เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2552 และปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2010 16:06 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2553

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกเร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักและขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวตามการเบิกจ่ายด้านการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ภาคการค้าทั้งการค้าส่งและค้าปลีกขยายตัวดีตอบสนองความต้องการอุปโภคบริโภคที่ดีขึ้นและภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้นมากจากความมั่นใจของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่กลับคืนมาและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง สำหรับภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ ส่วนรายได้ของเกษตรกรยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่วนการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินให้สินเชื่อทรงตัว ในขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น

ปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือหดตัวจากปีก่อน โดยเศรษฐกิจภาคเหนือเริ่มตกต่ำตั้งแต่ปลายไตรมาสสุดท้ายปี 2551 จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง แต่ได้ปรับตัวดีขึ้น ตามลำดับจากมาตรการของทางการในการกระตุ้นการใช้จ่าย เสริมรายได้ และฟื้นความเชื่อมั่น โดยในระยะแรกการฟื้นตัวจำกัดอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่กี่ประเภท ได้แก่ การผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโยโลยีชั้นสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ค่อย ๆ กลับมา การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะในภาวะที่ผู้ซื้อในต่างประเทศระมัดระวังในการใช้จ่ายนอกบ้าน ในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นมา การฟื้นตัวเริ่มปรากฏในวงกว้างขึ้น ครอบคลุมกิจกรรมด้านการลงทุน การบริโภค การก่อสร้าง การท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่รายได้เกษตรกรช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือโดยรวม

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตรเดือนธันวาคม 2552 รายได้ของเกษตรกรยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวร้อยละ 11.4 ผลจากราคาพืชผลสำคัญลดลงร้อยละ 9.9 ตามราคาของข้าวเปลือกเจ้านาปีที่ลดลงร้อยละ 3.6 เทียบกับปีก่อนที่อยู่ในระดับสูงมาก แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าราคาในปีที่ผ่าน ๆ มา ส่วนราคาอ้อยโรงงานสูงขึ้นร้อยละ 13.0 จากการปรับเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และข้าวเปลือกเหนียวนาปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 ร้อยละ 64.2 และร้อยละ 67.4 ตามลำดับ ตามความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลหลักลดลงร้อยละ 1.7 ตามผลผลิตข้าวนาปีและมันสำปะหลังที่ลดลงร้อยละ 2.5 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ ผลจากปัญหาเพลี้ยระบาดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ส่วนผลผลิตอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 สูงสุดในรอบ 8 ปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ผลจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามราคาปีก่อนที่จูงใจ และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

ปี 2552 รายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้จะหดตัวร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ราคาพืชสำคัญสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยดัชนีราคาพืชผลหลักหดตัวร้อยละ 11.7 ตามราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังที่ลดลงร้อยละ 10.3 ร้อยละ 15.7 ร้อยละ 21.5 และร้อยละ 17.8 ตามลำดับ ลดลงมากในช่วงไตรมาส 2 จากฐานราคาของปีก่อนที่สูงมากตามความกังวลด้านวิกฤตอาหารและพลังงาน อย่างไรก็ดีในไตรมาส 4

ราคาพืชสำคัญทั้ง 3 ชนิดได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอุปสงค์ของต่างประเทศ สำหรับราคาลำไยลดลงร้อยละ 46.0 จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากจากปีก่อน ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยข้าวนาปีลดลงร้อยละ 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของเพลี้ย ผลผลิตข้าวนาปรังลดลงร้อยละ 5.3 จากปริมาณน้ำที่น้อยกว่าปีก่อน อย่างไรก็ดีผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 38.9 ตามลำดับจากราคาของปีก่อนจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิต

2. ภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.7 จากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเร่งตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 20.4 ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์ โดยเฉพาะในตลาดแถบเอเชีย ด้านการผลิตอาหารขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการผลิตลำไยอบแห้งที่ลดลง อย่างไรก็ดีการผลิตพืชผักและผลไม้แช่แข็ง และน้ำตาลยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน การผลิตของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างภาครัฐและการสร้างบ้านของเกษตรกรในอำเภอรอบนอก อีกทั้งมีการส่งออกไปพม่าอย่างต่อเนื่อง ด้านการผลิตเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 18.0 หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน ตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการผลิตสูงสุดในรอบปี

ปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือหดตัวจากปีก่อนร้อยละ 12.9 โดยลดลงเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม การผลิตลดลงมากในช่วงครึ่งปีแรกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้การผลิตในภาคเหนือซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานของการผลิตโลกลดลง อย่างไรก็ดีการผลิตปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เพื่อชดเชยสินค้าคงคลังที่ใช้หมดไป และต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น การผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ 29.1 ลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ การผลิตเครื่องดื่มหดตัวกว่าร้อยละ 22.8 ลดลงตลอดทั้งปีตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภคตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง การผลิตเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดโลก โดยหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมผลิตอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 จากการผลิตผักสดแช่แข็ง ลำไยอบแห้ง และน้ำตาล ขณะที่การผลิตวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นโดยขยายตัวดีในครึ่งปีหลัง ตามความต้องการก่อสร้างของภาครัฐและการสร้างบ้านของเกษตรกรในอำเภอรอบนอก รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าและ สปป. ลาว

3. ภาคบริการเดือนธันวาคม 2552 ภาวะการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สถานการณ์ทางการเมืองที่ดีกว่าปีก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.5 ขยายตัวสูงสุดในรอบปี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 19.4 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกนับแต่หดตัวในเดือนกันยายน 2551 สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 79.2 สูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่ร้อยละ 73.9 และร้อยละ 63.7 ตามลำดับ ส่วนราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 1,192.2 บาท/คืน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.1

ปี 2552 ภาพรวมการท่องเที่ยวปรับตัวลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบนับแต่งานมหกรรมพืชสวนโลกสิ้นสุดลงในปี 2550 และต่อเนื่องไปจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551-2552 เมื่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าตกต่ำลง โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงมาก อย่างไรก็ดีจากการที่โครงสร้างการท่องเที่ยวในภาคเหนือมีสัดส่วนของคนไทยกว่าร้อยละ 70 จึงได้รับอานิสงส์จากมาตรการของทางการในเรื่องวันหยุดยาว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดประชุมสัมมนาในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น การส่งเสริมการขายด้วยการลดราคาห้องพักและค่าโดยสารเครื่องบิน โดยตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นมาสัญญาณการฟื้นตัวเริ่มปรากฏชัดขึ้นสะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.7 ขยายตัวดีในช่วงไตรมาส 4 ด้านเครื่องชี้อื่นประกอบด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 11.6 ด้านอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 49.8 ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 51.9 ปีก่อน ราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 963.8 บาท/คืน ลดลงร้อยละ 0.9 ผลจากภาวะการท่องเที่ยวที่ซบเซา และการแข่งขันด้านราคาจากจำนวนห้องพักของโรงแรมที่เพิ่มขึ้นมาก

4. ภาคการค้า เดือนธันวาคม 2552 การค้าภาคเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยดัชนีภาคการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.6 ขยายตัวดีในทุกหมวด โดยเฉพาะการค้าหมวดยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 ตามการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว การค้าหมวดค้าส่งและค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 และร้อยละ 16.1 ตามลำดับ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคทั้งหมวดอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ หมวดห้างสรรพสินค้า และหมวดวัสดุก่อสร้าง

ปี 2552 การค้าภาคเหนือเร่งตัวจากปีก่อน โดยดัชนีภาคการค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.3 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ปีก่อน การค้าเร่งตัวขึ้นในทุกหมวดสำคัญโดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง โดยการค้าหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ตามยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง การค้าหมวดค้าส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เร่งตัวขึ้นมากจากปีก่อน ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ด้านการค้าหมวดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ขยายตัวดีในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ หมวดห้างสรรพสินค้า และหมวดวัสดุก่อสร้าง

5. การอุปโภคบริโภค เดือนธันวาคม 2552 ยังมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนภาคเหนือจะปรับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว โดยปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวร้อยละ 2.4 จากการอ่อนตัวลงในหมวดอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเครื่องดื่มที่ลดลง จากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ดีดัชนีผู้บริโภคในหมวดยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นมาก จากการออกรถยนต์รุ่นใหม่และการเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย กอปรกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้การบริโภคสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันในหมวดค้าส่งและค้าปลีก หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวร้อยละ 10.1

ปี 2552 การใช้จ่ายของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวตั้งแต่ไตรมาสแรก ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในไตรมาสที่ 2 และไตรมาส 3 การใช้จ่ายเริ่มกระเตื้องขึ้น จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการลดภาระค่าครองชีพของทางการ เช่น การช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท มาตรการเรียนฟรี 15 ปี เป็นต้น รวมทั้งจากสถานการณ์การเมืองและภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย ทำให้ประชาชนคลายความกังวลและเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนั้นภาวะการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมารที่ 3 เป็นต้นมาก็มีผลต่อการใช้จ่ายของภาคเหนือ

6. การลงทุนภาคเอกชนเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัว เป็นผลจากจากมาตรการกระตุ้นของทางการ และการก่อสร้างภาคเอกชนที่เริ่มกลับมาดำเนินการ เช่น คอนโดมิเนียม หอพักและบ้านอยู่อาศัย ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.9 ตามการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามมาตรการกระตุ้นของทางการ รวมถึงงานก่อสร้างบ้านของเกษตรกรในอำเภอรอบนอกที่อยู่ในเกณฑ์ดีประกอบกับมีการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ด้านพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนในพื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยและเพื่อการบริการ ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินเร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 75.5 ตามทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับความสนใจลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือมีการอนุมัติ 8 โครงการ เงินลงทุน 284.1 ล้านบาท ในหมวดเกษตรกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์

ปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนภาคเหนือมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นจึงชะลอโครงการต่าง ๆ แต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาหลังจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นประกอบกับการได้รับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของทางการ ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความสนใจลงทุนในสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดใหญ่ของภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีความสนใจลงทุนในด้านอื่นๆ อีกที่แสดงให้เห็นว่าการลงทุนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น การลงทุนซื้อที่ดินในพื้นที่จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร การขยายโรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดลำพูน เป็นต้น

7. การค้าต่างประเทศเดือนธันวาคม 2552 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัว การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม โดยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.7 เป็น 256.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ตามการส่งออกสินค้ากลุ่ม Hi-tech Products ที่ขยายตัวดีเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากความต้องการในต่างประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกเพชรเจียระไนปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในตลาดตะวันออกกลาง ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกยางแผ่นรมควันไปจีนตอนใต้ และการส่งออกใบยาสูบขยายตัวดี ด้านการส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 74.0 เป็น 125.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนตามการส่งออกไปพม่าที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 84.0 จากสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และซีเมนต์ ประกอบกับการส่งออกไปลาวและจีนตอนใต้ขยายตัวร้อยละ 18.8 และร้อยละ 58.9 ตามลำดับ

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.4 เป็น 116.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวดีในทุกกลุ่มสินค้า โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 32.8 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเพชรดิบเพื่อเจียระไน การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 จากการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อผลิตเลนส์ ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนหดตัวร้อยละ 14.1 เหลือ 11.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการนำเข้าจากพม่าลดลงกว่าร้อยละ 48.8 ประกอบกับการนำเข้าจากจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 2.7 ส่วนการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2

ดุลการค้า ในเดือนธันวาคม 2552 เกินดุล 140.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 84.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 98.6 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ปี 2552 มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากปีก่อนร้อยละ 19.2 เหลือ 3,574.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 16.4 เหลือ 2,340.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงมากในช่วงไตรมาสแรกจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ภาคเหนือซึ่งเป็นห่วงโช่อุปทานได้รับผลกระทบโดยตรง แต่การส่งออกเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 2 และเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจเริ่มแผ่ขยายไปยังหลายประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกจากภาคเหนือไปยังประเทศคู่ค้าหลักปรับตัวดีขึ้นและบางประเทศเริ่มมีมูลค่าส่งออกสูงกว่าก่อนวิกฤต อย่างไรก็ดีมูลค่าส่งออกทั้งปี สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 21.1 ในทุกกลุ่มสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพชรเจียระไน ส่วนประกอบฮาร์ดดิสไดร์ และเลนส์กล้องถ่ายรูป ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 17.7 จากการส่งออกข้าวที่ลดลงเป็นสำคัญ ด้านการส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 17.1 เป็น 1,085.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอตัวจากปีก่อน ตามการส่งออกไปพม่าที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือร้อยละ 20.8 เป็น 914.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากฐานการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มากกว่าปกติในปีก่อนเนื่องจากพม่าประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ด้านการส่งออกไปลาวขยายตัวร้อยละ 27.3 เป็น 75.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่การส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 13.9 เหลือ 94.8 ล้านดอลลาร์ สรอ.

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากปีก่อนร้อยละ 24.2 เหลือ 1,233.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงมากตามการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงกว่าร้อยละ 31.1 เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพชรเพื่อเจียระไน แก้ว เคมีภัณฑ์และพลาสติก ด้านการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวลงโดยเฉพาะการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้า ด้านการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 11.8 จากการนำเข้าอาหารประเภทนม สัตว์น้ำ และเครื่องประดับที่ลดลง ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 7.0 เป็น 122.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าจากพม่าและจีนตอนใต้ที่หดตัวร้อยละ 0.2 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.1 จากการขยายตัวของการนำเข้าถ่านหินลิกไนท์เป็นสำคัญ

ดุลการค้า ปี 2552 เกินดุล 1,106.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากปีก่อนที่เกินดุล 1,171.1 ล้านดอลลาร์ สรอ.

8. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ เดือนธันวาคม 2552 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 18,342.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 63.2 ตามการเพิ่มขึ้นของงบลงทุนที่ขยายตัวกว่า 3 เท่าตัว โดยในทุกจังหวัดมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สำหรับรายจ่ายประจำมีจำนวน 9,309.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.5 จากการเพิ่มขึ้นของงบดำเนินงานในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนพนักงานส่วนราชการ

ปี 2552 การเบิกจ่ายภาครัฐถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการประคับประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเหนือ โดยการเบิกจ่ายขยายตัวดีมาตลอด โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ที่เร่งตัวขึ้นมากจากความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและให้ทันก่อนสิ้นปีงบประมาณ ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 19.0 เป็น 177,759.4 ล้านบาท เร่งตัวจากที่ลดลงร้อยละ 4.1 ปีก่อน ตามการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญ

9. ระดับราคาเดือนธันวาคม 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.9 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เช่น ข้าว และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ส่วนหนึ่งจากผลผลิตข้าวที่ลดลงเนื่องจากได้รับความเสียหายจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สำหรับหมวด อื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากราคาในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ด้านหมวดเคหะสถานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ตามการปรับลดเกณฑ์การช่วยเหลือในมาตรการภาครัฐ เช่น ค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1

ปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปภาคเหนือลดลงร้อยละ 1.1 โดยในครึ่งปีแรกราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ มีผลให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และการปรับลดระดับการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและน้ำประปา และการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการไทยเข้มแข็ง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 5.6 ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 5.1 ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.5

10. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.1 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.6 โดยภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.4 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.7 ขยายตัวมากในสาขาการค้าส่ง/ปลีก และการก่อสร้าง จากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทางด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคนเท่ากับร้อยละ 1.0 ต่ำกว่าร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมภาคเหนือมีจำนวน 705,239 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.5 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ ขยายตัวทั้งในผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และตามมาตรา 39 ที่ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 37.9 ตามลำดับ

11. การเงิน ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 384,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.9 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นใน

อัตราชะลอลงของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ และตาก ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 303,594 ล้านบาท ลดลง

เล็กน้อยร้อยละ 0.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 1.5 เดือนก่อน อย่างไรก็ดีเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 5,985 ล้านบาท จากเดือนก่อน ตามความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจโรงสีข้าว/ค้าพืชไร่ ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง เช่น นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และพิจิตร ขณะที่ในภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย จากสินเชื่อธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง โรงสีข้าว และธุรกิจลิสซิ่ง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 79.0 ลดลงจากร้อยละ 82.9 ระยะเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคม 2552 (ข้อมูลเบื้องต้น) ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้างทั้งสิ้น 392,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.4 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 309,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เป็นการขยายตัวเป็นเดือนแรกนับจากที่หดตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา

สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณนุกุล มุกลีมาศ โทร 0 5393 1142

E-mail: Nukulm@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ