การสำรวจสินเชื่อการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2010 15:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

การสำรวจสินเชื่อการค้า

ฝ่ายบริหารข้อมูล

บทคัดย่อ

สินเชื่อการค้า (Trade Credit) เป็นการให้สินเชื่อสำหรับการซื้อขายสินค้า (ไม่รวมภาคบริการ)ที่ผู้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยตรงโดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน โดยรวมถึงการชำระค่าสินค้าล่วงหน้าจากผู้ซื้อแก่ผู้ขายสินค้าด้วย ทั้งนี้ การสำรวจสินเชื่อการค้าเป็นการสำรวจยอดคงค้างธุรกรรมสินเชื่อการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศเท่านั้น

การสำรวจสินเชื่อการค้าได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 (สำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้า ณ สิ้นปี 2547) และได้มีการปรับปรุงเทคนิคการสำรวจและวิธีตรวจสอบคุณภาพอย่างจริงจังในการดำเนินการสำรวจปี 2552 เพื่อให้มั่นใจในข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ และใช้วิธีการนี้ในการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2553 (สำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้า ณ สิ้นปี 2552) การสำรวจทุกครั้งให้ผลสอดคล้องกันและยืนยันว่ายอดคงค้างสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจมีมูลค่าสูงกว่าข้อมูลที่ประมาณการและได้เผยแพร่เป็นประจำทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน

จากการที่ได้ตรวจสอบคุณภาพจนแน่ใจแล้วนี้ ธปท. จึงพร้อมเผยแพร่ผลการสำรวจสินเชื่อการค้าเป็นครั้งแรกควบคู่ไปกับผลการสำรวจฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (IIP) ซึ่งมีกำหนดปรับข้อมูลในเดือนกันยายนของทุกปี โดยการเผยแพร่ผลสำรวจครั้งแรกนี้จะเป็นข้อมูลอนุกรมเวลาย้อนหลังถึงปี 2547 ดังนั้น บทความนี้จึงเป็นเสมือนคู่มือการสำรวจสินเชื่อการค้า โดยให้รายละเอียดความเป็นมาเทคนิควิธีการสำรวจ รวมทั้งเปรียบเทียบผลการสำรวจกับข้อมูลที่เผยแพร่เดิม ทั้งผลโดยตรงและผลต่อดุลการชำระเงิน หนี้ต่างประเทศ และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ผลสำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้า ณ สิ้นปี 2552 ด้านหนี้สินเป็น.17.4 พันล้านดอลลาร์.สรอ. เพิ่มขึ้นจากที่เผยแพร่เดิม 11.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้หนี้ต่างประเทศรวมปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาส 2 เป็น 81.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ด้านสินทรัพย์ 20.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น.13.6 พันล้านดอลลาร์สรอ. การที่สินทรัพย์เพิ่มมากกว่าหนี้สินทำให้งบดุลของประเทศปรับดีขึ้นสะท้อนมาที่ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิในปี 2551 เพิ่มขึ้น 4.0 พันล้านดอลลาร์สรอ. มาอยู่ที่ 10.1 พันล้านดอลลาร์สรอ.ณ สิ้นปี 2551 ส่วนดุลการชำระเงิน (ในส่วนของดุลเงินทุน) ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมนัก

1. บทนำ

สินเชื่อการค้า (Trade Credit) หมายถึงสินเชื่อที่ผู้ซื้อได้รับจากผู้ขายสินค้าและบริการโดยตรง (ไม่นับรวมการกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อการซื้อสินค้า) โดยรวมถึงการชำระค่าสินค้าและบริการล่วงหน้าบางส่วนจากผู้ซื้อให้แก่ผู้ขาย ซึ่งมีระยะเวลาการชำระค่าสินค้าและบริการส่วนที่เหลือทั้งในระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) และระยะยาว (1 ปีขึ้นไป) สินเชื่อการค้ามีทั้งสินเชื่อการค้าในประเทศ และสินเชื่อการค้ากับต่างประเทศ ในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะสินเชื่อการค้ากับต่างประเทศเท่านั้น รวมทั้งพิจารณาเฉพาะสินเชื่อที่เกิดจากการค้าขายสินค้าไม่รวมการค้าบริการ

สินเชื่อการค้าแบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน คือ (1) ด้านสินทรัพย์ (Asset) หมายถึงกรณีที่ผู้ส่งออกของไทย ขายสินค้าให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยผู้ซื้อมีภาระหนี้ค่าสินค้าต่อผู้ขายตามที่ตกลงกัน คือได้รับสินค้าก่อนที่จะมีการชำระเงิน หรือมีระยะเวลาที่จะชำระเงินหลังจากที่ได้รับสินค้านั้นๆ ไว้เป็นกรรมสิทธิ์แล้ว และ (2) ด้านหนี้สิน (Liability) หมายถึงกรณีที่ผู้นำเข้าของไทย ซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ โดยผู้นำเข้ามีภาระหนี้สินต่อผู้ขายตามที่ตกลงกัน คือได้รับสินค้าก่อนการชำระเงิน หรือมีระยะเวลาที่จะชำระเงินหลังจากที่ได้รับสินค้านั้นๆ ไว้เป็นกรรมสิทธิ์แล้ว

สินเชื่อการค้ากับต่างประเทศทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินมีความสำคัญมากในเชิงข้อมูลสถิติ เพราะปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงระดับหลายพันล้านดอลลาร์สรอ.ต่อปี เนื่องจากมูลค่าสินเชื่อการค้าแปรผันไปกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้มูลค่าของสินเชื่อการค้าทั้งในด้านสินทรัพย์และหนี้สินยังมีความหมายหรือนัยสำคัญในเชิงเศรษฐกิจด้วย ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ประเทศไทยมีสินเชื่อการค้าด้านสินทรัพย์สูง (ผู้ส่งออกไทยให้

สินเชื่อแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศมาก) แต่ผู้ซื้อสินค้าออกของไทยมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้สินเชื่อการค้าได้ตามกำหนด ผู้ส่งออกไทยและประเทศไทยก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับรายได้จากการส่งออกสินค้านั้นภายในระยะเวลาที่ควรจะได้รับด้วย หรือในกรณีที่ประเทศไทยมีสินเชื่อการค้าด้านหนี้สินสูง (ผู้นำเข้าไทยมีหนี้สินเชื่อการค้ากับผู้ขายในต่างประเทศมาก) หากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้ากลับแข็งค่าขึ้นมาก ผู้นำเข้าไทยก็มีภาระที่จะต้องชำระหนี้ค่าสินค้าที่มากขึ้นตามไปด้วย เป็นต้น

สินเชื่อการค้ากับต่างประเทศทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินถือเป็นรายการสำคัญรายการหนึ่งของเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า-ออก (Inflow-outflow) ในบัญชีดุลการชำระเงิน (Balance of Payments: BOP) และเป็นรายการสำคัญที่เป็นยอดคงค้าง (Stock) ในบัญชีฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Position: IIP) ด้วย นอกจากนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อการค้าเฉพาะด้านหนี้สิน ยังถูกบันทึกเป็นรายการหนึ่งในบัญชีหนี้ต่างประเทศ (External Debts) ด้วย ตามคู่มือการจัดทำข้อมูลหนี้ต่างประเทศ (External Debt Guide) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่างไรก็ตาม หากจะดูผลกระทบของสินเชื่อการค้าที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องดูผลสุทธิของสินเชื่อการค้า (ทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน) ที่ปรากฏในบัญชีฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (IIP) ด้วยจึงจะครบถ้วน

บทความนี้จะกล่าวถึงความเป็นมาของการเผยแพร่ผลสำรวจข้อมูลสินเชื่อการค้าครั้งแรกในเดือนกันยายน 2553 โดยเริ่มจากเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจสินเชื่อการค้า ตามด้วยผลการสำรวจและประมาณการยอดคงค้างสินเชื่อการค้า ณ สิ้นปี 2552 การปรับข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้าย (Financial flow) ให้สอดคล้องกับผลสำรวจฯ และท้ายสุดผลกระทบจากการปรับข้อมูลสินเชื่อการค้าต่อหนี้ต่างประเทศ ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศและดุลการชำระเงิน (ในส่วนของดุลเงินทุน)

2. เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจสินเชื่อการค้า

ธปท. เผยแพร่ข้อมูลสินเชื่อการค้าไว้ในบัญชีเศรษฐกิจภาคต่างประเทศทั้ง 3 ด้าน คือ ดุลการชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และ หนี้ต่างประเทศ โดยในอดีตใช้ข้อมูลสินเชื่อการค้าที่ได้รับโดยตรงจากแบบรายงานธุรกรรมเงินตราต่างประเทศด้านการส่งออก-นำเข้า (แบบ ธ.ต.1 และ 2 ) แต่หลังจากประกาศยกเลิกแบบรายงานธ.ต. ทั้งหมดในปี 2547 ธปท. ใช้วิธีการประมาณการมูลค่าสินเชื่อการค้าด้านหนี้สินโดยเทียบเป็นสัดส่วนกับมูลค่านำเข้าสินค้า โดยอิงสัดส่วนฯ ที่ได้จากโครงสร้างวิธีการชำระเงินค่าสินค้าในช่วงปี 2544-2546 ส่วนสินเชื่อการค้าด้านสินทรัพย์ใช้วิธีประมาณการเทียบเป็นสัดส่วนกับมูลค่าส่งออก โดยอิงจากฐานข้อมูลการสำรวจหนี้ต่างประเทศ ณ ขณะนั้น ซึ่งการใช้สัดส่วนประมาณการดังกล่าวจะคงที่มาโดยตลอด

ตารางที่ 1 สรุปการจัดทำยอดคงค้างสินเชื่อการค้าในอดีตที่ผ่านมา

           ก่อนปี2547         2547                2548                  2549    2550    2551    2552
Flow     ข้อมูลจากแบบ   - ยกเลิกแบบธ.ต. 1&2     - คงวิธีประมาณ flow       - ประมาณ flow ด้านหนี้สิน
         รายงานธ.ต.   - ประมาณ flowด้านหนี้สิน     ด้านหนี้สิน ตามปี 2547     - ประมาณ flow ด้านสินทรัพย์
         (จัดทำเฉพาะ     เป็นสัดส่วนต่อสินค้าเข้า    - เริ่มจัดทำ flowด้าน
         ด้านหนี้สิน)       อิงโครงสร้างการชำระเงิน   สินทรัพย์ (หลักการเดียว
                      ปี 2544-46 (3 ปีสุดท้าย    กับการประมาณด้านหนี้สิน)
                      ก่อนยกเลิกธ.ต.)
ยอดคงค้าง ยอดสะสมของ                   ยอดคงค้างงวดก่อนหน้า + netflow
         flow จากธ.ต.

เนื่องจากโครงสร้างการส่งออก นำเข้า และวิธีการชำระเงินปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เช่นมีการซื้อสินค้าจากต่างประเทศและส่งไปขายยังประเทศที่สาม หรือการสั่งซื้อวัตถุดิบจากประเทศหนึ่งไปประกอบและส่งออกประเทศที่สาม ซึ่งรายการเหล่านี้ไม่มีการส่งออกนำเข้าผ่านพรหมแดน แต่จะเกิดยอดคงค้าง trade credit ด้านหนี้สินและสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ผ่านพรมแดนรวมอยู่ด้วย และหากนำไปหาสัดส่วนโดยเทียบกับยอดนำเข้าส่งออกผ่านพรมแดน จะทำให้สัดส่วนสูงกว่าปกติ ธปท. จึงเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงข้อมูลสินเชื่อการค้าเพื่อให้มีความถูกต้องและสะท้อนภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำได้ด้วยวิธีการสำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้าจากผู้ส่งออกและผู้นำเข้าโดยตรง เช่นเดียวกับที่ทำกันในประเทศต่างๆ ทั่วไป

ดังนั้น ในปี 2548 ธปท. จึงทำสำรวจเป็นครั้งแรก โดยเป็นการสำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้า ณ สิ้นปี 2547 เพื่อนำข้อมูลจากการสำรวจมาใช้ทดแทนข้อมูลสินเชื่อการค้าที่เผยแพร่อยู่ ปรากฏว่ายอดคงค้างทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินสูงกว่ายอดคงค้างที่เผยแพร่อยู่ในขณะนั้นมาก แต่เพื่อเทียบเคียงผลและให้แน่ใจในผลดังกล่าวจึงยังมิได้เผยแพร่ แต่ได้ทำการสำรวจต่อเนื่องอีก 3 ครั้งคือ ในปี 2550 (สอบถามยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2549) ใน ปี 2551 (สอบถามยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2550) และในการสำรวจในป ? 2552 (สอบถามยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2551) ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงกรอบการสำรวจด้วย โดยจำแนกกลุ่มผู้ส่งออก-นำเข้า (ตามมูลค่าการค้า) นำประเภทธุรกิจ(ISIC) เข้าเป็นปัจจัยร่วมในการสุ่มตัวอย่าง และปรับวิธีการประมาณผลจากตัวอย่างขึ้นเป็นประชากรให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ (รายละเอียดตามภาคผนวก 1) ทั้งนี้การดำเนินการสำรวจในปี 2552 ปรากฏผลว่ายอดคงค้างสินเชื่อการค้า ณ สิ้นปี 2551 ที่ได้จากการสำรวจมีมูลค่าสูงกว่าข้อมูลที่เผยแพร่ทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน สอดคล้องกับผลการสำรวจ 2 ครั้งก่อน

จากการดำเนินการสำรวจในปี 2552 นี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ธปท. จะดำเนินการสำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้าเป็นประจำทุกปีเพื่อใช้ประกอบการจัดทำข้อมูลสถิติดุลการชำระเงิน สถิติหนี้ต่างประเทศ และสถิติฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ ทดแทนการประมาณการด้วยวิธีการใช้สัดส่วนจากโครงสร้างวิธีการชำระเงินในอดีต โดยให้สำรวจเฉพาะรายใหญ่และจำแนกตามประเภทธุรกิจ ทั้งนี้ การสำรวจในปี 2553 (สอบถามยอดคงค้างสินเชื่อการค้าปี 2552) ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ปิดสำรวจเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 และได้ประมวลผลพร้อมเผยแพร่เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2553 ควบคู่ไปกับผลการสำรวจฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (IIP) ซึ่งมีกำหนดปรับข้อมูลในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งด้านหนี้สินและสินทรัพย์ของสินเชื่อการค้าอย่างชัดเจนที่ปรากฏใน IIP โดยการเผยแพร่ผลสำรวจครั้งแรกนี้จะเป็นข้อมูลอนุกรมเวลาย้อนหลังถึงปี 2547

3. ผลการสำรวจและประมาณการสินเชื่อการค้าปี 2553

การดำเนินการสำรวจในปี 2553 นั้น ธปท. ได้ใช้กรอบการสำรวจของปี 2552 ที่ปรากฏในภาคผนวก แต่ ปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อให้การสำรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสำรวจเฉพาะรายใหญ่ 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่1 มีมูลค่าการค้าตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป สำรวจทุกราย

กลุ่มที่2 มีมูลค่าการค้าระหว่าง 400- น้อยกว่า2,000 ล้านบาท สุ่มตัวอย่างแบบ stratified sampling และ systematic sampling( รายละเอียดดังตารางที่ 2 )

สำหรับนิติบุคคลส่วนที่เหลือจากกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ได้แก่กลุ่มอื่นๆ ที่มีมูลค่าการค้าน้อยกว่า 400 ล้านบาท และกลุ่มที่ไม่ใช่นิติบุคคลนั้น ไม่ได้สำรวจ แต่ใช้วิธีประมาณการเพื่อให้ได้เป็นกลุ่มประชากร

ตารางที่ 2 กลุ่มตัวอย่างด้านผู้นำเข้า-ส่งออกที่สำรวจ แบ่งกลุ่มตามมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก*

                                        ด้านนำเข้า                          ด้านส่งออก
                                จำนวน  มูลค่านำเข้า  สัดส่วน/เทียบกับ   จำนวน   มูลค่าส่งออก   สัดส่วน/เทียบกับ
                               ตัวอย่าง (พันล้านบาท)    มูลค่านำเข้า    ตัวอย่าง  (พันล้านบาท)   มูลค่าส่งออก
                                (ราย)               นิติบุคคล(%)    (ราย)                นิติบุคคล (%)
กลุ่ม 1                            305    2,852.6       62.6         374     3,569.2        68.9
(ตั้งแต่ 2,000 ล้านบาท)
กลุ่ม 2
(ตั้งแต่ 400-น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท)   360      412.6        9.1         449       442.4         8.5
รวม                              665    3,265.2       71.7         823     4,011.6        77.4
หมายเหตุ :*กลุ่มตัวอย่างในที่นี้ไม่รวมผู้ประกอบการที่ไม่ใช่นิติบุคคล

          จากการประมวลผลข้อมูลยอดคงค้างสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจในแต่ละกลุ่มตัวอย่างพบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อการค้าจากการสำรวจด้านการนำเข้า (หนี้สิน) ในปี 2552 มีมูลค่ารวม 368.6 พันล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 11.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 97 เป็นสินเชื่อการค้าระยะสั้น สำหรับสินเชื่อการค้าในส่วนที่ไม่ได้สำรวจในแต่ละกลุ่มที่ประมาณค่าโดยใช้สัดส่วนเดียวกับสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจในแต่ละกลุ่มนั้นมีมูลค่าทั้งสิ้น 210.2 พันล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 6.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และเมื่อรวมกับสินเชื่อการค้าในส่วนที่ สำรวจพบว่าในปี 2552 ยอดคงค้างสินเชื่อการค้าด้านการนำเข้า (หนี้สิน) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 578.8 พันล้านบาท (ตารางที่ 3) หรือเทียบเท่ากับ 17.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งประเทศเท่ากับ 0.1257 (ตารางที่ 5)

ตารางที่ 3 : สรุปผลการสำรวจและประมาณมูลค่าสินเชื่อการค้าด้านนำเข้า (หนี้สิน)
                                                                                  หน่วย:
                                                                               พันล้านบาท
                    มูลค่า     สินเชื่อการค้า         สินเชื่อการค้า         รวมสินเชื่อการค้าด้านหนี้สิน
                  นำเข้าทั้ง   จากการสำรวจ       จากการประมาณค่า
                  ประเทศ   ระยะสั้น  ระยะยาว   ระยะสั้น   ระยะยาว    ระยะสั้น  ระยะยาว    รวม
กลุ่มที่ 1           2,852.6    298.7     5.2      8.0      0.2       306.7     5.4    312.1
กลุ่มที่ 2             851.0     61.1     3.6     89.9      4.8       151.0     8.4    159.4
กลุ่มที่อื่นๆ            850.4        -       -     99.3      1.8        99.3     1.8    101.1
รัฐวิสาหกิจและ         51.2        -       -      6.1      0.1         6.1     0.1      6.2
ไม่ใช่นิติบุคคล
รวม              4,605.2    359.8     8.8    203.3      6.9       563.1    15.7    578.8

สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อการค้าด้านการส่งออก (สินทรัพย์) ที่ได้จากการสำรวจในปี 2552 มีมูลค่า 507.0 พันล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 15.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งกว่าร้อยละ 98 เป็นสินเชื่อการค้าระยะสั้น และในทำนองเดียวกันกับสินเชื่อการค้าด้านการนำเข้า (หนี้สิน) ที่ใช้สัดส่วนของสินเชื่อการค้าที่สำรวจได้ในแต่ละกลุ่มมาประมาณการในส่วนที่ไม่ได้สำรวจ พบว่าส่วนที่ไม่ได้สำรวจมีมูลค่า 190.4 พันล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 5.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อรวมทั้งสองส่วนแล้ว พบว่ายอดคงค้างสินเชื่อการค้าด้านการส่งออก (สินทรัพย์) ในปี 2552 มีมูลค่าทั้งสิ้น 697.4 พันล้านบาท (ตารางที่ 4) หรือเทียบเท่ากับ 20.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็น สัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งประเทศเท่ากับ 0.1342 (ตารางที่ 5)

ตารางที่ 4 : สรุปผลการสำรวจและประมาณมูลค่าสินเชื่อการค้าด้านส่งออก (สินทรัพย์)

หน่วย:

พันล้านบาท

                    มูลค่า     สินเชื่อการค้า         สินเชื่อการค้า         รวมสินเชื่อการค้าด้านหนี้สิน
                  ส่งออกทั้ง   จากการสำรวจ       จากการประมาณค่า
                  ประเทศ   ระยะสั้น  ระยะยาว   ระยะสั้น   ระยะยาว    ระยะสั้น  ระยะยาว    รวม
กลุ่มที่ 1           3,569.2   448.3     4.2      16.6      0.3      464.9     4.5    469.4
กลุ่มที่ 2             934.2    53.5     1.0      78.1      1.5      131.6     2.5    134.1
กลุ่มที่ 3             676.3       -       -      90.6      0.9       90.6     0.9     91.5
รัฐวิสาหกิจและ         17.4                       2.4     0.02        2.4    0.02      2.4
ไม่ใช่นิติบุคคลรวม    5,197.1   501.8     5.2     187.7      2.7      689.5     7.9    697.4

สินเชื่อการค้าด้านการส่งออก (สินทรัพย์) มีมูลค่ามากกว่าด้านการนำเข้า (หนี้สิน) จำนวน 118.6 พันล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 3.6 พันล้านดอลลาร์สรอ. ซึ่งส่งผลให้ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิของไทยในปี 2552 มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจำนวน 3.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.เช่นกัน (ตารางที่ 5) ตารางที่ 5 มูลค่าสินเชื่อการค้าด้านสินทรัพย์และหนี้สินและสัดส่วนต่อมูลค่าส่งออกและนำเข้า

                               มูลค่าสินเชื่อการค้า                หน่วย : พันล้านดอลลาร์ สรอ.
 ปี        ด้านหนี้สิน     มูลค่า     สัดส่วนต่อ   ด้านสินทรัพย์   มูลค่า     สัดส่วนต่อ     ฐานะสุทธิ
                     นำเข้า   มูลค่านำเข้า              ส่งออก    มูลค่าส่งออก
2547        11.9     97.4      0.1222       11.4     99.1      0.1152       -0.5
2548        15.0    115.9      0.1296       16.3    108.2      0.1503        1.2
2549        18.1    135.2      0.1340       18.4    137.2      0.1339        0.3
2550        22.6    144.5      0.1563       23.2    155.8      0.1490        0.6
2551        21.2    170.4      0.1245       21.3    167.7      0.1271        0.1
2552        17.4    138.0      0.1257       20.9    155.8      0.1342        3.6
4. การปรับข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้าย (Financial flow) ให้สอดคล้องกับผลสำรวจฯ

ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงธุรกรรม (Flow) ของสินเชื่อการค้าที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเงินทุน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของดุลการชำระเงินของประเทศนั้น ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ สินเชื่อการค้าด้านสินทรัพย์ และด้านหนี้สิน

Flow ของสินเชื่อการค้าด้านสินทรัพย์ หมายถึง มูลค่าสินเชื่อการค้าที่ผู้ส่งสินค้าออกของไทยให้บริการซื้อสินค้าเงินเชื่อแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ จึงนับเป็นสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องของคนไทยที่จะให้ผู้ซื้อในต่างประเทศชำระหนี้ค่าสินค้าตามเงื่อนไขการชำระเงิน ภายในช่วงเวลาที่กำหนด สินเชื่อทางการค้าที่ผู้ส่งออกของไทยให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศนี้ ทำให้เกิดรายการในบัญชีดุลการชำระเงิน ดังนี้

(1) รายการ Outflow คือ ค่าสินค้าออกที่ผู้ซื้อในต่างประเทศค้างชำระ นับจากวันที่ผู้ซื้อได้บันทึกว่ามีกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นๆ แล้ว รายการนี้สะท้อนว่าประเทศไทยเป็นเจ้าหนี้ มีลูกหนี้ในต่างประเทศเกิดขึ้น หรือสินทรัพย์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั่นเอง

(2) รายการ Inflow เกิดจากการชำระ หรือผ่อนชำระค่าสินค้าตามข้อ (1) รายการนี้สะท้อนว่าลูกหนี้ในต่างประเทศลดลง หรือสินทรัพย์ในต่างประเทศลดลงนั่นเอง Flow ของสินเชื่อการค้าด้านหนี้สิน หมายถึง มูลค่าสินเชื่อการค้าที่ผู้นำสินค้าเข้าของไทยใช้บริการซื้อสินค้าเงินเชื่อจากผู้ขายในต่างประเทศ จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ต่างประเทศหรือภาระผูกพันที่คนไทยจะต้องชำระคืนค่าสินค้าต่อผู้ขาย (เจ้าหนี้) ในต่างประเทศตามเงื่อนไขการชำระเงิน ภายในช่วงเวลาที่กำหนด สินเชื่อทางการค้าที่ผู้นำเข้าสินค้าของไทยได้รับมานี้ ทำให้เกิดรายการในบัญชีดุลการชำระเงิน ดังนี้

(1) รายการ Inflow คือ ค่าสินค้าเข้าที่ค้างชำระกับผู้ขายในต่างประเทศ นับจากวันที่ผู้นำเข้าได้บันทึกว่ามีกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นๆ แล้ว รายการนี้สะท้อนว่าประเทศไทยได้รับสินเชื่อการค้าเพิ่มขึ้น หรือหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั่นเอง

(2) รายการ Outflow เกิดจากการชำระ หรือผ่อนชำระค่าสินค้าตามข้อ (1) เมื่อผู้นำเข้าของไทยชำระหนี้ค่าสินค้าให้กับเจ้าหนี้สินเชื่อการค้าในต่างประเทศ รายการนี้สะท้อนว่า สินเชื่อการค้าลดลง หรือหนี้ต่างประเทศลดลงนั่นเอง

4.1 การจัดทำข้อมูล Flow สินเชื่อการค้า มีวิธีการจัดทำข้อมูล ดังนี้

4.1.1 สินเชื่อการค้าด้านสินทรัพย์ ธปท. ใช้วิธีประมาณการโดยอาศัยโครงสร้างวิธีการชำระค่าสินค้าที่ได้จากการสำรวจฯ ดังนี้

(1) ประมาณการ Outflow เทียบเป็นสัดส่วนกับมูลค่าสินค้าออกรายเดือนที่ได้รับจากกรมศุลกากรโดยอาศัยโครงสร้างวิธีการชำระค่าสินค้าออกที่ได้จากการสำรวจ ซึ่งจะมีรายละเอียดระบุว่าผู้ส่งออกไทยให้สินเชื่อแก่ผู้ซื้อเป็นสัดส่วนเท่าใดเทียบกับมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ส่งออก ทั้งนี้ การประมาณโดยเทียบสัดส่วนฯ ใช้การคำนวณเป็นรายกลุ่มสินค้า (อิงจากพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์) เนื่องจากสินค้าต่างลักษณะมักจะมีโครงสร้างการให้สินเชื่อที่แตกต่างกันด้วย

(2) ประมาณการ Inflow โดยอาศัยโครงสร้างวิธีการชำระค่าสินค้าออกที่ได้จากการสำรวจ ซึ่งจะมีรายละเอียดระบุว่าผู้ส่งออกไทยให้สินเชื่อการค้าโดยมีงวดและระยะเวลาการชำระค่าสินค้าอย่างไรบ้าง จากนั้น นำมูลค่าสินเชื่อการค้า Outflow ตามข้อ (1) มาคำนวณการตกช่วงชำระคืนตามโครงสร้างดังกล่าว ทั้งนี้ การประมาณการทำเป็นรายกลุ่มสินค้า (อิงจากพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์) เช่นกัน เนื่องจากสินค้าต่างลักษณะมักจะมีงวดและระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้าที่แตกต่างกันด้วย

(3) คำนวณ Net flow = Inflow — Outflow เพื่อบันทึกในบัญชีเงินทุน (รายการ “Other Investment” ด้านสินทรัพย์) และดุลการชำระเงิน

4.1.2 สินเชื่อการค้าด้านหนี้สิน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ

  • สินเชื่อน้ำมัน เป็นข้อมูลที่ได้รับรายงานโดยตรงจากบริษัทผู้นำเข้าน้ำมัน
  • สินเชื่อการค้าอื่นๆ ธปท. ใช้วิธีประมาณการโดยอาศัยโครงสร้างวิธีการชำระค่าสินค้าเข้าที่ได้จากการสำรวจฯ ดังนี้

(1) ประมาณการ Inflow โดยเทียบเป็นสัดส่วนกับมูลค่าสินค้าเข้ารายเดือนที่ได้รับจากกรมศุลกากร (ไม่นับส่วนที่เป็นการนำเข้าน้ำมันเนื่องจากได้ข้อมูลสินเชื่อการค้าโดยตรงแล้ว) โดยโครงสร้างวิธีการชำระค่าสินค้าเข้าที่ได้จากการสำรวจ จะมีรายละเอียดระบุว่าผู้นำเข้าไทยมีการชำระค่าสินค้าเข้าโดยได้รับสินเชื่อจากผู้ขายเป็นสัดส่วนเท่าใดเทียบกับมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่นำเข้า ทั้งนี้ การประมาณโดยเทียบสัดส่วนฯ ใช้การคำนวณเป็นรายกลุ่มสินค้า (อิงจากพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์) เนื่องจากสินค้าต่างลักษณะมักจะมีโครงสร้างการชำระเงินค่าสินค้าที่แตกต่างกันด้วย

(2) ประมาณการ Outflow โดยอาศัยโครงสร้างวิธีการชำระค่าสินค้าเข้าที่ได้จากการสำรวจ ซึ่งจะมีรายละเอียดระบุว่าผู้นำเข้าไทยมีงวดและระยะเวลาการชำระค่าสินค้าเข้าอย่างไรบ้าง จากนั้นนำมูลค่าสินเชื่อการค้าInflow ตามข้อ (1) มาคำนวณการตกช่วงชำระคืนตามโครงสร้างดังกล่าว ทั้งนี้ การประมาณการทำเป็นรายกลุ่มสินค้า (อิงจากพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์) เช่นกัน เนื่องจากสินค้าต่างลักษณะมักจะมีงวดและระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้าที่แตกต่างกันด้วย

(3) คำนวณ Net flow = Inflow — Outflow เพื่อบันทึกในบัญชีเงินทุน (รายการ “Other Investment” ด้านหนี้สิน) และดุลการชำระเงิน

4.2 การปรับความสอดคล้องระหว่างข้อมูล Flow และข้อมูลยอดคงค้างที่ได้จากการสำรวจเมื่อได้รับข้อมูลยอดคงค้างตามผลการสำรวจฯ จะมีการปรับแก้ไขข้อมูล Flow ตามข้อ 4.1 ใหม่อีกครั้งเพื่อคุมยอดให้ Flow รายปี สอดคล้องกันกับผลการสำรวจยอดคงค้าง ณ สิ้นปี สำหรับข้อมูลอนุกรมเวลาของ Flow สินเชื่อการค้าชุดใหม่ที่อิงจากผลการสำรวจฯ นี้ ปรับย้อนรายเดือนถึงเดือนมกราคม 2548

5. ผลการปรับข้อมูลสินเชื่อการค้าต่อหนี้ต่างประเทศ ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และดุลการชำระเงิน

หากใช้ข้อมูลสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจตั้งแต่ปี 2547-2552 แทนข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลให้หนี้ต่างประเทศ ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และดุลการชำระเงิน (ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายภาคเอกชน) เปลี่ยนแปลงไปดังนี้

ตารางที่ 6 ผลการปรับยอดคงค้าง (Stock) สินเชื่อการค้าต่อหนี้ต่างประเทศ ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และดุลการชำระเงิน (ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย)

       (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)     2547     2548    2549     2550     2551     2552
สินเชื่อการค้า: ด้านสินทรัพย์
ที่เผยแพร่ปัจจุบัน                   2.6      3.8     4.8      7.8      7.2     7.3
ผลการสำรวจ                    11.4     16.3    18.4     23.2     21.3    20.9
เพิ่มขึ้น                          8.8     12.4    13.5     15.4     14.1    13.6
สินเชื่อการค้า: ด้านหนี้สิน
ที่เผยแพร่ปัจจุบัน                   4.7      8.0     9.2     10.1     10.4    11.2
ผลการสำรวจ                    11.9     15.0    18.1     22.6     21.2    17.4
เพิ่มขึ้น                          7.2      7.1     8.9     12.5     10.9     6.1
เกินดุล/ขาดดุล                    1.5      5.4     4.6      2.9      3.3     7.4

ผลต่อหนี้ต่างประเทศ
          (พันล้านดอลลาร์สรอ.)   2547     2548    2549     2550      2551    2552
หนี้ต่างประเทศรวม
ที่เผยแพร่ปัจจุบัน                  51.4     52.2    61.0     61.9      65.2    69.5
ข้อมูลชุดใหม่                     58.8     59.3    70.0     74.4      76.1    75.3*
เพิ่มขึ้น                          7.3      7.1     8.9     12.5      10.9     5.8
          หมายเหตุ : *หนี้ฯที่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อการค้าควรจะเท่ากับ 75.5 พันล้านดอลลาร์สรอ. แต่มีจำนวน 0.2 พันล้านดอลลาร์ที่ลดลงจากการที่สถาบันการเงินไทยไปซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนกลับคืนมา ( Bond Bought Back ) จาก Non -Resident

ผลต่อฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ
          (พันล้านดอลลาร์สรอ.)    2547     2548    2549    2550     2551    2552
ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ
ที่เผยแพร่ปัจจุบัน                  -53.6    -59.6    -59.5   -56.2    -14.0    ...
ข้อมูลชุดใหม่                     -50.9    -53.9    -56.2   -53.2    -10.1   -4.8
เพิ่มขึ้น/ลดลง                      2.8      5.8      3.3     3.0      4.0    ...
ผลต่อดุลการชำระเงิน (ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย)
          (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)   2547     2548     2549    2550     2551    2552
เงินทุนเคลื่อนย้าย
ที่เผยแพร่ปัจจุบัน                    3.6     11.1      6.8    -2.6     14.6    -1.2
ข้อมูลชุดใหม่                       2.8      7.7      7.6     1.9     17.6
เพิ่มขึ้น/ลดลง                     -0.5     -1.9      0.3     0.6      0.1

สินเชื่อการค้าด้านหนี้สินเพิ่มขึ้น 6.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศของไทยในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากเดิม 69.5 พันล้านดอลลาร์สรอ. (กว่าร้อยละ 90 เป็นหนี้ระยะสั้น) เป็น 75.3 พันล้านดอลลาร์สรอ.หรือเพิ่มขึ้น 5.8 พันล้านดอลลาร์สรอ.

หากพิจารณาในด้านสินทรัพย์แล้ว พบว่าในปี 2552 เพิ่มขึ้นถึง 13.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และในปี 2551 เพิ่มขึ้น 14.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิ ณ สิ้นปี 2551 ปรับตัวดีขึ้นจากที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ 14.0 พันล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงเหลือเป็นมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ 10.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ หากจะดูผลกระทบของสินเชื่อการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต้องดูผลสุทธิของสินเชื่อการค้า (ทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน) ที่ปรากฏในบัญชีฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (IIP) ด้วยจึงจะครบถ้วน

ดุลการชำระเงิน เปลี่ยนแปลงไปเฉพาะด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารและภาครัฐวิสาหกิจ โดยหากพิจารณาเฉพาะในรายการ Flow สินเชื่อการค้าแล้วจะพบว่า Flow ในปี 2552 เปลี่ยนจากเดิมที่เกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์สรอ. เป็นขาดดุล 4.5 พันล้านดอลลาร์สรอ. เนื่องจาก Flow ที่คำนวณขึ้นใหม่ด้านสินทรัพย์ (บันทึกเป็น Outflow ของประเทศ ) เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก สอดคล้องกับมูลค่าการค้าที่เกินดุลต่อเนื่องในระดับสูงติดต่อกันหลายปี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการปรับข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ รายการอื่นๆ ให้สอดคล้องกับผลสำรวจ IIP ปี 2552 ด้วยแล้ว ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายฯ รวมของปี 2552 เปลี่ยนจากขาดดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นขาดดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

การสำรวจสินเชื่อการค้าโดยอิงกรอบการสำรวจปี 2552 (สำรวจยอดคงค้างปี 2551) เป็นการสำรวจสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้แบบสำรวจ 44 และมีการคัดเลือกจำนวนตัวอย่างด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อควบคุมค่าความคลาดเคลื่อนคาดหวังให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในการคัดเลือกตัวอย่าง ใช้วิธีการแบ่งตามชั้นภูมิ และการสุ่มแบบระบบ โดยแบ่งบริษัทเป็นกลุ่มตามยอดมูลค่าการค้า และสำหรับบริษัทที่มีมูลค่าการค้ามากกว่า 400 ล้านบาท แบ่งตามประเภทธุรกิจออกเป็น 7 กลุ่ม หลังจากได้รับแบบสำรวจกลับคืนมา จะมีการตรวจสอบคุณภาพข้อมูล และประมาณการข้อมูลยอดสินเชื่อการค้าของบริษัทที่ไม่ได้สำรวจ

การดำเนินการสำรวจสินเชื่อการค้าครั้งล่าสุดปี 2553 (สำรวจยอดคงค้างปี 2552)นี้ ใช้บัญชีรายชื่อผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าจากกรมศุลกากรเป็นฐานข้อมูลประชากร โดยมีผู้นำเข้าสินค้าจำนวน 67,381 ราย คิดเป็นมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมด 4,605.2 พันล้านบาท และผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 38,229 ราย คิดเป็นมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด 5,197.1 พันล้านบาท สำหรับการคัดเลือกตัวอย่างเพื่อส่งแบบสำรวจ มีการแบ่งกลุ่มผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นกลุ่มย่อยตามมูลค่าสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกเพื่อคำนวณจำนวนตัวอย่างโดยอาศัยหลักการทางสถิติ เพื่อให้ค่าความคลาดเคลื่อนคาดหวังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ หลังจากนั้น ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) และการคัดเลือกตัวอย่างแบบระบบ (Systematic Sampling) โดยมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมโดยจำแนกตามประเภทธุรกิจ เพื่อให้การคัดเลือกตัวอย่างมีการกระจายตัวที่ครอบคลุม และสามารถเป็นตัวแทนที่ดีของข้อมูลประชากรทั้งหมดได้ อนึ่ง เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่าการค้าสูงกว่า 2,000 ล้านบาท นั้น มีจำนวนไม่มาก แต่ครอบคลุมมูลค่าการค้ารวมถึงประมาณกว่าร้อยละ 60...ของยอดการนำเข้าและส่งออกทั้งหมด ดังนั้น ในการสำรวจจึงส่งแบบสำรวจให้บริษัทเหล่านี้ทุกราย

เมื่อพิจารณาข้อมูลสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจพบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อการค้าของไทยเพิ่มสูงขึ้นมากจากการใช้วิธีประมาณการเดิม ทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน และมีผลให้ยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศของไทย ณ สิ้นปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 75.3 พันล้านดอลลาร์สรอ. แต่ผลสำรวจสินเชื่อการค้าทางด้านสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่าทางด้านหนี้สิน ผลสุทธิของสินเชื่อการค้า (ทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน) ส่งผลให้ฐานะสุทธิการลงทุนระหว่างประเทศ (IIP) ซึ่งเปรียบเสมือนงบดุลของประเทศปรับตัวดีขึ้น

ภาคผนวก

กรอบการสำรวจยอดคงค้างสินเชื่อการค้า ณ สิ้นปี 2551

1. ประชากร (Population)

การกำหนดกรอบประชากร ใช้บัญชีรายชื่อผู้นำเข้า/ส่งออกและมูลค่าสินค้าปี 2551 จากข้อมูลกรมศุลกากร โดยพบว่ามีผู้นำเข้าสินค้าจำนวนทั้งสิ้น 61,715 ราย และผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 37,937 ราย โดยสามารถจำแนกผู้นำเข้าสินค้าและผู้ส่งออกสินค้าเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มนิติบุคคล(*1) (สัดส่วนมูลค่าการค้ามากกว่าร้อยละ 99) และกลุ่มรัฐวิสาหกิจและอื่น ๆ (สัดส่วนมูลค่าการค้าน้อยกว่าร้อยละ 1) รายละเอียดตาม ตารางที่ ผ1

ตารางที่ ผ1 : ข้อมูลประชากร

                        ด้านนำเข้า                           ด้านส่งออก
                 จำนวน  มูลค่านำเข้า    สัดส่วนต่อ       จำนวน   มูลค่าส่งออก    สัดส่วนต่อ
                 ราย   (พันล้านบาท)  มูลค่าทั้งหมด(%)   ราย     (พันล้านบาท)  มูลค่าทั้งหมด(%)
นิติบุคคล         47,078    5,893.1      99.1        29,432    5,832.7       99.6
รัฐวิสาหกิจ       14,637       50.9       0.9         8,507       20.9        0.4
และอื่นๆ
รวมทั้งหมด       61,715    5,944.0     100.0        37,937    5,853.6      100.0
(*1) รวมรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน เช่น ปตท. การบินไทย ฯลฯ

2. กลุ่มตัวอย่าง (Sample)
          2.1 การเลือกขนาดตัวอย่าง
          ในการคัดเลือกจำนวนตัวอย่าง อาศัยจากประชากรผู้นำเข้าและผู้ส่งออก เฉพาะที่เป็นนิติบุคคล (รวมรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน) ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการค้ามากกว่าร้อยละ 99 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดมาทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) โดยจำแนกประชากรออกเป็น 4 กลุ่มตามมูลค่าการค้า ตามรายละเอียดดังตารางที่ ผ2

          ตารางที่ ผ2 : ข้อมูลผู้นำเข้า-ส่งออก ที่เป็นนิติบุคคล แบ่งกลุ่มตามมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก

                                      ด้านนำเข้า              ด้านส่งออก
                                 จำนวน   สัดส่วนต่อมูลค่า   จำนวน    สัดส่วนต่อมูลค่า
                                          ทั้งหมด(%)               ทั้งหมด(%)
กลุ่ม ก                              379        68         419        71
(ตั้งแต่ 2,000 ล้านบาท ขึ้นไป)
กลุ่ม ข                            1,169        17       1,155        17
(ตั้งแต่ 400 — น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท)
กลุ่ม ค                            12,611       14       8,387        11
(ตั้งแต่ 10 — น้อยกว่า 400 ล้านบาท)
กลุ่ม ง                            32,919        1      19,471         1
 (น้อยกว่า 10 ล้านบาท)
รวม                              47,078      100      29,432       100

สำหรับวิธีการในการคัดเลือกจำนวนบริษัทเพื่อสำรวจจากแต่ละกลุ่ม พิจารณาจากค่าความคาดเคลื่อนคาดหวัง (Expected Error)2 เป็นสำคัญ เนื่องจากบริษัทในกลุ่ม ก มีจำนวนบริษัทไม่มาก แต่มีสัดส่วนมูลค่าการค้าสูงถึงประมาณร้อยละ 70 ของยอดการนำเข้า-ส่งออกทั้งหมด จึงทำการสำรวจทุกราย สำหรับบริษัทในกลุ่มอื่นๆ เลือกตัวอย่างโดยพิจารณากำหนดค่าความคลาดเคลื่อนของค่ามูลค่าการค้าเฉลี่ยที่ยอมรับได้ และคำนวณขนาดตัวอย่างโดยใช้วิธีการหาขนาดตัวอย่างสำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ (Estimation of Sample Size for Continuous Data) โดยกำหนดเกณฑ์ค่าความคลาดเคลื่อนของมูลค่าการค้าเฉลี่ยที่ยอมรับได้สำหรับกลุ่ม ข, ค, และ ง ไว้ที่ ร้อยละ 3, 8, และ 15 ตามลำดับ และใช้อัตราการตอบกลับที่ร้อยละ 90

อนึ่ง ในการสำรวจปีถัดมาได้ปรับปรุงการสำรวจให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเอาเฉพาะรายใหญ่จึงเหลือการสำรวจเพียงกลุ่ม ก และ ข เท่านั้น

ตารางที่ ผ3 : ขนาดตัวอย่างและค่าความคาดเคลื่อนคาดหวังที่คำนวณได้

 กลุ่มตาม                    ด้านนำเข้า                       ด้านส่งออก
ขนาดการค้า     จำนวน   ตอบกลับ  ความคลาดเคลื่อน   จำนวน   ตอบกลับ  ความคลาดเคลื่อน
             ตัวอย่าง   คาดหวัง   คาดหวัง (%)    ตัวอย่าง   คาดหวัง    คาดหวัง(%)
ก             379     341.1      4.37          419     377.1       2.90
ข             294     264.6      2.60          268     241.2       2.63
ค             445     400.5      5.74          402     361.8       5.67
ง             137     123.3     12.33          166     149.4      11.09
รวม         1,255   1,129.5                  1,255   1,129.5
2.2 การเลือกตัวอย่างบริษัท

การคัดเลือกตัวอย่างบริษัทเพื่อส่งแบบสำรวจในแต่ละกลุ่มให้ได้จำนวนตามที่ต้องการ ใช้เทคนิคการเลือกตัวอย่างแบบระบบ (Systematic Sampling)

เมื่อพิจารณาข้อมูลจากกลุ่ม ก และ ข พบว่า บริษัทในสองกลุ่มนี้ มียอดมูลค่าการค้ารวมกันมากกว่าร้อยละ 85 ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั้งหมด ดังนั้น การสำรวจและประมาณการข้อมูลสำหรับบริษัทในสองกลุ่มนี้ จึงต้องทำอย่างละเอียดและระมัดระวัง และเพื่อให้บริษัทที่ส่งแบบสำรวจในกลุ่ม ข มีการกระจายตัวตามประเภทธุรกิจต่างๆ อย่างเหมาะสมและครอบคลุม ดังนั้น ในการสำรวจจึงนำประเภทธุรกิจมาร่วมพิจารณาใช้เป็นปัจจัยในการแบ่งกลุ่มตัวอย่างและประมาณการด้วย กล่าวคือ แบ่งบริษัททั้งหมดเป็น 7 กลุ่มธุรกิจ ตามเกณฑ์การจัดประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Standard Industrial Classification of All Economic Activities — ISIC) ดังตารางที่ ผ4

ตารางที่ ผ4 : การแบ่งกลุม่ บริษัทตามประเภทธุรกิจ

(Standard Industrial Classification of All Economic Activities — ISIC)

    กลุ่มธุรกิจ                                        ISIC
การผลิต 1                 D23 (ถ่านโค้ก+ปิโตรเลียม), D24 (เคมี), D25 (ยาง+พลาสติก), D26 (อโลหะ),
(Base Production)        D27 (โลหะมูลฐาน), D28 (โลหะประดิษฐ์)
การผลิต 2                 D29, D30, D31, D32, D33 (เครื่องจักร+อุปกรณ์) D34, D35 (ยานยนต์)
(Machinery)
การผลิต 3                 D15, D16, D17, D18, D19, D20, D21, D22, D36, D37
(Other Production)      (การผลิตที่ไม่ได้อยู่ในการผลิต 1 & 2)
การค้าส่งและปลีก           หมวด G
การขนส่งและคมนาคม        หมวด I
การก่อสร้างและบริการ       หมวด F, K
ธุรกิจอื่นๆ ที่เหลือ           (A, B, C, E, H, J, L, M, N, O, P, Q)
3. ผลการสำรวจ

ทีมหนี้ต่างประเทศ ฝ่ายบริหารข้อมูล ได้ส่งแบบสำรวจสินเชื่อการค้าปี 2551 (แบบสำรวจ 44) ไปยังบริษัทกลุ่มตัวอย่างที่ได้คัดเลือกตามวิธีการดังกล่าว ซึ่งมีอัตราการตอบกลับประมาณร้อยละ 85 และได้ผลสัดส่วนสินเชื่อการค้าระยะสั้นและระยะยาวต่อมูลค่าการค้า ดังนี้ (ตารางที่ ผ5-ผ6)

ตารางที่ ผ5: สรุปสัดส่วนการใช้สินเชื่อการค้าสำหรับบริษัทที่สำรวจ (จำแนกตามขนาดบริษัท)

กลุ่ม                 ด้านนำเข้า                               ด้านส่งออก
ตาม     จำนวน   สัดส่วน       สัดส่วนสินเชื่อ       จำนวน     สัดส่วนต่อ     สัดส่วนสินเชื่อ
ขนาด    บริษัท   ต่อมูลค่า       การค้าต่อมูลค่า       บริษัท       มูลค่า      การค้าต่อมูลค่า
การค้า           นำเข้าใน    นำเข้าในกลุ่ม (%)             ส่งออกใน     ส่งออกในกลุ่ม(%)
                  กลุ่ม(%)  ระยะสั้น   ระยะยาว             กลุ่ม(%)     ระยะสั้น   ระยะยาว
 ก          333    90.6    10.0      0.1       365      88.8       12.3      0.1
 ข          238    25.9    14.3      0.9       211      22.4       11.0      0.4
 ค          340     5.4    17.3      4.8       313       6.8       15.1      3.1
 ง           58     0.4     6.8        0        75       0.6        6.1      0.0
รวม         969    66.4    10.4      0.2       964      67.6       12.2      0.1

ตารางที่ ผ6 : สรุปสัดส่วนการใช้สินเชื่อการค้าสำหรับบริษัทที่สำรวจ (จำแนกตามประเภทธุรกิจ)

  กลุ่มตาม                       ด้านนำเข้า                       ด้านส่งออก
ประเภทธุรกิจ        จำนวน   สัดส่วนสินเชื่อการค้า(%)    จำนวน    สัดส่วนสินเชื่อการค้า(%)
                   บริษัท    ระยะสั้น    ระยะยาว     บริษัท     ระยะสั้น    ระยะยาว
ก่อสร้างบริการ          23    10.3         0.1        21       6.4       0.0
การขนส่ง              18     9.0         5.7        19       0.8       0.0
การค้า               183    14.1         0.1       176       9.8       0.2
การผลิต 1            249     4.5         0.0       242       8.3       0.1
การผลิต 2            270     13.6        0.1       268      15.5       0.1
การผลิต 3            201     10.0        1.3       204       9.8       0.6
ธุรกิจอื่นๆ              31     33.1        0.0        34      14.0       0.0

จากตารางที่ ผ6 จะพบว่า สัดส่วนสินเชื่อการค้าต่อมูลค่าการนำเข้าของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มีค่าสูงถึงร้อยละ 33 เมื่อได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมจากข้อมูลรายบริษัท (หมายเหตุ เป็นการตรวจสอบจากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การโทรไปถามเพิ่มเติม) พบว่าบริษัทที่มีการใช้สินเชื่อการค้าในสัดส่วนที่สูงมาก จะเป็นบริษัทในหมวด ISIC C11 (การขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติฯ) และ E40 (การไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และน้ำร้อน) ดังนั้น ในการประมวลผลและการประมาณค่าสินเชื่อการค้า จะแยกบริษัทเหล่านี้ออกมาต่างหาก

4. การประมวลผลและประมาณการค่าสินเชื่อการค้า

หลังจากได้รับผลสำรวจสินเชื่อการค้ารายบริษัทแล้วในเบื้องต้น จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล และแยกประเภทบริษัทตามข้อมูลที่ได้มา กล่าวคือ

  • บริษัทที่มีข้อมูลปกติ ซึ่งเชื่อถือได้ และสามารถใช้เป็นฐานในการประมาณค่าสินเชื่อการค้ารวมได้
  • บริษัทที่มีข้อมูลอันเป็นลักษณะเฉพาะ

บริษัทในกลุ่มที่มีข้อมูลอันเป็นลักษณะเฉพาะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ทำธุรกรรมซื้อมาขายไปโดยสินค้าไม่ผ่านประเทศไทย (เช่น ธุรกรรม merchanting) ดังนั้นสินเชื่อการค้าของบริษัทที่มีธุรกรรมประเภทนี้ จะมีปริมาณสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าสินค้าที่ผ่านกรมศุลกากร

ข้อมูลสำรวจที่ได้จากบริษัทเหล่านี้ จะนำไปรวมกับยอดข้อมูลสินเชื่อการค้าทั้งหมดแต่จะไม่นำไปใช้เพื่อประมาณการยอดสินเชื่อการค้าของบริษัทที่ไม่มีข้อมูลจากการสำรวจ

  • บริษัทที่ข้อมูลมีปัญหา และไม่สามารถใช้ได้

ข้อมูลสินเชื่อการค้าที่ได้จากการสำรวจของบริษัทในกลุ่มนี้ เป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้เช่น ข้อมูลมีธุรกรรมหนี้ในประเทศปะปนมาและบริษัทไม่สามารถแยกให้ได้บริษัทเหล่านี้ จะถือเสมือนว่าไม่ได้ถูกสำรวจ และจะใช้ยอดสินเชื่อการค้าที่ได้จากประมาณค่ามาแทนสินเชื่อการค้าที่ทางบริษัทได้รายงานในแบบสำรวจไว้

สำหรับในกรณีของบริษัทที่ไม่ได้ส่งสำรวจ ส่งสำรวจแล้วไม่ตอบ หรือตอบแล้วข้อมูลเชื่อถือไม่ได้ การประมาณค่าสินเชื่อการค้าสำหรับบริษัทเหล่านี้ จะนำผลสำรวจที่มีมาเป็นฐานสำหรับใช้ประมาณค่าโดยมีแนวทางการประมาณดังต่อไปนี้

  • บริษัทในกลุ่ม ก และ ข ใช้สัดส่วนการใช้สินเชื่อการค้าเฉลี่ยของบริษัทในขนาดและประเภทธุรกิจเดียวกัน โดยไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจน้ำมันและพลังงาน (ในกรณีจำนวนตัวอย่างในประเภทธุรกิจนั้นมีไม่มากพอ จะใช้สัดส่วนตามปัจจัยขนาดมูลค่าการค้าของบริษัทนั้นแทน)
  • บริษัทในกลุ่ม ค และ ง ใช้สัดส่วนการใช้สินเชื่อการค้าเฉลี่ยของบริษัทในกลุ่มนั้น (ในกรณีจำนวนตัวอย่างไม่พอ ให้ใช้สัดส่วนรวมทุกขนาดมูลค่าการค้าแทน)
  • กลุ่มที่ไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ถูกสำรวจ จะใช้สัดส่วนการใช้สินเชื่อการค้ารวม

ตัวอย่าง บริษัท บ ทำธุรกิจผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง มีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 300 ล้านบาท และส่งออกสินค้า 3,000 ล้านบาท บริษัท บ ไม่ตอบแบบสำรวจ ดังนั้น การประมาณข้อมูลสินเชื่อการค้าจะทำโดยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ด้านนำเข้า บริษัท บ อยู่ในกลุ่ม ค ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อการค้าระยะสั้นร้อยละ 17.3 และสินเชื่อการค้าระยะยาวร้อยละ 4.8 ดังนั้น สินเชื่อการค้าประมาณการของบริษัท บ คือ ระยะสั้น 51.9 ล้านบาท และระยะยาว 14.4 ล้านบาท
  • ด้านส่งออก บริษัท บ อยู่ในกลุ่ม ก และอยู่ในกลุ่มการผลิต 3 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อการค้าระยะสั้น ร้อยละ 9.9 และระยะยาว ร้อยละ 0.3 ดังนั้น สินเชื่อการค้าประมาณการของบริษัท บ คือ ระยะสั้น 297 ล้านบาท และระยะยาว 90 ล้านบาท

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก ข้อมูล   Trade  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ