การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday March 26, 2004 14:15 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                              26  มีนาคม 2547 
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
สาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร
ที่ สนส.(21)ว. 47/2547 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2547 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 121 ตอนพิเศษ 35 ง. ลงวันที่ 25 มีนาคม 2547 แล้ว
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ
1. คำจำกัดความของบัตรเครดิต และคุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต
กำหนดคำจำกัดความของบัตรหลักและบัตรเสริม และกำหนดคุณสมบัติของ ผู้ถือบัตรแต่ละประเภทให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. การชำระหนี้และการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้
2.1 เพิ่มอัตราการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของ ยอดคงค้างทั้งสิ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น โดยให้ถือปฏิบัติสำหรับผู้ถือบัตร รายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 และผู้ถือบัตรรายเก่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้นไป
2.2 ให้ยกเลิกการใช้บัตรเครดิตกรณีผู้ถือบัตรมีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดชำระ
3. การเปลี่ยนประเภทหนี้
กำหนดหลักเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด กรณี มีการโอนหนี้บัตรเครดิต หรือเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตไปเป็นหนี้ประเภทอื่น
4. การปฏิบัติและการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค
กำหนดวงเงินที่จะให้แก่ผู้ถือบัตรแต่ละรายต้องไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน หรือกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝาก โดยในกรณีผู้ถือบัตรรายเก่าให้ถือปฏิบัติตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
5. การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจบัตรเครดิต
กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีระเบียบ หรือพิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ หรือระบุในสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกระทำการแทนธนาคารพาณิชย์ ในเรื่องการการติดต่อหาผู้ถือบัตร รายใหม่ หรือติดต่อผู้ถือบัตรรายเก่าเพื่อเสนอสินเชื่อประเภทใหม่
ทั้งนี้ ธปท. ขอเรียนเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ผ่อนผันเป็นการ ทั่วไปให้ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ได้ทำธุรกิจบัตรเครดิตไม่ต้องจัดส่งชุดข้อมูล (Data set) เกี่ยวกับรายงานสรุปบริการบัตรเครดิต (Credit Card Summary) และรายงานสรุปการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางต่างๆ (Card Usage Summary) อย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารพาณิชย์ที่กล่าวมีการทำธุรกิจ บัตรเครดิตเมื่อใด ต้องถือปฏิบัติในการส่งชุดข้อมูลดังกล่าวทันที
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2547
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์
โทร. 0-2283-5304, 0-2283-5837
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ......... ณ ..............
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสป10-กส35201-25470326ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
ของธนาคารพาณิชย์
__________________________________________________
1. เหตุผลในการออกประกาศ
เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน และเป็นการระมัดระวังและป้องกันปัญหาจากบัตรเครดิตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนเพื่อให้หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจ บัตรเครดิตมีความเหมาะสม ชัดเจนและสามารถถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน
2. อำนาจตามกฎหมาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22(8) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
4. เนื้อหา
4.1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 และหนังสือที่ ธปท.สนส.(21)ว.535/2546 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติของผู้ถือบัตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546
4.2 ในประกาศนี้
"บัตรเครดิต" หมายความว่า บัตรที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารพาณิชย์กำหนด เพื่อใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือค่าอื่นใดแทนการชำระด้วยเงินสดหรือเพื่อใช้เบิกถอนเงินสด ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบัตรที่ได้มีการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือค่าอื่นใดไว้ล่วงหน้า
" บัตรหลัก" หมายความว่า บัตรเครดิตที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ถือบัตรหรือ ผู้บริโภคที่เป็นผู้มีรายได้หรือฐานะทางการเงินเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ตามบัตรเครดิตได้
"บัตรเสริม" หมายความว่า บัตรเครดิตที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ถือบัตรหรือ ผู้บริโภคที่ผู้ถือบัตรหลักยินยอมให้ใช้จ่ายเงินภายในวงเงินของผู้ถือบัตรหลัก และผู้ถือบัตรหลักจะเป็น ผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด
4.3 คุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต
กรณีผู้ถือบัตรหลัก
ธนาคารพาณิชย์จะออกบัตรหลักให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ เมื่อผู้ถือบัตรหรือ ผู้บริโภคมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(1) มีรายได้จากแหล่งที่มาต่างๆรวมกันไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท ต่อปี โดยต้องแสดงหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของรายได้
(2) มีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นหลักประกันเต็มวงเงินของบัตรเครดิตที่อนุมัติ
(3) เป็นผู้มีรายได้หรือเคยมีรายได้จากการทำมาหาได้ของตนเอง โดยพิจารณาจากกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งธนาคารพาณิชย์พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นผู้มีฐานะทางการเงินเพียงพอสำหรับการชำระเงินตาม บัตรเครดิตได้
กรณีผู้ถือบัตรเสริม
ธนาคารพาณิชย์อาจออกบัตรเสริมให้กับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติตาม (1)-(3) ข้างต้น หรือ ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำได้ ภายใต้สัญญาที่ทำกับผู้ถือบัตรหลัก โดยวงเงินการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเสริมต้องอยู่ภายในวงเงินของผู้ถือบัตรหลักเท่านั้น และผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด
กรณีผู้ถือบัตรรายเก่า
ธนาคารพาณิชย์จะต่ออายุบัตรเครดิตให้แก่ผู้ถือบัตรรายเก่าที่มีรายได้จากแหล่งที่มาต่างๆ รวมกันต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือต่ำกว่า 180,000 บาท ต่อปี ได้ หากผู้ถือบัตรรายเก่ามีประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องกัน โดยในรอบ 1 ปีย้อนหลัง ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ เกิน 2 ครั้ง แต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน
4.4 ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต
ธนาคารพาณิชย์ต้องถือปฏิบัติในเรื่อง ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต ดังต่อไปนี้
(1) ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการใช้บัตรเครดิตซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะนั้นตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามประกาศนี้ ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำการทุกแห่ง ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดังกล่าวหรือเงื่อนไขใด ๆ ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนวันที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลง ไม่น้อยกว่า 30 วัน
(2) แจ้งรายละเอียดตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม (1) ให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคที่ประสงค์จะขอมีบัตรเครดิตทราบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขอมีบัตรเครดิต
(3) การเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับการใช้ บัตรเครดิต ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ดอกเบี้ยและค่าบริการที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(4) ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคนอกเหนือจากรายการตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม (1) ธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน
4.5 การเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้
ธนาคารพาณิชย์ต้องถือปฏิบัติในการเรียกให้ชำระหนี้และติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ ดังนี้
(1) หากธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคผ่อนชำระหนี้เป็นงวดจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้โดยให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคชำระหนี้ขั้นต่ำใน แต่ละงวด ดังนี้
(ก) ผู้ถือบัตรรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 จะต้องชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น
(ข) ผู้ถือบัตรรายเก่าก่อนวันที่ 1 เมษายน 2547 ต้องชำระหนี้ในแต่ละงวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 จะต้องชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น
(2) ต้องมีหนังสือเตือนผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย
(3) จัดส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนวันถึงกำหนดชำระหรือหักบัญชี ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการคิดดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายในหนี้ค้างชำระให้แสดงรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวในใบแจ้งหนี้ด้วย
(4) กรณีที่ผู้ถือบัตรมีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ ให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตรรายนั้นทันที
4.6 การเปลี่ยนประเภทหนี้
ห้ามธนาคารพาณิชย์โอนหนี้ หรือเปลี่ยนประเภทหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต ไปเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด หรือหนี้ตามสัญญาสินเชื่อประเภทอื่น เว้นแต่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคก่อน
(2) ต้องกำหนดให้มีการชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดหนี้คงค้าง เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือบัตร โดยเฉพาะในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต่ำลง และธนาคารพาณิชย์จะต้อง จัดทำเอกสารหลักฐานสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ครบถ้วนและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
(3) การเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ต้องเป็นไปตามข้อ 4.4 (3) และ (4) ของประกาศฉบับนี้
(4) ต้องยกเลิกการใช้บัตร และบัญชีบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภครายนั้นทันที
(5) การโอนหนี้หรือเปลี่ยนประเภทหนี้ดังกล่าวต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันสำรองหรือเป็นเหตุให้มีการจดแจ้งบัญชีสินทรัพย์และหนี้สินไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ หนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิต ที่ยังมิได้โอนไปเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะเอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นไม่ได้
4.7 การปฏิบัติและการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค
(1) ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความสำคัญและจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขอบัตรที่ถูกต้องและครบถ้วนเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติและกำหนดวงเงินบัตรเครดิตที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลกลางที่เชื่อถือได้ เช่น บริษัทที่ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต เป็นต้น หรือร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อสอบยันประวัติส่วนตัวของผู้ขอมีบัตร จำนวนบัตรและวงเงินบัตรเครดิตที่ได้รับทั้งสิ้น ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ
(2) วงเงินที่จะให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิต แต่ละรายต้องไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หรือกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากตามข้อ 4.3 สำหรับผู้ถือบัตรรายเก่าก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ อนุโลมให้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
(3) ให้ผู้ยื่นขอบัตรรายใหม่และผู้ถือบัตรรายเก่าที่ประสงค์จะขอวงเงินเพิ่ม ต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับบัตรเครดิตและวงเงินที่ได้รับขณะยื่นขอบัตรเครดิตหรือขอเพิ่มวงเงิน ที่ครบถ้วน และถูกต้อง โดยธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งให้ลูกค้ารับทราบเกี่ยวกับความสำคัญของการแจ้งข้อมูล ดังกล่าว ซึ่งมีผลให้ธนาคารพาณิชย์อาจบอกเลิกการถือบัตรได้หากต่อมาตรวจพบว่ามีการแจ้งข้อมูล ดังกล่าวไม่ถูกต้อง
(4) ธนาคารพาณิชย์ต้องรักษาข้อมูลของผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคไว้เป็นความลับ เว้นแต่ ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) การเปิดเผยโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค
(ข) การเปิดเผยตามหน้าที่ หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการ พิจารณาคดี
(ค) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของธนาคารพาณิชย์นั้น
(ง) การส่งข้อมูลเครดิตให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต
(จ) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย
4.8 การปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียน
ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำเนินการตรวจสอบเมื่อผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และแจ้งความคืบหน้ารวมทั้งชี้แจงขั้นตอนต่อไปให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคทราบ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการร้องเรียน รวมทั้งให้ดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนนั้นให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคนั้นทราบโดยเร็ว
4.9 การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจบัตรเครดิต
(1) ธนาคารพาณิชย์ต้องกำหนดนโยบายและแผนงานในการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิต และเสนอคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ความเห็นชอบทุกปี ทั้งนี้ นโยบายและแผนงาน ดังกล่าว ควรประกอบด้วยทิศทางและแนวทางในการให้บริการบัตรเครดิต พร้อมทั้งเป้าหมายในการให้บริการแก่ลูกค้าตามระดับรายได้ของผู้ถือบัตร
(2) ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีระเบียบ หรือพิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ หรือระบุในสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกระทำการแทนธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการการติดต่อหา ผู้ถือบัตรรายใหม่ หรือติดต่อกับผู้ถือบัตรรายเก่าเพื่อเสนอสินเชื่อประเภทใหม่ พร้อมทั้งถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(ก) การติดต่อหาผู้ถือบัตรรายใหม่ หรือติดต่อกับผู้ถือบัตรรายเก่า จะดำเนินการได้ คือตั้งแต่เวลา 8.00-20.00 น. ในวันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ ให้ดำเนินการตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น.
(ข) ห้ามมิให้มีการแจกเงิน สิ่งของ หรือบัตรกำนัลใดๆ ในการรับสมัครลูกค้า รายใหม่ หรือการอนุมัติบัตรให้ลูกค้ารายใหม่ เว้นแต่จะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรแล้วอย่างน้อย 1 งวด
(3) ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงในการให้บริการ บัตรเครดิต ดังนี้
(ก) ระบบการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอบัตรเครดิตเพื่อการอนุมัติและกำหนดวงเงินบัตรเครดิตตามระดับความสามารถในการชำระหนี้
(ข) ระบบการเรียกเก็บหนี้ที่สามารถเตือนให้ทราบเมื่อลูกหนี้เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลง ตลอดจนกลยุทธ์ในการเรียกเก็บหนี้ในกรณีต่าง ๆ
(ค) ระบบการติดตามพฤติกรรมในการใช้จ่ายและการชำระหนี้ของผู้ถือบัตรแต่ละราย เพื่อประโยชน์ในการทบทวน เปลี่ยนแปลงวงเงินให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและรูปแบบการใช้บัตรของผู้ถือบัตรแต่ละราย
(ง) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสำหรับใช้ในการกำหนดและทบทวนนโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการให้บริการบัตรเครดิตด้วย
4.10 การจัดทำบัญชีและการรายงาน
ธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดทำรายงานตามที่กำหนดไว้ในหนังสือที่ ธปท. สนส.(03)ว.2203/2546 ลงวันที่ 30 กันยายน 2546 เรื่อง การปรับปรุงรูปแบบและวิธีการส่งรายงานข้อมูลที่กำหนดให้ยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4.11 ข้อกำหนดในประกาศนี้ ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการออกบัตรเดบิตเพื่อใช้เบิกถอนเงินสดหรือหักทอนค่าสินค้าหรือค่าบริการ จากบัญชีเงินฝากในขณะที่ใช้บัตรนั้น
4.12 ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ออกบัตรเครดิตให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคแล้ว ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากคุณสมบัติของผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคดังกล่าวไม่ตรงตามประกาศนี้ ให้บัตรเครดิตนั้นยังมีผลใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดอายุของบัตรเครดิตหรือธนาคารพาณิชย์บอกยกเลิกการใช้บัตรเครดิตตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตนั้น
5. วันที่เริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 23 มีนาคม 2547
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ