แนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน ของสถาบันการเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday October 15, 2001 09:10 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                        15  ตุลาคม  2544
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(21)ว. 2258/2544 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในของสถาบันการเงิน
จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต้องปรับตัวให้มีกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภาคการเงิน
การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง แรงกดดันให้มีผลกำไรจากการดำเนินงานหรือมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ ฝ่ายบริหารของสถาบันการเงินจำเป็นต้องให้ความสนใจกับการควบคุมภายในและความเสี่ยงอย่างเหมาะสมผู้ตรวจสอบภายในจึงควรมีบทบาทที่สำคัญในการประเมินประสิทธิผลและความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของสถาบันการเงิน และมีบทบาทในเชิงรุก (Proactive) ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นควรออกแนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในของสถาบันการเงินตามที่แนบมาพร้อมนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินใช้เป็นแนวทางและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถาบันการเงิน
วัตถุประสงค์
(ก) เพื่อส่งเสริมให้การตรวจสอบภายในของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
(ข) เพื่อเน้นย้ำถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการสถาบันการเงิน (Board of Directors) คณะกรรมการตรวจสอบ ฝ่ายบริหารทุกระดับ และผู้สอบบัญชีภายนอก
(ค) เพื่อให้แนวทางเกี่ยวกับการตรวจสอบที่เหมือนกันแก่สถาบันการเงินเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานขององค์กรและหน่วยงานตรวจสอบภายใน
หลักการและเหตุผล
จากการตรวจสอบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ามาตรฐานการตรวจสอบภายในของสถาบันการเงินแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยคุณภาพและมาตรฐานของงานตรวจสอบของผู้ตรวจสอบภายในหลายแห่งเป็นที่น่าพอใจ ในขณะที่บางแห่งอยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบและวิธีการตรวจสอบ จากการตรวจสอบที่เน้นความถูกต้องเฉพาะด้านการบัญชีและการเงิน มาเป็นการตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน ซึ่งบางครั้งระบบงานบางระบบไม่เกี่ยวกับด้านบัญชีและการเงิน นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินจะยังคงบทบาทเดิมในการเป็นตัวกลางทางการเงิน วิธีการในการทำหน้าที่ดังกล่าวกลับมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้ความกดดันให้การดำเนินงานมีผลกำไร การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่มีความซับซ้อน การแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม การตอบสนองต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุให้ธุรกิจสถาบันการเงินมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงขึ้นปัจจัยเหล่านี้ประกอบกับการขยายเครือข่ายสาขา และระบบการรวมศูนย์การปฏิบัติการที่สำนักงานใหญ่ส่งผลให้งานด้านตรวจสอบภายในมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในส่วนของผู้ตรวจสอบภายในจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบและวิธีการตรวจสอบให้มีลักษณะ Dynamic มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มบทบาทในเชิงรุกในการตรวจสอบการบริหารและการปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อช่วยให้สถาบันการเงินบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้
การจัดลำดับเนื้อหา
แนวทางการปฏิบัตินี้แบ่งออกเป็น 4 บท คือ
(ก) บทที่ 1 ครอบคลุม โครงสร้างการตรวจสอบภายใน โดยจะกล่าวถึงหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอิสระและความมีใจเป็นอิสระ ความรอบรู้ในวิชาชีพ ความสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสาร การกำกับดูแลการตรวจสอบภายใน และการ Outsource หน้าที่การตรวจสอบภายใน
(ข) ในบทที่ 2 อธิบายถึง หน้าที่และความรับผิดชอบหลักของผู้ตรวจสอบภายใน โดยจะไม่กล่าวถึงหน้าที่และความรับผิดชอบอื่นของผู้ตรวจสอบภายในที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม
(ค) บทที่ 3 เกี่ยวกับ ขอบเขตของงานตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการประเมินระบบการควบคุมภายในเท่านั้น แต่รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของฝ่ายบริหารด้วย
(ง) บทที่ 4 กล่าวถึง การรายงานและการจัดทำเอกสาร โดยครอบคลุมการจัดทำและเก็บรักษากระดาษทำการและรายงานผลการตรวจสอบ
การถือปฏิบัติ
สถาบันการเงินควรนำแนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรของตน และควรอ่านควบคู่กับประกาศและหนังสือเวียนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถาบันการเงินที่ใช้ผู้ตรวจสอบภายในของสำนักงานใหญ่หรือของกลุ่ม (Group Internal Auditor) หรือว่าจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) ทำหน้าที่ตรวจสอบภายในก็สามารถใช้แนวทางการปฏิบัตินี้ได้เช่นกันสถาบันการเงินที่มีแนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในที่เข้มงวดกว่านี้อยู่แล้ว ให้ดำเนินการดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา
ข้อจำกัด
แนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในนี้ใช้เป็นแนวทางโดยทั่วไปของผู้ตรวจสอบภายในของสถาบันการเงิน โดยไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะกล่าวถึงประเด็นหรือเหตุการณ์สำคัญทั้งหมดที่ผู้ตรวจสอบภายในอาจประสบในระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ แนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในฉบับนี้ไม่ได้แสดงขั้นตอนการตรวจสอบการปฏิบัติงานในทุกด้านของสถาบันการเงินอย่างละเอียด ผู้ตรวจสอบภายในควรศึกษาแนวทางการตรวจสอบภายในที่ออกโดยหน่วยงานหรือสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น The Institute of Internal Auditors (IIA) COSO ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย เป็นต้น
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย แนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในของสถาบันการเงิน
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์
โทร 0-2283-6827-8
หมายเหตุ [
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ............. ณ..................
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว90-กส21503-25441015ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ