การประเมินความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์เบื้องต้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 13, 2011 16:13 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายพัฒิวิชญ์ ปรมาพจน์

ผู้ตรวจสอบ

ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ

สายกำกับสถาบันการเงิน

ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้แข่งขันกันระดมเงินฝาก โดยมีข้อเสนอรูปแบบต่างๆ ทั้งการให้ผลตอบแทนที่สูง ระยะเวลาในการฝาก และมีการให้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่มีการฝากเงิน ดังนั้นผู้ฝากเงินอย่างพวกเราควรพิจารณาทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงควบคู่กันไป และเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่เราไปฝากเงินให้มากขึ้น ในวันนี้ ขอเล่าถึงการประเมินความเสี่ยงและฐานะของธนาคารพาณิชย์ในเบื้องต้น ว่า มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

การประเมินความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์เบื้องต้น เราสามารถดูได้จากงบดุลโดยย่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปกติต้องติดประกาศไว้ในสำนักงานสาขาต่างๆ หรือเวปไซค์ของธนาคารพาณิชย์ควรเริ่มพิจารณาองค์ประกอบของสินทรัพย์ในแต่ละรายการซึ่งแต่ละตัวมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น เงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ หรือสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

สินทรัพย์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ เงินให้สินเชื่อหรือเงินที่ปล่อยให้กู้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้รับเงินคืน เราสามารถประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของสินเชื่อเหล่านี้โดยดูจาก“ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” หรือ “เงินสำรองสำหรับลูกหนี้ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งหมด เงินสำรองนี้ตั้งไว้ สำหรับกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนหนี้คืนได้ ธนาคารพาณิชยก์ จะมีเงินสำรองไวร้ องรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ถ้ายิ่งมีสัดส่วนเงินสำรองฯต่อสินเชื่อสูง เมื่อเกิดความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์นั้นก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนเงินสำรองฯต่ำ โดย แบงก์ชาติมีเกณฑ์กำกับดูแลให้ธนาคารกันเงินสำรองไม่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และเงินสำรองส่วนนี้จะถูกหักจากผลกำไรของธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้เราอาจดูได้จาก อัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่มีอยู่มาจากเป็นเงินของธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าอัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์ เท่ากับร้อยละ 9 หมายความว่า ทรัพย์สิน 100 บาท เป็นส่วนที่เป็นเงินของธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นเพียง 9 บาท ซึ่งคล้ายกับเกณฑ์สากลทั่วไป ที่เรียกอัตราส่วนนี้ว่า “BIS Ratio” ต่างกันตรงที่มูลค่า สินทรัพย์แต่ละประเภทจะคิดมูลค่าตามน้ำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์นั้นๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ก และธนาคารพาณิชย์ ข มีอัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์เท่ากับร้อยละ 9 เท่ากัน แต่ธนาคารพาณิชย์ ก เน้น ปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ ข เน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยและลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ ก จะมี BIS ratio สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ข เป็นต้น แบงก์ชาติได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50 ถ้ามีส่วนทุนยิ่งสูง ก็สามารถรองรับความเสี่ยงที่สินทรัพย์จะเสียหายได้มาก

นอกจากนี้ การติดตามข่าวการเปิดเผยข้อมูลฐานะผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ เช่น ผลกำไร การขยายตัวของสินเชื่อ เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลอื่นที่สำคัญ ได้แก่ แผนกลยุทธ์และเป้าหมายตั้งไว้ ซึ่งบอกถึงผลการดำเนินงานในอนาคต เช่น ประกาศจะขยายสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจขาลง แสดงว่าสินเชื่อที่ปล่อยอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น หรือมีการขยายสินเชื่อในภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยง เหล่านี้เป็นข้อมูลประกอบที่ลูกค้าอย่างเราควรมีการเช็คตรวจสอบและไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารพาณิชย์ นอกจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นด้วยตนเองแล้ว สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็เป็นอีกแหล่งที่ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งบทบาทของสถาบันจัดอันดับฯ และผลที่ได้จากการจัดอันดับ เปรียบเทียบง่ายๆ คือ ถ้าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เป็นนักเรียน สถาบันจัดอันดับความเสี่ยงก็เหมือนครูที่คอยวัดผลการเรียน (ในที่นี้คือ ผลการดำเนินธุรกิจ) ของนักเรียน โดยธนาคารพาณิชย์จะได้รับเกรดต่างๆ ได้แก่ เกรด AAA จะดีที่สุด มีความเสี่ยงต่ำที่สุดและรองลงมาเป็น AA, A, B ไล่เรียงลงมาและเกรดที่มีความเสี่ยงสูงก็จะเป็น C และ D ตามลำดับ

ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากหรือตั๋วแลกเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อจูงใจผู้ฝาก เช่น มีของแถมหรือจ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เป็นต้น ผู้ฝากเงินควรศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ให้ถี่ถ้วน เช่น เงื่อนไขในการรับของ หรือผลตอบแทนดอกเบี้ยที่แท้จริง เป็นต้น เพื่อผู้ฝากสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างผลิตภัณฑ์หรือธนาคารในการเลือกฝากเงินได้ ซึ่งผู้ฝากจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนที่จะได้รับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจ โดยแบงก์ชาติได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลผลตอบแทนที่แท้จริงให้ลูกค้าทราบเพื่อความโปร่งใส

ในการวิเคราะห์ฐานะของธนาคารพาณิชย์ นอกจากงบการเงินหรือข่าวสารต่างๆ แล้ว อาจดูได้จากขนาดของกิจการ ระยะเวลาดำเนินงาน ชื่อเสียง และผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ โดยอาจจะอาศัยข้อมูลหรือข่าวสารจากแหล่งข้อมูลทั่วไป อย่างเช่น เวปไซค์ของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน ในเวปไซค์จะมีข้อมูลงบการเงินและข้อมูลทั่วไปของสถาบันการเงิน ข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ รายงานสถิติตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยนย้อนหลังเป็นต้น และรวมถึงประกาศ กฎเกณฑ์หรือแนวนโยบายของแบงก์ชาติ ทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ได้ ซึ่งที่อยู่เวปไซค์แบงก์ชาติ คือ www.bot.or.th

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2554

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ