29 กรกฎาคม 2547 เรียน ผู้จัดการ ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร ที่ ธปท.สนส. (31) ว. 1326/2547 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหารและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ 1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน เพื่อนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหารและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ 2. ฉบับที่ลงราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 121 ตอนพิเศษ 85 ง ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 3. ขอบเขตการถือปฏิบัติใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร 4. สาระสำคัญของประกาศ ธปท. ประกาศกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการที่เป็นผู้บริหารและผู้บริหารระดับสูงของ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องตรวจสอบก่อนการแต่งตั้งทุกครั้ง อนึ่ง หากธนาคารพาณิชย์ มีข้อสงสัยใดก็สามารถหารือ ธปท. ก่อนการแต่งตั้งได้ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด 5. วันที่เริ่มต้นถือปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป ขอแสดงความนับถือ (นายเกริก วณิกกุล) ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ผู้ว่าการ แทน สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหารและ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ ฝ่ายนโยบายเงินกองทุน โทร. 0-2283-6827 และ 0-2283-6836 หมายเหตุ [ ] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ......ณ.......... [X] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง สนสว10-ธภ30001-25470730ด ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหารและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ __________________________________ 1. เหตุผลในการออกประกาศ โดยที่การดำเนินกิจการของธนาคารพาณิชย์ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของ ประเทศและประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ทั้งประชาชนซึ่งเป็นลูกค้าผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการต่าง ๆ และผู้ถือหุ้นรายย่อย ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทาง และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลในระบบธนาคารพาณิชย์ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพพร้อม ๆ กับจริยธรรมทางด้านธุรกิจ อันจะนำไปสู่ ความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และประโยชน์โดย รวมของประชาชนในระยะยาว การที่ธนาคารพาณิชย์จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรรมการที่เป็นผู้บริหารและ ผู้บริหารระดับสูงซึ่งรับผิดชอบวางนโยบาย กำกับดูแลและควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นผู้มีคุณธรรม ไม่เคยมีพฤติกรรมอันส่อถึง การทุจริตหรือประพฤติมิชอบในด้านการเงิน หรือส่อถึงการละเลยบกพร่องต่อหน้าที่จนก่อหรืออาจ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องออกประกาศนี้เพื่อพิทักษ์รักษา ประโยชน์ของประชาชน 2. อำนาจตามกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (8) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2528 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหารและ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ เพื่อพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน ตามที่กำหนดใน ประกาศฉบับนี้ 3. ขอบเขตการบังคับใช้ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคาร พาณิชย์ทุกธนาคาร ยกเว้นสาขาของธนาคารต่างประเทศและกิจการวิเทศธนกิจของสาขาของธนาคาร ต่างประเทศ 4. เนื้อหา 4.1 ในประกาศนี้ (1) "กรรมการที่เป็นผู้บริหาร" หมายความว่า กรรมการที่มีส่วนร่วมในการ บริหารงานให้แก่ธนาคารพาณิชย์เต็มเวลา และรับผลตอบแทนจากธนาคารพาณิชย์เป็นประจำทุกเดือน ในรูปของเงินเดือนหรือผลตอบแทนอื่นที่เปรียบเสมือนเงินเดือน และให้หมายความรวมถึง ประธาน กรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้วย (2) "ผู้บริหารระดับสูง" หมายความว่า ผู้จัดการ รองผู้จัดการอาวุโส รองผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่กำหนดชื่อเป็นอย่างอื่น หรือบุคคลอื่นซึ่งธนาคารพาณิชย์ ทำสัญญาให้มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารงานของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่ บุคคลอื่นนั้นด้วย (3) "สถาบันการเงิน" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 4.2 ธนาคารพาณิชย์ต้องไม่แต่งตั้งหรือมีกรรมการที่เป็นผู้บริหารและผู้บริหารระดับ สูงซึ่งมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ (1) มีปัญหาในการชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน (2) เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สั่งถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินหรือบริษัทหลักทรัพย์ ใดมาก่อน เว้นแต่ จะพ้นจากระยะเวลาที่กำหนดห้ามเป็นผู้บริหารแล้ว หรือได้รับการผ่อนผันจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้วแต่ กรณี (3) เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่กำกับ และควบคุมสถาบันการเงิน กล่าวโทษ ร้องทุกข์ หรือกำลังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง หรือ ทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจ หลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมาย ว่าด้วยการกำกับและควบคุมสถาบันการเงินนั้น เว้นแต่ จะปรากฏว่าคดีถึงที่สุดโดยไม่มีความผิด (4) เคยทำหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการใด ๆ ที่มีลักษณะอันเป็นการ หลอกลวงผู้อื่นหรือประชาชน (5) มีประวัติเสียหาย หรือเคยมีพฤติกรรมที่แสดงถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็น ธรรมหรือไม่น่าเชื่อถือ (6) มีพฤติกรรมที่แสดงถึงการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต (7) มีการทำงานที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณหรือขาดมาตรฐานในการ ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินหรือการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (8) มีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการ กลั่นกรองหรือตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วย กฎหมาย หรือขาดจรรยาบรรณหรือขาดความรอบคอบที่พึงมีในการปฏิบัติหน้าที่ อันอาจก่อให้เกิด ความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสถาบันการเงินโดยรวม หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ หรือการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ หรือต่อลูกค้าของธุรกิจสถาบันการเงิน 4.3 ก่อนการแต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งหรือทำหน้าที่เป็นกรรมการที่เป็น ผู้บริหารหรือผู้บริหารระดับสูง ธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติและไม่มี ลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดและตามประกาศนี้ 4.4 ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า กรรมการที่เป็นผู้บริหารหรือผู้บริหาร ระดับสูงของธนาคารพาณิชย์มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระบุใน 4.2 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจ สั่งการหรือกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติก็ได้ 5. วันเริ่มต้นบังคับใช้ ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2547 (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สนสป10-ธภ30001-25470729ด