้เอกชนขยายการลงทุนเพิ่มอีกด้วย ต้นทุนในการระดมทุนของรัฐและเอกชนในต่างประเทศยังไม่เพิ่มขึ้น แม้บริษัทจัดอันดับเครดิตมูดี้ส์จะปรับแนวโน้มเป็นเชิงลบก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีการปรับลดอันดับเครดิต เป็นการปรับแนวโน้มจาก "มีเสถียรภาพ" เป็น "เชิงลบ" แต่หุ้นกู้เอกชนอันดับ BBB อาจต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น เอกชนที่มีฐานะการเงินอ่อนแออาจระดมทุนขาย "หุ้นกู้" ได้ยากขึ้น
นอกจากนี้การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตลดลงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในรอบหลายปี จึงเป็นสัญญาณเตือนสำคัญเรื่องฐานะทางการเงินการคลังของไทยที่อ่อนแอลงแม้นความสามารถในการชำระหนี้ของไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่งก็ตาม การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตครั้งนี้ต่างจากการปรับลดแนวโน้มครั้งล่าสุด 17 ปีที่แล้วเมื่อปี 2551 การปรับลดแนวโน้มเป็นผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลก Subprime Crisis ครั้งนี้เป็นผลกระทบจากสงครามการค้า แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ ขณะนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่แค่ 35% แต่มีปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรง ขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 64% แต่ความเสี่ยงทางการเมืองน้อยกว่าปี 2551 ซึ่งไทยได้ใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ปีในการทำให้แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือกลับมาสู่ระดับ "มีเสถียรภาพ" ต่อมาไทยได้รับการปรับแนวโน้มเป็น "เชิงบวก" และถูกปรับลดลงจาก "เชิงบวก" มาเป็น "มีเสถียรภาพ" อีกครั้งหนึ่งในปี 2563
การสร้างฐานรายได้ใหม่ ๆ ของภาครัฐ นอกจากภาษีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต หากเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ในปีหน้าก็สามารถทำงบประมาณขาดดุลลดลงได้ ก่อหนี้สาธารณะลดลงได้ ฐานะการเงินการคลังภาครัฐก็จะดีขึ้น ประเทศไทยน่าจะได้รับการปรับแนวโน้มให้กลับไปสู่ "มีเสถียรภาพ" และ "เชิงบวก" ได้ในอนาคต ส่วนการได้รับการปรับอันดับเครดิตให้สูงขึ้นอาจต้องใช้เวลาหลายปี ต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ และต้องมีการปฏิรูปการเงินการคลังภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปฏิรูประบบภาษีและรายได้ภาครัฐ ส่วนการปรับลดมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารไทย 7 แห่งเป็นลบนั้นเป็นปัญหาจากการเติบโตของสินเชื่อและปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง มีความเป็นไปได้ที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ อาจปรับแนวโน้มเครดิตตามมูดี้ส์ ปัจจัยเหล่านี้อาจกดดันให้การแข็งค่าของเงินบาทชะลอตัวลง
โครงการ SML น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจภาคชนบทได้บ้าง โดยเม็ดเงินจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทจะถูกกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ งบประมาณส่วนนี้จะถูกจัดสรรโดยตรงจากรัฐบาลไปที่กองทุนหมู่บ้านฯ โดยไม่ผ่านกลไกงบประมาณระบบราชการทำให้เม็ดเงินสามารถถึงมือชุมชนได้เร็ว เงินที่จัดสรรลงไปในชุมชนนั้นไม่มาก 200,000-400,000 บาทต่อชุมชน ขึ้นกับขนาดของชุมชน การจะนำเงินงบประมาณไปทำโครงการอะไรเป็นเรื่องของประชาคมในชุมชนจะตัดสินใจเอง โดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ต้องกำชับให้แต่ละชุมชนนำเงินภาษีประชาชนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม