เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 31, 2010 13:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 10/2553

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวแต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยการส่งออกชะลอตัวลงจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปทปี่ ระสบการขาดแคลนวัตถุดิบจากภาวะภัยแล้ง

การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงเล็กน้อย การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากการได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยลง ในขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น รายได้เกษตรกรเร่งตัวขึ้นจากผลผลิตที่ลดลงทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การค้าและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี ประกอบกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำยังช่วยรักษากำลังซื้อ เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นตามราคาอาหารสด เงินฝากชะลอตัวเล็กน้อยส่วนเงินให้สินเชื่อยังขยายตัวดี

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

อุปสงค์ในภาคเหนือขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 6.6 สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ส่วนหนึ่งจากความเชื่อมั่นของประชาชนที่ดีขึ้นและการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดียังช่วยรักษากำลังซื้อ ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ตามพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การก่อสร้างภาคเอกชน และการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตยังคงขยายตัวสอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศและความต้องการจากต่างประเทศที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังคงมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือแม้ลดลงเมื่อเทียบจากที่เพิ่มสูงมากใน 2 เดือนก่อนหน้า ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐหดตัวลงจากการได้รับจัดสรรงบประมาณลดลง อย่างไรก็ดี ส่วนราชการบางหน่วยงานได้รับงบประมาณผ่านทางโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้เม็ดเงินใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีต่อเนื่อง

อุปสงค์ในต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 22.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่า 248.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอตัวลงในตลาดสำคัญ อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น ยุโรป สินค้าที่ชะลอตัวได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคและอัญมณี ขณะที่การส่งออกอาหารเกษตรแปรรูปหดตัวตามมูลค่าส่งออกลำไยที่ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณส่งออกที่สูงกว่าปกติ สำหรับการส่งออกผ่านด่านชายแดนหดตัวร้อยละ 1.7 เหลือ 86.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออกไปพม่าที่ลดลงจากการปิดด่านเมียวดีในพม่าติดชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ด้านการนำเข้ายังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 24.6 โดยมีมูลค่า 126.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าทุนเพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สะท้อนแนวโน้มการผลิตและการลงทุนที่ดีในระยะต่อไป

ภาคการผลิตหดตัวทั้งผลผลิตอุตสาหกรรมและผลผลิตด้านการเกษตรโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือหดตัวร้อยละ 5.0 ตามการการหดตัวของอุตสาหกรรมอาหารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการแปรรูปผักผลไม้และลำไยอบแห้ง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบจากภาวะภัยแล้ง ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ผลผลิตด้านการเกษตรพืชหลักหดตัวร้อยละ 12.7 จากผลกระทบของภาวะภัยแล้งทั้งลำไย หอมแดง ขณะที่ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสัปปะรด เพิ่มขึ้นตามการขยายพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรในภาคเหนือเร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 54.5 จากราคาลำไยที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากการมีวันหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาและนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในลักษณะกลุ่มย่อย ด้านดัชนีการค้าขยายตัวร้อยละ 17.3 เป็นการขยายตัวในหมวดค้าปลีก ส่วนหมวดค้าส่งและหมวดยานยนต์เริ่มชะลอตัวลงตามความต้องการใช้น้ำมันและความต้องการสินค้าคงทน อาทิ เครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องจักรและอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนืออยู่ทรี่ อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากราคาอาหารสดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน

การจ้างงานในภาคเหนือเดือนมิถุนายน 2553 มีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเท่ากับร้อยละ 1.3 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อย จากผู้จบการศึกษาใหม่ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และเซรามิก ยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น

ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการถอนเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาเพื่อนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ด้านเงินให้สินเชื่อขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.9 ตามความต้องการสินเชื่อของหลายธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ค้าปลีกค้าส่ง ค้าวัสดุก่อสร้าง สหกรณ์ออมทรัพย์ รวมทั้งตามการต้องการสินเชื่อเพื่อบริโภค ทั้งเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และที่อยู่อาศัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณจารุมาส ปาละรัตน์

โทร 0 5393 1161

E-mail: Jarumass@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ