แนวทางการดำรงเงินกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday February 6, 1997 16:49 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย 6 กุมภาพันธ์ 2540 เรียน ผู้จัดการ ธนาคารพาณิชย์ทุกธนคาร บริษัทเงินทุนทุกบริษัท ที่ ธปท.งพ.(ว) 243/2540 เรื่อง แนวทางการดำรงเงินกองทุน เพื่อรองรับความเสี่ยงทางด้าน Market Risks ด้วยปัจจุบันสถาบันการเงินได้ให้ความสนใจในการประกอบธุรกรรมที่เกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและสัญญาอนุพันธ์ ตลอดจนมีการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้าน market risks มากขึ้น ประกอบกับในระยะหลังนี้มักมีข่าวปรากฏว่าสถาบันการเงินและธุรกิจหลายแห่งในต่างประเทศได้ประสบผลขาดทุนและความเสียหายอันเนื่องจากความเสี่ยงทางด้านนี้เป็นจำนวนมาก Bank for International Settlements (BIS) ได้เสนอแนวทางในการกำหนดให้ สถาบันการเงินทั่วโลกต้องดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks เพิ่มเติมจากการดำรงเงิน กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามวิธีในปัจจุบันซึ่งพิจารณาแต่เฉพาะความเสี่ยงทางด้าน credit risk ซึ่งธนาคารเห็นว่า ข้อเสนอของ BIS เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำกับดูแลความ เพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงินไทยในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้สถาบันการเงินได้มีโอกาสทำความเข้าใจวิธีการดำรงเงินกองทุนตามมาตรฐานสากลและเตรียมพร้อมสำหรับแนวทางการกำกับดูแลความเสี่ยงทางด้าน market risks ธนาคารจึงขอส่งเอกสารของ BIS เกี่ยวกับวิธีการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks พร้อมบทสรุปซึ่งธนาคารจัดทำขึ้นมา ณ โอกาสนี้ จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ (นายศิริ การเจริญดี) แทน ผู้ว่าการ ส่วนพัฒนาธุรกิจสถาบันการเงิน ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน โทร.2835938-9___________________________________________________________________________ การดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ Market Risks * สรุปจาก Basle Committee on Banking Supervision : "Amendment to the Capital Accord to Incorporate Market Risks", January 1996_______________________________________________* เป็นเอกสารแนบหนังสือธนาคารที่ ธปท.งพ.(ว) 243/2540 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 เรื่อง แนวทางการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงทางด้าน Market Risks___________________________________________________________________________ การดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ Market risks นอกเหนือจากการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ credit risk แล้ว BIS ได้เสนอให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ Market risks ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ ก) ความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและทองคำ ข) ความเสี่ยงทางด้านอัตราดอกเบี้ย ค) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ (equity risk) ง) ความเสี่ยงจากการลงทุนใน commodity จ) ความเสี่ยงจากการค้า option ทั้งนี้ BIS ได้กำหนดรายละเอียดดังนี้ 1. ประเภทธุรกรรมที่ต้องดำรงเงินกองทุน 1.1 ให้ธนาคารพาณิชย์จำแนกธุรกรรมออกเป็นเพื่อการค้า (Trading book) และเพื่อการลงทุน (Banking book) ธุรกรรมเพื่อค้า หมายถึง การซื้อและขายในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อหวังผลกำไร จากราคาที่เปลี่ยนแปลงไป และธุรกรรมที่ทำเพื่อหักกลบฐานะหรือความเสี่ยงของธุรกรรมอื่น ๆ ใน Trading book ด้วยกัน ธุรกรรมเพื่อการลงทุน หมายถึง ธุรกรรมอื่น ๆ นอกจากธุรกรรมเพื่อการค้า ในกรณีการคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยและ equity risk ให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับเฉพาะความเสี่ยงจากธุรกรรมใน Trading book สำหรับความเสี่ยงประเภทอื่น ๆ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีเงินกองทุนเพื่อรองรับความ เสี่ยงทั้งที่เกิดจากธุรกรรมใน Trading และ Banking book 2. ประเภทเงินกองทุนที่ใช้รองรับความเสี่ยง BIS ได้กำหนดเพิ่มประเภทเงินกองทุนชั้นที่ 3 ขึ้นสำหรับรองรับความเสี่ยงทางด้าน market risks เท่านั้น โดยมีคุณสมบัติดังนี้ - เป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะสั้น (อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป) - เป็นตราสารที่ออกโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน - ห้ามไถ่ถอนก่อนกำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลาง - มีเงื่อนไขห้ามชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืน หากการชำระดังกล่าวจะทำให้อัตราส่วน เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่าที่กำหนด วิธีคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อความเสี่ยง โดยสรุปคือ 1) เงินกองทุนชั้นที่ 1 + 2 > 8% ตามข้อกำหนดเดิม _________________ _ Credit risk 2) เงินกองทุนชั้นที่ 1 + 2 + 3 > 8% _____________________ _ Market risks ทั้งนี้ องค์ประกอบของเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks เป็นส่วนของเงิน กองทุนชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ได้ไม่เกินกว่า 2.5 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 3. วิธีวัดความเสี่ยงและคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงแต่ละประเภท BIS เสนอทางเลือก 2 วิธี สำหรับวัดความเสี่ยงจาก market risk ได้แก่ 1) Standardized measurement method หรือ 2) Internal model approach 3.1 Standardized measurement method ภายใต้วิธีนี้ BIS เสนอสูตรตายตัวในการคำนวณจำนวนเงินทุนที่ใช้รองรับความ เสี่ยงจาก market risks แต่ละประเภท เช่น สูตรคำนวณเงินกองทุนสำหรับรองรับความเสี่ยงจาก อัตราดอกเบี้ย สูตรการคำนวณเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสูตรการคำนวณเงินกองทุนรองรับความเสี่ยงจาก equity หรือ commodity เป็นต้น ดังนั้น เงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำรงเพื่อรองรับความเสี่ยงจาก market risks ทุกประเภท คือ ผลรวมของเงินกองทุนที่คำนวณได้จากสูตรต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น 3.2 Internal model approach สำหรับวิธีนี้ให้ธนาคารพาณิชย์คำนวณค่าความเสี่ยง value at risk (VAR) * โดยใช้สูตรของธนาคารพาณิชย์เองและต้องดำรงเงินกองทุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของ VAR(หรือมากกว่านี้ แล้วแต่ธนาคารกลางกำหนด) โดยสูตรที่ใช้คำนวณจะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลางก่อน ในการให้ความเห็นชอบสูตรคำนวณ VAR ของธนาคารกลางมีเงื่อนไขกว้าง ๆดังนี้ - ธนาคารพาณิชย์มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีเป็นที่ยอมรับได้ - ธนาคารพาณิชย์มีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพียงพอ และมีประสิทธิภาพดี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้ - สูตรที่ใช้จะต้องได้รับการพิสูจน์โดยธนาคารกลางว่ามีความถูกต้อง - มีการทดลองทำ stress test อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการทดสอบผลกระทบ ต่อฐานะเงินกองทุนจากกรณีที่เกิดความผันผวนทางตลาดอย่างรุนแรง ธนาคารกลางควรต้องติดตามและทดสอบประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดในระยะแรกที่ธนาคารพาณิชย์เลือกวิธีนี้ในการคำนวณเงินกองทุน ธนาคารพาณิชย์ที่จะใช้วิธี VAR จะต้องมีหน่วยงานที่เป็นอิสระในการควบคุมดูแลความเสี่ยงนอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวัดความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรมโดยจะต้องสามารถวัดความเสี่ยงให้อยู่ในรูปของจำนวนเงินได้ 4. การเริ่มใช้บังคับ BIS เสนอให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ market risks ภายในสิ้น ปี 2540 ซึ่งธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ G-10 ได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะนี้ ในระหว่างนี้หากธนาคารพาณิชย์ใดต้องการใช้ internal model approach ในการคำนวณความเสี่ยง ก็ให้เริ่มปรับ ปรุงระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากธนาคารพาณิชย์ใดเลือกที่จะใช้วิธี internal model approach จะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการ standardized method ธนาคารแห่งประเทศไทย 6 กุมภาพันธ์ 2540_________________________________________ * VAR เป็นการประมาณผลขาดทุนสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ภาวะตลาด เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่พึงปรารถนา (adverse momement) มากถึง 3 standard deviation

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ