แนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ของสถาบันการเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday December 25, 2000 14:35 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            25 ธันวาคม 2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(11)ว.3491/2543 เรื่อง แนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการประกอบธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ของสถาบันการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นควรให้มีการพัฒนาตลาดซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo Market)เพิ่มเติมจากตลาดซื้อคืนธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรองตราสารหนี้
2.เพื่อเพิ่มช่องทางในการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
3.เพื่อเป็นการพัฒนาตลาดเงิน ให้มีการกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินในรูปแบบที่มีหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยง
4.เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงได้คล่องตัวขึ้น
เพื่อให้สถาบันการเงินที่ประกอบธุรกรรมนี้ได้มีความเข้าใจตรงกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยขอ แจ้งนโยบายและซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้
1.ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนเป็นธุรกรรมภายใต้มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 เนื่องจากโดยสถานะของธุรกรรมถือเป็นการกู้ยืมเงินโดยมีหลักประกัน
2.ในระยะแรกของการทำธุรกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นควรกำหนดขอบเขตการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนไว้ดังนี้ คือ
2.1ประเภทตราสาร เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรในประเทศ ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนเฉพาะในตราสารหนี้ภาครัฐประเภทเดียวกับตราสารที่สามารถซื้อขายในตลาดซื้อคืนธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำและมีราคาตลาดที่อ้างอิงได้อย่างโปร่งใส ตราสารดังกล่าว ได้แก่
-ตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาล
-พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
-พันธบัตรรัฐวิสาหกิจและหุ้นกู้ที่รัฐบาลค้ำประกัน
-พันธบัตรและตราสารการเงินอื่นใดที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจังตั้งขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบ
2.2สกุลเงิน ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนเฉพาะสกุลเงินบาทได้เท่านั้นโดยไม่สมควรทำธุรกรรมในสกุลเงินต่างประเทศ และ cross currency
2.3คู่สัญญา สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมกับคู่สัญญาที่เป็นสถาบันการเงิน นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาได้ แต่ยังคงต้องถือปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ กฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งมีข้อจำกัดดังนี้
(1)ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ในรูปแบบของธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน แต่กรณีให้กู้ยืมเงินสามารถทำได้
(2)บริษัทเงินทุนไม่สามารถกู้ยืมเงินจากนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในรูปแบบของธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน แต่กรณีให้กู้ยืมเงินให้สามารถทำได้
(3)บริษัทเครดิตฟองซิเอร์สามารถกู้ยืมเงินภายใต้ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนจากสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้กู้ยืมเงินในรูปแบบของธุรกรรมนี้ได้ อย่างไรก็ดี ไม่ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนหรือธุรกรรมที่มีลักษณะเดียวกันกับคู่สัญญาที่เป็นผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ(non-resident)
2.4นิติกรรมสัญญา ให้สถาบันการเงินใช้สัญญาเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ให้มีเอกสารแนบท้ายสัญญา(annex)ได้ โดยต้องไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแก่คู่สัญญา
3.ให้สถาบันการเงินบันทึกบัญชีให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีหรือแนวปฎิบัติของสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยหรือศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยแล้วแต่กรณี และให้จัดทำทะเบียนเกี่ยวกับการซื้อหรือขายธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ในการ ติดตามและควบคุมความถูกต้องของการทำธุรกรรม โดยในทะเบียนควรมีข้อมูลขั้นต่ำดังนี้ วันที่ทำสัญญา วันครบ กำหนดสัญญา วันส่งมอบหลักทรัพย์ จำนวนที่ทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน การดำรง Margin รายละเอียดตราสาร ที่เกี่ยวข้อง เช่น เลขที่สัญญา ชื่อผู้ออก จำนวนเงิน เป็นต้น
4.ให้สถาบันการเงิน กำหนดให้มีระบบการควบคุมภายในขั้นต่ำ ดังนี้
(1)นโยบายและระเบียบปฎิบัติในการประกอบธุรกิจ
(2)นโยบายการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือและการกำหนดวงเงินคู่สัญญา
(3)ระเบียบและวิธีการบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายใน เช่น
ก.หลักเกษฑ์การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือและการกำหนดวงเงินคู่สัญญาก่อนการทำธุรกรรม และการทบทวนความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาภายหลังการทำธุรกรรมระยะหนึ่ง ทำนองเดียวกับการให้ สินเชื่อ/ให้กู้ยืม โดยทั่วไป
ข.การบริหารความเสี่ยง
ค.การกำหนดคู่มือการปฎิบัติงาน
ง.การแยกหน้าที่ของ Dealer และ Back Office โดยเฉพาะการ แยกหน้าที่เรื่องการทบทวนความน่าเชื่อถือของคู่ค้า และการประเมินราคาหลักทรัพย์/หลักประกัน (Mark to Market)ออกจากหน้าที่ของ Dealer
จ.การจดทะเบียนคุมหลักทรัพย์/หลักประกันที่ได้จาการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน
5.หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสถาบันการ
5.1การดำรงเงินกองทุน
5.1.1สถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้ยืม(ผู้ซื้อตราสาร)หลักการ:การทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนให้ถือเสมือนว่าสถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินโดยมีตราสารเป็นหลักประกันการดำรงเงินกองทุนของสถาบันการเงินผู้ให้กู้ยืมเงิน จึงเป็นไปตามเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์และภาระผูกพันของ สถาบันการเงิน ตัวอย่างเช่น
(1)กรณีการให้กู้ยืมเงินผ่านธุรกรรมซื้อคืน โดยมีพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารแสดงสิทธิ์ในหนี้ที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ค้ำประกันคุ้มมูล หนี้ ถือว่าการให้กู้ยืมดังกล่าว มีน้ำหนักความเสี่ยงเท่ากับ 0
(2)กรณีการให้กู้ยืมเงินผ่านธุรกรรมซื้อคืน โดยมีหุ้นกู้ หรือ ตราสารแสดงสิทธิ์ในหนี้ของสถาบันการเงิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าเป็นประกันคุ้มมูลลูกหนี้ ถือว่าการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว มีน้ำหนักความเสี่ยงเท่ากับ 20
(3)กรณีการให้กู้ยืมเงินผ่านธุรกรรมซื้อคืน โดยมีตราสารภาคเอกชน เป็นหลักประกัน ถือว่าการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวมีน้ำหนักความเสี่ยงเท่ากับ 100 หรือมีน้ำหนักความเสี่ยงตามความเสี่ยงของลูกหนี้คู่สัญญา (กรณีที่คู่สัญญามีความเสี่ยงน้อยกว่า 100)
ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่คุ้มมูลลูกหนี้ ในกรณีที่ต่อไปหลักประกันเสื่อมค่าลง ทำให้หลักประกันที่มีอยู่ไม่คุ้มมูลลูกหนี้ ส่วนต่างของยอดเงินให้กู้ยืมที่เกินกว่าหลักประกัน ให้กำหนดน้ำหนักความเสี่ยงตามความเสี่ยงของลูกหนี้คู่สัญญา อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกของการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน จะไม่รวมถึงการทำธุรกรรมซื้อคืนในตราสารภาคเอกชนตามกรณี(2)และ(3)ซึ่งหากในอนาคตธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยายขอบเขต ประเภทตราสารก็จะนำตราสารภาคเอกชนตาม(2)และ(3)มาใช้ในการคำนวณการดำรงเงินกองทุนด้วย
5.1.2สถาบันการเงินเป็นผู้กู้ยืมเงิน(ผู้ขายตราสาร) หลักการ:ถือว่าเป็นการกู้ยืมเงินโดยวางหลักทรัพย์เป็นประกัน ยังถือเสมือนว่าหลักทรัพย์ยังคงเห็นของผู้ขาย เนื่องจากในที่สุดแล้วผู้ขายก็จะได้รับหลักทรัพย์คืนมาเมื่อครบกำหนดในสัญญาซื้อคืนผู้ขายจึงยังคงต้องดำรงเงินกองทุนสำหรับเงินลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้นด้วย และในกรณีที่ผู้ให้กู้ยืมเงิน(ผู้ซื้อตราสาร)มีการเรียกหลักประกันเกินกว่า เงินสดที่จ่ายให้ผู้กู้ยืมเงิน(ผู้ขายตราสาร)ส่วนของมูลค่าหลักประกันที่เกินกว่ายอดเงินสดที่ได้รับ ผู้กู้ยืมเงิน (ผู้ขายตราสาร)จะต้องถือเสมือนว่ามีความเสี่ยงทางด้าน Credit Risk กับผู้ให้กู้ยืมเงิน (ผู้ซื้อตราสาร) เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ให้กู้ยืมเงินจะไม่สามารถนำหลักประกันส่วนเกินมาคืนให้กับผู้กู้ยืมเงินได้ ในการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยง หากมูลค่าของตราสารที่โอนไปเป็นหลักประกันมีมูลค่า มากกว่าเงินที่ได้รับ สถาบันการเงินจะต้องดำรงเงินกองทุนสำหรับส่วนต่างดังกล่าวด้วย โดยถือว่าส่วนต่างดังกล่าวเป็นรายการนอกงบดุลที่มีค่าแปลงสภาพเท่ากับ 1 และมีน้ำหนักความเสี่ยงตามคู่สัญญา ทั้งนี้ ให้คิดเป็นรายสัญญา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดในประกาศปัจจุบันให้มีขอบเขตครอบคลุมถึงแนวทางดังกล่าวข้างต้นต่อไป
5.2การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน ให้ถือปฏิบัติดังนี้
(1)ให้ผู้ให้กู้ยืมเงิน(ผู้ซื้อตราสาร)ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในตราสาร ณสิ้นวันใดวันหนึ่ง สามารถนับตราสารตามที่กำหนดไว้ในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้สำหรับธนาคารพาณิชย์และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้สำหรับบริษัทเงินทุน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ใน ตราสาร(settlement date)ในขณะที่ผู้กู้ยืมเงิน(ผู้ขายตราสาร)ซึ่งเป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์ต้องไม่นับตราสารนั้นเป็น สินทรัพย์สภาพคล่องในวันเดียวกัน
(2)ให้นับมูลค่าตราสารที่ได้รับโอนมาเข้าเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องตามนัยหนังสือเวียนที่ ธปท.งพ.(ว)1148/2540 เรื่อง การนับมูลค่าหลักทรัพย์ที่ใช้ในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 สำหรับธนาคารพาณิชย์และหนังสือเวียนที่ ธปท.งพ.(ว)1149/2540 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2540
สำหรับบริษัทเงินทุน กล่าวคือ
-กรณีตราสารประเภทจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ที่จำนวนเงินซึ่งตราไว้ในหลักทรัพย์เท่ากับต้นเงินทั้งจำนวน และจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้(Coupon rate)ทุกงวดตลอดอายุของหลักทรัพย์ ให้ถือจำนวนเงินที่ตราไว้ในหลักทรัพย์เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายได้ทั้งจำนวน
-กรณีตราสารประเภทดอกเบี้ยทบต้น ที่จำนวนเงินซึ่งตราไว้ในหลักทรัพย์เท่ากับต้นเงินทั้งจำนวน แต่จ่ายดอกเบี้ยครั้งเดียวในวันที่ชำระคืนต้นเงิน ให้ถือจำนวนเงินที่ตราไว้ในหลักทรัพย์เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายได้ทั้งจำนวน
-กรณีตราสารประเภทไม่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ที่จำนวนเงินซึ่งตราไว้ในหลักทรัพย์เท่ากับต้นเงินรวมดอกเบี้ย และจำหน่ายในราคาส่วนลด(discount)จากจำนวนเงินที่ตราไว้ ให้นับ เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายด้วยมูลค่าตามบัญชี(book value)ซึ่งเท่ากับราคาที่จ่ายซื้อบวกด้วยยอดสะสม ของส่วนลดตามระยะเวลาที่ถือ โดยให้คำนวณยอดสะสมของส่วนลดเป็นงวดรายเดือน ทั้งนี้ ราคาที่จ่ายซื้อจะต้องไม่แตกต่างจากราคาซื้อขายโดยทั่วไป
(3)สำหรับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องนับเงินกู้ยืมจากการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน และบัญชีเจ้าหนี้มาร์จินรับโอน ซึ่งเกิดจากกรณีตราสารที่โอนหรือรับโอนกรรมสิทธิ์นั้นมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปรวมเป็นฐานในการคำนวณการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
5.3การนับลูกหนี้รายใหญ่ ให้สถาบันการเงินนับธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนรวมกับ ธุรกรรมปกติของลูกหนี้รายนั้น ตามนัยมาตรา 13และมาตรา 13 จัตวาแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 และมาตรา 35 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522ๆ ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนที่จะนำไปนับรวมกับธุรกรรมปกติ แยกได้ดังนี้
(1)ผู้ให้กู้ยืมเงิน(ผู้ซื้อตราสาร)จะนับจำนวนเงินที่ให้กู้ยืมส่วนที่เกินมูลค่าตราสารที่รับโอนมาในการคำนวณการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใหญ่ กรณีตราสารนับได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกบังคับตาม มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และมาตรา 35 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 แล้วแต่กรณี และให้นับทั้งจำนวนกรณีเป็นตราสารอื่น
(2)ผู้กู้ยืมเงิน(ผู้ขายตราสาร)จะนับตราสารที่โอนไปให้ผู้ให้กู้ยืมในส่วนที่ราคาของตราสารเกินกว่าเงินกู้ยืมที่ได้รับ ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯและมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเงินทุนฯแล้วแต่กรณี
(3)เงินสดหรือตราสารที่ได้จากการดำรงมาร์จินของคู่สัญญาจะต้องนำมารวมกับธุรกรรมปกติตามแนวที่กล่าวด้วย
(4)มูลค่าตราสารให้ใช้ราคาตลาด ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีขอบเขตครอบคลุมถึงแนวทางข้างต้นต่อไป
6.การรายงานธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนในแบบรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แสดงไว้ภายใต้หัวข้อเงินให้สินเชื่อ เงินให้กู้ยืม เงินกู้ยืม รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน สินทรัพย์อื่น หรือ หนี้สินอื่น แล้วแต่กรณีจนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง และประกาศใช้ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
ขอแสดงความนับถือ
(นางธารษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินสอบถามข้อ 2 โทร.283-5876สอบถามข้อ 3 และ 4 โทร.283-5796สอบถามข้อ 5.1 และ 5.2 โทร.283-5843สอบถามข้อ 5.3 โทร.283-6826
หมายเหตุ [x
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2544 เวลา 9.30น. ณ ห้องประชุม ณ ห้องประชุม ตึกพระตำหนักใหญ่(สถาบันการเงิน โปรดระบุชื่อผู้เข้าร่วมประชุมภายในวันที่ 10 มกราคม 2544 ที่คุณกฤษณา ลิขิตวิเศษกุล โทร.283-5305)
[
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว90-กส32001-25431226ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ