สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 17:40 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 22/2554

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2554 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคกลางส่งผลให้ ด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าชะลอลง ด้านอุปสงค์การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.33 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาสินค้าหมวดอาหารเป็นสำคัญรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

1. ด้านการผลิต

ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชผลสำคัญสูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.1 ขยายตัวมากกว่าเดือนก่อนตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ขยายตัวมากกว่าเดือนก่อนตามผลผลิตข้าวและยางพารา ขณะที่ดัชนีราคาพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 4.9 ตามราคาหัวมันสำปะหลังและข้าวเปลือกเหนียวเป็นสำคัญ สำหรับสถานการณ์ด้านราคา ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยเกวียนละ 15,231 บาท สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.2 เร่งตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากผลของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่ ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเฉลี่ยเกวียนละ 13,320 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.2 เนื่องจากความต้องการลดลงโดยเฉพาะจากต่างประเทศ หัวมันสำปะหลัง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.21 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 ตามการชะลอตัวของตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.27 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.6 ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 88.19 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.2 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ความต้องการยางพาราลดลง

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยน้ำตาลทรายดิบผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนกว่า 3.7 เท่า เนื่องจากโรงงานน้ำตาลเปิดหีบเร็วกว่าปีการผลิตก่อน และมีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อน ส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชะลอลงจากเดือนก่อนเนื่องจากมีการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลของอุทกภัยในภาคกลาง ทำให้การผลิตในหลายอุตสาหกรรมหดตัวลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ประกอบกับคำสั่งซื้อที่ชะลอลง

ภาคการค้า ดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.9 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อนตามการชะลอตัวของการค้าในทุกหมวด โดยเฉพาะการค้าในหมวดยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.5 ขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ตามกำหนด

2. ด้านอุปสงค์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการลดลงของยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากผลของอุทกภัยทำให้บริษัทที่ผลิตรถยนต์ไม่สามารถผลิตและส่งรถมาจำหน่ายยังภาคต่าง ๆ ได้ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 30.7 เป็นผลจากการลดลงของภาษีจากการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคห้างสรรพสินค้าจากปริมาณสินค้าที่ลดลงตามการขนส่งสินค้าที่ไม่สะดวกจากผลของอุทกภัยเป็นสำคัญ

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยภาคการก่อสร้างยังขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 ตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สำหรับเงินทุนของการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.0

ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากรทั้งสิ้น 4,512.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.6 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีปริมาณสินค้าจำหน่ายลดลงจากผลกระทบของน้ำท่วมในภาคกลาง สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 22,414.8 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.9 ตามการลดลงของการเบิกงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

3. ภาคต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว มูลค่าการค้าขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.4 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการหดตัวของสินค้าหมวดคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม สินค้าหมวดน้ำมันปิโตรเลียม หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์ และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังคงขยายตัว ส่วนมูลค่าการนำเข้าชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าทองแดงที่ลดลงเป็นสำคัญ

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา (ด้านจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 147.9 เร่งตัวขึ้นตามการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงที่กลับมามียอดส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้านำเข้ามูลค่าลดลงเกือบทุกสินค้า

4. ภาวะการเงิน

ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม มีเงินฝากคงค้าง 466.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.0 ขยายตัวจากเดือนก่อน ตามยอดเงินฝากของส่วนราชการเพื่อรอการใช้จ่ายและการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ สำหรับสินเชื่อคงค้าง 515.8 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.7 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งสินเชื่อเงินให้กู้และตั๋วเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ โดยสินเชื่อที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจจัดสรรที่ดิน ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 110.7 สูงกว่าเดือนก่อน

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนตุลาคม มีเงินฝากคงค้าง 252.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.7 ขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อน เนื่องจากการแข่งขันกันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้เงินฝากธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ชะลอลงสำหรับสินเชื่อคงค้าง 693.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.5 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนก่อน ตามชะลอตัวของสินเชื่อธนาคารออมสิน ขณะที่สินเชื่อตามนโยบายของรัฐของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นยังขยายตัวดี

5. เสถียรภาพราคาและการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 3.33 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะหมวดเนื้อสัตว์ ผักสดและผลไม้ เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยคลี่คลายลง สำหรับราคาหมวดทีไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มชะลอลงในหมวดเคหสถาน หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ขณะที่หมวดพาหนะ ขนส่ง และการสื่อสารหดตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.31 ชะลอลงจากเดือนก่อน

ภาวะการทำงาน เดือนตุลาคมมีกำลังแรงงาน 12.7 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 12.4 ล้านคน และเป็นผู้ว่างงาน 0.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.3 ผู้มีงานทำเป็นแรงงานในภาคเกษตร 6.0 ล้านคน นอกภาคเกษตร 6.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคขายส่งขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิต กิจการโรงแรม และร้านอาหารภาวะการจ้างงาน การจัดหางานของภาครัฐในเดือนนี้มีผู้สมัครงาน 10,726 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากส่วนกลางกลับภูมิลำเนามาหางานทำ ตำแหน่งงานว่าง5,856 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 มีผู้ได้รับการบรรจุงาน 4,913 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 สำหรับการบรรจุงานเดือนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต การขายส่งการขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์ ส่วนแรงงานที่ขาดแคลนส่วนใหญ่ ได้แก่ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างโลหะ และพนักงานขาย

แรงงานไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เดือนนี้มีจำนวน4,293 คน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38.3 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากจังหวัดอุดรธานีนครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์ เดินทางไปทำงานในประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล และสาธารณรัฐเกาหลี

ส่วนเศรษฐกิจภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

โทร: 0-4333-3000 ต่อ 3411

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ