รายงานแนวโน้มธุรกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 18, 2012 13:43 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ/ธุรกิจ

ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและนักธุรกิจ

ไตรมาส 1 ปี 2555 ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือโดยรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจสำคัญ คำสั่งซื้อทั้งในและนอกประเทศยังมีทิศทางขยายตัว สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาแรงงานหายากและภาวะต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาปัจจัยการผลิต ในขณะที่การส่งผ่านภาระต้นทุนไปยังระดับราคาทำได้ยากหรือเพียงบางส่วน

ภาคอุตสาหกรรม: ภาวะการผลิตและส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งจากการขยายตัวของอุปสงค์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม หัตถอุตสาหกรรมและเซรามิคมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในยุโรปและอเมริกาที่ยังผันผวนและต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจใช้แรงงานเป็นหลัก

การบริโภคภาคเอกชน: มีเกณฑ์ขยายตัวโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จากแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง สินค้าคงทนประเภทรถยนต์มีการเร่งผลิตและส่งมอบได้มากขึ้น ขณะที่การส่งออกชายแดนเพิ่มขึ้นตามการเติบโตเศรษฐกิจรวมถึงบรรยากาศการค้าและการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน

ภาคบริการ: ภาวะการท่องเที่ยวภาคเหนือยังเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการเข้าพักและยอดจอง ล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้น แม้ช่วงปลายไตรมาสจะประสบปัญหาหมอกควันเกินปกติ

ภาคอสังหาริมทรัพย์: เติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยสนับสนุนจากความกังวลและคาดการณ์ปัญหาอุทกภัยนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และก่อนประกาศใช้ผังเมืองใหม่ ส่งผลให้กลุ่มทุนรายใหญ่จากภาคกลาง รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่นลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยทั้งในแนวราบและแนวดิ่งเพิ่มขึ้น และมีแรงซื้อจากต่างถิ่นมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นฟูความเสียหายภายหลังน้ำลด

ภาคการลงทุน: ธุรกิจที่สำรวจส่วนหนึ่งมีแผนขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตและการบริการให้ดีขึ้น อาทิ เพิ่มสายการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ซื้อเครื่องจักร ขยายพื้นที่โรงงานและสาขาในการให้บริการ และขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ภาคแรงงาน: ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานฝีมือหรือเฉพาะกิจ เช่น ยกสินค้า หรืองานก่อสร้าง อีกทั้งยังมีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายน นักธุรกิจหลายรายปรับตัวโดยการลงทุนนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงาน ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กปรับตัวโดยจ้าง Outsource จ้างเหมา หรือจ่ายค่าจ้างเป็นรายชิ้น เพื่อควบคุมต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิต

ผลการสำรวจข้อมูลคาดการณ์ภาวะธุรกิจไตรมาส 1 ปี 2555 จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจและองค์กรธุรกิจต่างๆ ในภาคเหนือ จำนวน 63 ราย สรุปได้ดังนี้ ภาคอุตสาหกรรม

ไตรมาสแรก ปี 2555 ภาวะการผลิตและส่งออกภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเกิดอุทกภัยในเขตภาคกลาง คำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อุตสาหกรรมเซรามิคและหัตถอุตสาหกรรม ยอดส่งออกไปตลาดยุโรปยังคงลดลง นักธุรกิจหลายรายปรับตัวโดยการขยายตลาดในเอเชียและตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น

  • อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป: แนวโน้มยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการอาหารและอุปทานที่ลดลง ผลจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศผู้ผลิตสำคัญ ประกอบกับความสามารถในการขยายตลาดลูกค้าในเอเชียได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับราคาและปริมาณวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศแปรปรวน ต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าแรงงานและราคาพลังงาน ในขณะที่การปรับราคาขายทำได้ยากเนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แนวโน้มปี 2555 คาดว่าคำสั่งซื้อยังจะเติบโตต่อเนื่อง
  • อุตสาหกรรมผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป: คำสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการความปราณีตหรือBrand name เช่น ชุดชั้นใน ชุดนอน และชุดกีฬา ยังมีต่อเนื่องในปริมาณสูงแต่ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตได้ตามปริมาณที่ต้องการ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ/ชำนาญการ โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับผลกระทบจากนโยบาย/มาตรการพิสูจน์สัญชาติและออกใบอนุญาตทำงานของภาครัฐ ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมาณฑล ซึ่งให้ผลตอบแทนค่าจ้างสูงกว่า รวมถึงค่านิยมที่ต้องการทำงานในเมืองใหญ่ นักธุรกิจบางรายวางแผนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาที่มีค่าจ้างต่ำกว่าและมีแรงงานมากเพียงพอ สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่าคำสั่งซื้อยังจะขยายตัวดีต่อเนื่อง
  • อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์: ช่วงแรกของไตรมาสยังได้รับผลทางอ้อมจากปัญหาอุทกภัย ทำให้วัตถุดิบบางส่วนขาดแคลนและล่าช้า รวมถึงลูกค้าขอเลื่อนการส่งมอบสินค้า แต่หลังความพยายามในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมมีความรวดเร็วและสร้างความเชื่อมั่นขึ้นเป็นลำดับ ช่วยให้ภาคการผลิตและส่งออกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คำสั่งซื้อมีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็น supply chain ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ระบบแอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์การแพทย์ และอุปกรณ์ในเครื่องบินบังคับ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาแรงงานฝีมือขาดแคลน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในต่างประเทศยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก แนวโน้มในปี 2555 คาดว่ายอดจำหน่ายทรงตัว แม้ความต้องการในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น แต่ยอดจำหน่ายในยุโรปและอเมริกาลดลง
  • อุตสาหกรรมเซรามิค: ปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งยุโรปและอเมริกาที่ยังมีความผันผวนประกอบกับมาตรการของทางการที่ปรับขึ้นค่าเชื้อเพลิงและค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงมากในปีนี้ รวมถึงวัตถุดิบเริ่มขาดแคลนและราคาสูงขึ้น ขณะที่ราคาขายปรับขึ้นได้เพียงบางส่วนส่งผลให้อุตสาหกรรมโดยรวมถดถอยลง ยกเว้นรายที่สามารถออกแบบสินค้าใหม่และได้รับคำสั่งซื้อบางส่วนแนวโน้มคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศในปี 2555 คาดว่าจะลดลง
  • อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกและ/หรือผลิตและจำหน่ายน้ำดื่ม: ได้รับผลบวกจากอุทกภัยในภาคกลางและการจัดงานพืชสวนโลกฯ ตลอดจนความนิยมบริโภคน้ำและเครื่องดื่มจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Pet) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายขยายตัวดีต่อเนื่อง มีการลงทุนขยายและปรับปรุงเครื่องจักรและโกดังเก็บสินค้า เพื่อรองรับความต้องการ/ยอดจำหน่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามธุรกิจมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนเม็ดพลาสติกและค่าแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
  • หัตถอุตสาหกรรม: การส่งออกโดยรวมไปตลาดยุโรปยังคงลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดอเมริกาปรับตัวดีขึ้นบ้าง ผู้ประกอบการให้ความสนใจลูกค้าในเอเชียมากขึ้น ทั้งจากญี่ปุ่นและลูกค้ารายใหม่โดยเฉพาะจีนและไต้หวันที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง นอกจากนั้นยังได้ลูกค้าใหม่บางส่วนจากการออกงานแสดงสินค้า BIG + BIH (Bangkok International Gift Fair, Bangkok International Houseware) และความพยายามเพิ่มช่องทางการค้าปลีกในประเทศมากขึ้น แนวโน้มปี 2555 คาดว่าทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก
การค้าและอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

ไตรมาสแรก ปี 2555 ยังคงมีอัตราการขยายตัว จากความต้องการสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของนักท่องเที่ยวที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นหลังจากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูจากเหตุอุทกภัย ขณะที่สินค้าคงทนประเภทยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการเร่งกำลังการผลิตและส่งมอบได้มากขึ้นเป็นลำดับ ด้านการค้าชายแดนมีทิศทางขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจและบรรยากาศด้านการค้า การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทิศทางและแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ แนวโน้มปี 2555 คาดว่าจะสามารถขยายตัวดี

  • ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์/รถจักรยานยนค์/เครื่องใช้ไฟฟ้า: ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เริ่มทยอยส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้า ตามปริมาณรถยนต์ที่โรงงานสามารถเร่งผลิตและจัดสรรให้ dealer มากขึ้น ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นมากนัก เนื่องจากมี stock บางส่วนแนวโน้มยอดจำหน่ายยานยนต์ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวตามความต้องการที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และจำนวนรถรุ่นใหม่ๆที่ทยอยเปิดตัวมากขึ้น รวมถึงปริมาณรถยนต์ที่โรงงานสามารถผลิตได้ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการแข่งขันด้านราคาสูง แนวโน้มขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและความสามารถในการแข่งขัน
  • ธุรกิจส่งออกสินค้าอุปโภคและบริโภคไปประเทศพม่า: ภายหลังเปิดด่านเมียวดี การค้าชายแดนมีปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับและธุรกิจมีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง ขณะที่การแข่งขันมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนกับพม่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากทางการไทยให้การสนับสนุนและก่อสร้างถนนจากเมืองเมียวดีสู่ย่างกุ้งแล้วเสร็จ
ภาคบริการ

ไตรมาส 1 ปี 2555 ภาพรวมการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แรงส่งสำคัญจากการจัดมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่และภาวะอากาศที่เย็นนาน รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ตัดสินใจเลือกใช้เป็นวันหยุดพักผ่อน จัดประชุมสัมมนาและดูงาน แม้ว่าช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมหลายจังหวัดจะประสบปัญหาหมอกควันที่เกินค่ามาตรฐานสูงกว่าปกติ

  • ธุรกิจโรงแรม: ขยายตัวจากลูกค้าชาวไทยเป็นสำคัญจากอานิสงส์ของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ และอากาศที่เย็นนาน สะท้อนจากสถิติอัตราการเข้าพักและยอดจองล่วงหน้าในจังหวัดท่องเที่ยวภาคเหนือที่เพิ่มขึ้น สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากเอเชียและประเทศแถบสแกนดิเนเวียน
ภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างภาคเหนือช่วงไตรมาสแรก ปี 2555 เติบโตต่อเนื่องจากที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบมากกว่าในแนวสูงและอาคารเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนมีกำลังซื้อจากคนต่างพื้นที่ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากความกังวลและคาดการณ์ปัญหาอุทกภัย รวมถึงนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ถึงความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นขณะที่ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจและการฟื้นฟูความเสียหายภายหลังน้ำลด คาดว่ามยอดจำหน่ายทั้งปี 2555 จะยังมีทิศทางที่ขยายตัว

  • ธุรกิจบ้านจัดสรร: ตลาดบ้านจัดสรรทั้งระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปและราคา 1-3 ล้านบาทมีทิศทางขยายตัวจากทั้งการย้ายถิ่นฐานของคนจากภาคกลางและคาดการณ์ความต้องการที่อยู่อาศัยของข้าราชการที่จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน ส่งผลให้มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากส่วนกลางและผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น จึงมีแผนขยายตลาดทั้งแนวสูงและแนวราบ
  • ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง: ยอดจำหน่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้าเพื่อซ่อมแซมความเสียหายหลังน้ำลด ทั้งโครงการของภาครัฐและซ่อมแซมทั่วไปของประชาชน ขณะที่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ ที่เมืองหงสา สปป.ลาว ช่วยให้ธุรกรรมทางการค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย
ภาคการลงทุน

ธุรกิจที่สำรวจส่วนหนึ่งมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ อาทิอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีแผนลงทุนในสายการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีแผนขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป มีแผนขยายพื้นที่โรงงานและซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทดแทนแรงงานคน ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ลงทุนขยายโรงงานและเปิดสาขาใหม่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำดื่ม มีแผนลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มเติม ธุรกิจโรงแรม มีการลงทุนปรับปรุงอาคารสถานที่อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ มีแผนลงทุนเปิดแผนกซ่อมตัวถังและสีรถยนต์ และ ธุรกิจจัดหาบุคลากร มีแผนขยายสาขาไปยังเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะที่พิจิตรและกำแพงเพชร เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่และมีความต้องการแรงงานสูง

ต้นทุนและการปรับราคาขาย

ธุรกิจที่สำรวจทุกรายต่างประสบภาวะต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาปัจจัยการผลิตทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าวัตถุดิบในการผลิต และราคาพลังงาน/ค่าใช้จ่ายขนส่ง ที่ยังมีต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก ธุรกิจรายใหญ่และที่มีความพร้อมด้านเงินทุน/แหล่งเงิน ปรับตัวด้วยการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ขณะที่รายเล็กมีข้อจำกัดด้านเงินทุนโดยเฉพาะปัญหาการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทำให้แนวทางการปรับตัวทำได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ ธุรกิจที่สำรวจส่วนใหญ่ปรับราคาขายได้ยากหรือเพียงบางส่วน ทำให้มีกำไรส่วนเหลือหลังหักต้นทุนแคบลงมากอาทิ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปรับขึ้นราคาได้บ้างจากลูกค้ารายเก่า แต่ประสบปัญหาภาวะการแข่งขันสูงและขาดแคลนแรงงาน จึงมีแผนขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประสบปัญหาแรงงานฝีมือขาดแคลน ทำให้ต้องใช้วิธีจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำดื่ม ยังไม่สามารถปรับราคาขายได้ทันที เนื่องจากภาวะการแข่งขันรุนแรง ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ปรับราคาได้จากการออกรถยนต์รุ่นใหม่ และ ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ใช้กลยุทธ์คิดค่าขนส่งเพิ่มตามระยะทาง

แรงงาน

ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาแรงงานหายากทั้งแรงงานมีฝีมือหรือเฉพาะกิจ เช่น ยกสินค้าหรืองานก่อสร้าง นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนดำเนินงานโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายน อาจทำให้มีแรงงานที่ไปทำงานต่างถิ่นกลับมาทำงานในพื้นที่มากขึ้นสำหรับรูปแบบการปรับตัวด้านแรงงานมีทั้งใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น เปลี่ยนการจ้างเป็นรายชิ้นแทนรายวัน จ้างเหมาช่วงให้ผู้ประกอบการรายอื่น จ้างแรงงานรายวันเป็นครั้งคราว เป็นต้น

ส่วนเศรษฐกิจภาค

สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: โทร. 0-5393-1165, 1156

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจสาขาต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยและไม่ได้สะท้อนความเห็นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ธนาคารใช้ข้อมูลนี้เพื่อประกอบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ในการวิเคราะห์และประเมินภาวะเศรษฐกิจ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ