สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 11:25 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 8/2555

นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยภาคการผลิตชะลอตัว ทั้งผลผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมจากผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ชะลอลง ส่วนการท่องเที่ยวแม้ว่าช่วงต้นปีจะขยายตัวดี แต่ผลจากการเตือนภัยของหลายประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้ายในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาชะลอลงเช่นกัน ขณะเดียวกันรายได้เกษตรกรลดลงตามราคายางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นสาคัญ ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวตามไปด้วย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ผลผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ชะลอลงมากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว ร้อยละ 50.9 โดยผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกันผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 50.2 ขณะที่ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปริมาณวัตถุดิบทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 11.2

ด้านดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 22.4 ตามราคาเป็นสำคัญ โดยราคาพืชผลเกษตรสำคัญลดลงถึงร้อยละ 30.1 ผลจากราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 106.76 บาท ลดลงร้อยละ 32.4 เนื่องจากผลผลิตที่ยังอยู่ในตลาดจำนวนมาก มาตรการภาครัฐพยุงราคายางของภาครัฐมีความล่าช้า ขณะที่ตลาดมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลถึงราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร และราคาปาล์มน้ำมัน กิโลกรัมละ 5.91 บาท ลดลงร้อยละ 24.5

การท่องเที่ยวขยายตัว เนื่องจากช่วงต้นปีมีเทศกาลตรุษจีนที่ต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ และ ภัยหนาวที่ทวีความรุนแรงในยุโรป รวมทั้งการขยายเที่ยวบินตรงมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้อัตราการเข้าพักโรงแรมในภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 70.3P ปรับดีขึ้นทั้งในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ชายแดน อย่างไรก็ตามผลจากการเตือนภัยของหลายประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้ายในประเทศไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ มีจำนวน 1,697,250 คนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8 โดยนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซีย จีน และมาเลเซีย

จากรายได้ภาคเกษตร และการผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ประกอบกับได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์อุทกภัยในภาคกลาง ทำให้ภาคการผลิตต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคประสบภาวะขาดแคลนในช่วง 2 เดือนแรก และเริ่มคลี่คลายในเดือนมีนาคม ทำให้การอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอตัว โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7.6 สอดคล้องกับเงินฝากและเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 14.8 ชะลอลงจากร้อยละ 12.0 และ 16.0

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.13 ชะลอลงจากร้อยละ 4.47 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ชะลอลง โดยเฉพาะในหมวดผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร ไข่และผลิตภัณฑ์นม

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร.0-7427-2000 ต่อ 4710

e-mail : Nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ